xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย0.25%แก้เงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - กนง.ทิ้งทวนปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 3.75% ต่อปี หวังลดเงินเฟ้ออนาคต ระบุการขึ้นดอกเบี้ยไม่ซ้ำเติมการบริโภคและการลงทุน ระบุการประท้วงของพันธมิตรฯ ไม่กระทบเศรษฐกิจ บิ๊กกสิกรไทยเผยปรับดอกเบี้ยหรือไม่ต้องดูคู่แข่ง ส.อ.ท.ผิดหวัง ครวญซ้ำเติมต้นทุน ห่วงเอสเอ็มอี ภาคอสังหาฯ ชี้กระทบคนซื้อบ้านช่วงสั้น

น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้(27 ส.ค.) การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6 ของปีนี้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ถือเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับมาอยู่ที่ระดับ 3.75%ต่อไป โดยมองว่าแม้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แต่ความเสี่ยงที่มีโอกาสให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตสูงขึ้นยังมีอยู่ทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อและราคาน้ำมันยังมีความผันผวน

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เชื่อว่าจะช่วยลดการคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีในอนาคตได้ ถือเป็นเรื่องหลักของ กนง.ในขณะนี้ที่ต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว โดยขณะนี้ในตลาดพันธบัตร ถือเป็นเครื่องชี้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมั่นใจว่า กนง.จะดูแลเรื่องนี้ได้แล้ว ประกอบกับมาตรการ 6 ข้อของรัฐบาลก็ช่วยในช่วงสั้นๆ ไม่ให้เงินเฟ้อกระโดดถึง 2 หลักได้”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของ กนง.ครั้งที่ผ่านมา แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 3.7% ในเดือนก.ค. แต่ในการดำเนินนโยบายการเงินที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0-3.5% เป็นเป้าหมายที่เฉลี่ยเป็นรายไตรมาส จึงยังไม่หลุดเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสแรก 1.5% ไตรมาสสอง 2.8% และเชื่อว่าเงินเฟ้อพื้นฐานไม่น่าจะหลุด 3.5% ซึ่งอย่างน้อยประมาณ 2 ปี

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะไม่เป็นการซ้ำเติมการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงเงินไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่นักลงทุนทั้งในและต่างชาติจะตัดสินใจลงทุน แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่น โดยเฉพาะปัจจัยความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความวุ่นวายการเมืองมากกว่า ขณะเดียวกันในปัจจุบันไทยยังมีสัดส่วนการออมน้อยเกินไป ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง ฉะนั้นประชาชนหรือภาคเศรษฐกิจต่างๆ ต้องมีการออมของตัวเองมากกว่าจะพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว

“ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยถึงแรงกดดันจากภายนอกต่อการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการประเมินข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่และข้อมูลจริงด้านเศรษฐกิจ แล้วนำเรื่องเหล่านี้มาชั่งน้ำหนักในการทำนโยบาย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะถือเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า ในปัจจุบันการดำเนินนโยบายการเงินยังมีความผ่อนคลายที่ยังเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ผู้ลงทุนจะดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดูอัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันยังติดลบอยู่ โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค.อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงลบ 4.8% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แท้จริงลบ 2.0%

พันธมิตรฯ ไม่กระทบศก.
ส่วนเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทางกนง.มองว่าจะไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการประท้วงดังกล่าวเป็นวิถีปกติที่เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงไม่ใช่แค่ความรู้สึกกับเหตุการณ์ใกล้ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างชาติ ซึ่งจะเชื่อมโยงมายังการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย

สำหรับสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมานั้นก็จะเป็นภาระต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้สินค้าในประเทศแพงขึ้น ฉะนั้นการที่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อยก็จะส่งผลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นและในที่สุดจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงมาได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการปรับประมาณการณ์ราคาน้ำมันดูไบใหม่เป็น 120 เหรียญต่อบาร์เรล และทรงตัวระดับนี้ไปจนถึงปีหน้า จากเดิม 119.6 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 112 เหรียญต่อบาร์เรลในปีนี้ และปี 52 ราคาน้ำมันจะปรับเป็น 120 เหรียญต่อบาร์เรล จากเดิมที่ระดับ 135 เหรียญต่อบาร์เรลทั้งปีนี้และปีหน้า

บาทแข็งค่ารับดอกเบี้ยขึ้น
นักบริหารเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ อยู่ที่ระดับ 34.04/06 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ 34.10/12 บาท/ดอลลาร์ โดยเป็นผลมาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ส่วนปัจจัยต่างประเทศยังไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก โดยเงินดอลลาร์ช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับฐาน แต่คาดการณ์กันว่าเงินดอลลาร์ระยะยาวยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง

สำหรับเงินต่างประเทศสกุลหลัก เงินเยน ปิดตลาดที่ 108.82/85 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเปิดตลาดที่ระดับ 109.17/71 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร ปิดตลาดที่ 1.4722/24 ดอลลาร์/ยูโร จากเปิดตลาดที่ 1.4694/4696 ดอลลาร์/ยูโร

แบงก์ชี้ปรับดอกเบี้ยต้องดูคู่แข่ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.รอบนี้ก็ค่อนข้างเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ เพราะดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศไทยติดลบเกือบจะสูงสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงแต่ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนการให้น้ำหนักว่าจะดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อหรือการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น ทาง กนง.ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านดูแลอยู่ ซึ่งคงมีโจทย์อยู่ในใจอยู่แล้ว

ส่วนจะเป็นการปรับขึ้นรอบสุดท้ายหรือไม่นั้น คงต้องดูจากอัตราเงินเฟ้อว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินก็คงกำลังประเมินอยู่ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ แต่ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงจะยังมีการแข่งขันกันมาก ส่วนเงินกู้นั้นประเมินข้อมูลอยู่ เพราะการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือไม่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับภาวการณ์แข่งขัน

"หากดอกเบี้ยเงินกู้มีการปรับขึ้นที่ละน้อย ก็เชื่อว่าผู้กู้จะยังคงปรับตัวได้ง่าย ซึ่งก็เป็นเหตุให้ธนาคารกลางมีการเลือกขึ้นที่ละน้อย แต่ถ้าไม่ทำอะไรพอถึงคราวจำเป็นต้องขึ้นเอกชนก็จะแย่ ถ้าทำอะไรมากๆ แล้วอาจปรับธุรกิจไม่ทัน"

นายประสารกล่าวว่า ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังราคาสินค้าบางตัวคงมีการปรับตัวลดลง ทำให้ความจำเป็นในการใช้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนน้อยลง ประกอบกับการค้าระหว่างประเทศที่ในครึ่งปีแรกมีการเติบโตที่สูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังมีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงก็น่าจะทำให้การค้าระหว่างประเทศมีการชะลอตัวลงบ้าง ดังนั้นเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศคงลดลง ซึ่งทำให้สินเชื่อในครึ่งปีหลังชะลอตามไปด้วย แต่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละธนาคาร

สำหรับธนาคารกสิกรไทยยังคงมั่นใจว่าการปล่อยสินเชื่อในปีนี้จะยังได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือจะอยู่ที่ 15% ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นจะทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ ดังนั้นก็ต้องดูแลในส่วนของดุลบัญชีของประเทศว่าพอใจจะให้อยู่ในระดับไหน แต่เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นตัวแปรหนึ่งเท่านั้น จากต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพก็ไม่อยากให้มีการขาดดุล และหากค่าเงินบาทยังเกาะกลุ่มกับประเทศคู่แข่งแล้วก็จะไม่ได้ทำให้เกิดการเสียเปรียบ

ภาคการผลิตผิดหวัง-ห่วงSME
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีมีผลทันทีส่งผลให้ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 3.75% ว่า เอกชนคาดหวังว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ในครั้งนี้แต่เมื่อปรับขึ้นก็ต้องยอมรับในการตัดสินใจแต่ผลจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้คาดว่าจะมีส่วนต่อการเติบโตเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังให้ขยายตัวลดลงกว่าที่คาดหมายไว้โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะประสบกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นในครึ่งปีหลัง

“ 6 มาตรการของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นคงจะช่วยให้การขยายตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังแต่เมื่อมาขึ้นดอกเบี้ยก็อาจทำให้เอกชนต้องระมัดระวังการลงทุนใหม่ๆ หรือขยายการลงทุนก็คงจะลำบากเพราะต้นทุนเพิ่มทุกด้านโดยเอสเอ็มอีค่อนข้างน่าเป็นห่วง”นายสันติกล่าว

นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังมากที่ กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้แบงก์พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีกแม้ว่าหลายฝ่ายมองว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงจะสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายแล้วก็ตามซึ่งที่ผ่านมานโยบายการคลังก็ออกมาระบุว่าควรลดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับระบุว่าควรขึ้นในที่สุดเมื่อขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็ทำให้ภาคการผลิตมองว่านโยบายรัฐไม่สอดคล้องกันต่อไปความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินและคลังจะลดต่ำลง

“ การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อเวลานี้ไม่ใช่เหตุผลที่จะอ้างได้ดีเพราะภาวะขณะนี้ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เงินไหลเข้ามาและทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นคงไม่ใช่ประเด็นที่รัฐจะมองด้วยเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกเป็นหลักเวลานี้หากทำให้บาทแข็งก็ยิ่งแย่ในที่สุดแล้วการขยายการลงทุนครึ่งปีหลังจากนี้จากนี้จะยากมาก ”นายสมมาตกล่าว

กระทบคนซื้อบ้านช่วงสั้น
นางสาวดุษฎี ตันเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดบริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทในเครือแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะส่งผลให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้าให้ช้าลง เนื่องจากกำลังลดลง ซึ่งลูกค้าในระดับบนคงไม่ได้รับผลกระทบต่อกำลังซื้อมากนัก เพียงแต่อาจจะเลื่อนการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ซึ่งเรื่องดังกล่าว บริษัทพลัสฯได้วางแนวทางแก้ปัญหาไว้ก่อนหน้าแล้ว โดยจะคัดสรรแคมเปญใหม่ๆ ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อรองรับกำลังซื้อและเร่งการตัดสินใจของลูกค้าให้เร็วขึ้น

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวยอมรับว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นนั้น จะทำให้อัตราการผ่อนดอกเบี้ยเคหะของผู้กู้เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ว หากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขึ้น 1% จะทำให้ภาระการผ่อนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 8-10% แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ มีการป้องกันและบริหารความเสี่ยงให้แก่ลูกหนี้ที่ผ่อนสินเชื่อบ้าน โดยได้มีการคิดดอกเบี้ยเผื่อเข้าไปในการคำนวณในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหากในอนาคตดอกเบี้ยเกินกว่าความสามารถในการผ่อนของลูกค้า เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คิดเผื่อประมาณ 1% โดยให้กู้ 35% ของรายได้ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยฯคิดดอกเบี้ยเผื่อ 2% ให้กู้สูงสุดถึง 40% ของรายได้

"ถึงแม้ความกังวลเรื่องราคาน้ำมันจะลดลง แต่เรื่องนาทีทอง มีไม่ค่อยบ่อย สุดท้ายแล้ว ก็เป็นไปตามกลไกตลาดของระบบทุนนิยม นั้นหมายความว่า ต้นทุนทางการดำเนินชีวิตของประชาชนยังเสี่ยงในการรับภาระที่สูงขึ้น ดังนั้น ผู้ที่คิดจะซื้อบ้าน ก็ควรคำนึงถึงความสามารถในการผ่อน อาจจะเลือกบ้านเล็กลง และเมื่อมีกำลังมากขึ้น ค่อยขยับขยายไปสู่บ้านหลังใหม่ที่ดีขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

หมอเลี้ยบยืนเป้าจีดีพี 6%
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ที่ประชุมยังเชื่อมั่นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ยังอยู่ในประมาณการที่ 6% โดยปัจจัยการเมืองและการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.จะไม่กระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับลดลง และการที่รัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมา เพื่อช่วยหนุนการเติบโตได้

นพ.สุรพงษ์ยังเปิดเผยถึงแนวทางดูแลปัญหาเศรษฐกิจด้วยว่า มี 8 ประการคือการรักษากำลังซื้อในประเทศ เพื่อลดผลกระทบค่าครอบชีพของผู้มีรายได้น้อย การรักษาตลาดส่งออก การวางระบบมาตรฐานราคาข้าว การรักษาสภาพคล่องระบบการเงินในประเทศ การส่งเสริมสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาควัสดุก่อสร้าง และการท่องเที่ยว การรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ การระดมทุนและการวางมาตรฐานในตลาดทุน และข้อสุดท้ายคือการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ที่มีสินเชื่อนอกระบบ

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. โดยเห็นว่ากระทบกับการออม คนตกงานจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้นของนายจ้างผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกที่เป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงการคลังคงต้องหารือกับ ธปท. มากขึ้น เพื่อให้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตนเป็นห่วงการสวนทางกันของนโยบายการเงินการคลังจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงปลายปีที่เหลือว่าจะยังคงขยายตัวได้ที่ 6%ได้อีกหรือไม่

"แม้ ธปท.จะกังวลกับเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี แต่ยืนยันเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเพราะต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ใช่เพราะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นจึงไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย จากนี้จึงควรหารือกันถึงกรอบเงินเฟ้อที่อาจต้องขยายให้มากขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจเพื่อเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก" นายสุชาติกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น