xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตือนคลังเร่งพยุงศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติระบุในยุคเศรษฐกิจหดหู่ ภาครัฐควรออกนโยบายคลังกระตุ้นไม่ใช่พึ่งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เล็งปรับลดจีดีพีปีหน้าต่ำกว่าประมาณการณ์เดิม 3.8-5% ชี้หากเศรษฐกิจขยายต่ำ 2.5-3.5% อาจส่งการจ้างงาน บัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่ และการดูแลประชาชนที่มีรายได้ต่ำอาจไม่เพียงพอ ขณะที่การลดภาษีของภาครัฐอาจสร้างภาระหนี้ระยะยาวได้ ส่วนการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีรัฐควรรับความเสี่ยงการประกันสินเชื่อในสัดส่วนเท่ากับแบงก์พาณิชย์และควรแยกบัญชีออกมาชัดเจน

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา ภายในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ซึ่งจัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ว่า ในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผล เพราะอัตราดอกเบี้ยจะช่วยแค่ลดต้นทุนภาคธุรกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือนเท่านั้น ฉะนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายการคลังออกมาดูแลเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญในภาวะเช่นนี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจไทย
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ อาจทำให้หลายฝ่ายเข้าใจผิดได้ว่าธปท.จะมีการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะหดหู่ก็เป็นไปได้ ดังนั้นการจะปรับขึ้นหรือลงจะต้องมีการการชั่งน้ำหนักเหตุผลที่ดีพอ ส่วนการพิจารณาดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินในช่วงนี้ก็ไม่ได้เป็นการช่วยเศรษฐกิจมากนัก เพราะกว่าจะส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งขณะนี้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรที่สะท้อนการลงทุนก็ได้ปรับลดลงไปรอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงนโยบายภาคการคลังต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย”นางอัจนากล่าว
นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งต่อไป คือ 3 ธ.ค.นี้ กนง.จะมีการปรับประมาณการณ์เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมถึงปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้าใหม่ จากเดิมปีหน้าที่ 3.8-5.0% ซึ่งครั้งนั้นประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าขณะนี้น้ำหนักตัวแปรต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากอาจมีไม่เพียงพอ จึงจะมีการปรับประมาณการณ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพประมาณ 2.5-3.5% อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน บัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่ในการรองรับตลาดแรงงาน รวมทั้งการดูแลประชาชนที่มีรายได้ต่ำไม่เพียงพอ จึงควรประคับประคองอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจให้สูงกว่า 5% เพราะจะหวังให้ภาคเกษตรมาโอนย้ายแรงงานที่เลิกจ้างลงเหมือนวิกฤตปี 40 คงเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ แม้การบริโภคสินค้าคงทนภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ รถยนต์อาจมีความต้องการลดลงบ้าง แต่ในส่วนของสินค้าจำเป็นยังมีความต้องการที่ดีอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่แม้ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มีการไล่ออกพนักงาน แต่หันมาใช้วิธีปรับลดการทำงานแทน โดยเฉพาะในส่วนของโอที ซึ่งในปัจจุบันลูกจ้างมีการพึ่งรายได้ส่วนนี้มาก จึงห่วงว่าหากรายได้ส่วนนี้หายไปอาจมีปัญหาเรื่องค่าผ่อนชำระค่างวดต่างๆ จึงต้องจับตาว่าจะสร้างปัญหาย่อยๆ นี้จะมีผลต่อภาคสถาบันการเงินไทยต่อไปหรือไม่
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้กระทรวงการคลังปรับลดสัดส่วนการเรียกเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 4% จากปัจจุบันอยู่ที่เรียกเก็บที่ 7% หรือปรับลดในช่วงแค่ 1 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแนวทางหนึ่งนั้นมองว่าจะเป็นการสร้างภาระหนี้ในระยะยาว ขณะที่ภาษีบางประเภทก็สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ ภาษีนิติบุคคล จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐควรพิจารณาอย่างรอบคอบ
เช่นเดียวกับการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ภาครัฐควรมีการรับประกันสินเชื่อในสัดส่วนที่เท่ากับธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ทั้งก้อนได้ จึงควรมีการแยกบัญชีออกมาให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ก่อหนี้สาธารณะสูงเหมือนประเทศญี่ปุ่นและเป็นการวางเงินงบประมาณได้อย่างถูกต้อง
สำหรับวิกฤตการณ์การเงินโลกในครั้งนี้ประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะไม่ซ้ำรอยเหมือนวิกฤตปี 40 ที่ภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายด้านการลงทุนเยอะ แต่ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ซึ่งรวมทั้งประเทศเกาหลี แม้จะเกิดปัญหาบ้างจากการที่ผู้ส่งออกได้มีการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ห่วงว่าเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคเอเชียจะเกิดปัญหาเป็นวัฎจักรตามมา อย่างไรก็ตามที่เห็นได้ชัดในระยะยาวจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงิน ทำให้การพึ่งพาผู้ส่งออกที่หลายฝ่ายหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักก็เป็นเรื่องที่ลำยากขึ้นภายใต้เงินใช้จ่ายของสหรัฐลดลง จึงควรมีการดูแลตัวเองให้มากและภาครัฐควรมีการแก้ไขปัญหาประเทศ ทั้งคุ้มครองภาคอุตสาหกรรม การลดความเสี่ยงจากภาคการเงินด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาตลาดและการดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ดี
นางอัจนา กล่าวว่า ในขณะนี้เริ่มมีกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยเฉพาะกองทุนที่เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีที่มีขนาด 6,000-7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มทยอยนำเงินที่ครบอายุการไถ่ถอนกลับมาไทยบ้างแล้วจนถึงเดือนเม.ย.ปี 2552 ซึ่งคาดว่าเงินเหล่านี้จะไม่ส่งผลต่อค่าเงินบาท เนื่องจากเป็นการทยอยไหลกลับตามปกติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น