xs
xsm
sm
md
lg

เตือนรับมือ ศก.ไทยชะลอตัวอีก 2 ปี รากหญ้าระเนระนาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ
"ก้องเกียรติ" เตือนรับมือ ศก.ไทยชะลอตัวอีก 2 ปี คาดเอสเอ็มอีเจ๊งหนัก แนะเร่งอัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่อง ระบุ งบกลาง 1 แสนล้าน แค่น้ำจิ้ม 1% ของจีดีพี "ศุภวุฒิ" คาดการณ์ ศก.สหรัฐฯ ดิ่งลงต่ำสุดไตรมาส 3 ปีหน้า

วันนี้ ( 20 พ.ย.) นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวในงานสัมมนาวิกฤตครั้งใหม่ เศรษฐกิจและหุ้นไทย ไปรอดหรือไม่ โดยมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ประเทศไทยถือว่ายังโชคดีที่ได้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาจากประเทศต่างๆ ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน และเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ไทยจะเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

"แม้ว่าวิกฤตในรอบนี้จะไม่รุนแรงเหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แต่ก็ไม่ควรประมาท และควรวางแผนรับมือกับเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวไปอีก 2 ปี ซึ่งรัฐบาลควรเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยจะเข้าสู่ช่วงขาลง"

นายก้องเกียรติ ประเมินว่า การอัดฉีดเม็ดเงิน 1 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้น เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น และคงจะไม่ใช่รอบสุดท้าย เพราะถือว่าเม็ดเงินในระดับดังกล่าว ถือว่าน้อยมาก หรือคิดเป็น 1% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 8.5 ล้านล้านบาท

"การอัดฉีดเงิน 1 แสนล้านบาท ผมมองว่า น่าจะไม่ใช่มาตรการสุดท้ายถ้าเทียบจากจีดีพี 8.5 ล้านล้าน ก็มีมูลค่าเพียง 1% ถ้าเทียบกับประเทศจีนที่มีการอัดฉีดเงินเข้าโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม นายก้องเกียรติ มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ทางรัฐบาล จะออกมาตรการทางภาษี ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการปรับลดภาษีให้กับบริษัท ที่รับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาคนตกงานที่จะรุนแรงขึ้นในปีหน้า

"การใช้มาตรการทางด้านภาษี โดยลดภาษีบุคคล เป็นการนำเงินเข้ากระเป๋าโดยตรง เพิ่มกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นการบริโภค ขณะเดียวกันต้องมองถึงประชาชนที่อาจจะตกงานในปีหน้าจำนวนมากด้วย"

นายก้องเกียรติ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ในปีหน้าสภาพคล่องทางการเงินน่าลดลงจากปีนี้ แม้ปัจจุบันสภาพคล่องจะดูเหมือนว่ายังมีอยู่ในระบบค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ พบว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ (บจ.) เริ่มรีไฟแนนซ์รวมถึงจะมีการใช้จ่ายโครงการภาครัฐ ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กน่าจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเพื่อช่วย

"รัฐบาลเองน่าจะมีกลไกเพื่อเร่งอัดฉีดเงิน เราเองคงไม่ได้ห่วงบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เพราะนั่นจะมีโอกาสมากกว่า ซึ่งในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี น่าจะมีปัญหาในแง่ของสภาพคล่อง"

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวลดลงถึงจุดต่ำสุดได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปีหน้า และต้องใช้ระยะเวลา 8 ไตรมาสในการฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างหนี้ และปรับปรุงวิธีการทำธุรกรรมใหม่ โดยขณะนี้จะต้องติดตาม 3 ปัจจัย อาทิ ราคาสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ว่าจะลดลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจีนปีหน้า ว่าจะโตได้ร้อยละ 8.5 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่ และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยากจะคาดเดาทางออก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น