xs
xsm
sm
md
lg

"อัมมาร"ห่วงหนี้ครัวเรือนจี้ธปท.ดูแลหนี้เสีย-ค่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “อัมมาร” ชี้วิกฤติโลกอาจส่งผลถึงหนี้ครัวเรือนกระทบหนักกว่าภาคธุรกิจ จี้ ธปท.เกาะติดปัญหาหนี้เสีย-ค่าเงินบาท ยอมรับหมดหวังการเมืองไทย รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถเป็นปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจเติบโต ไม่ว่าช่วงไหนจีดีพีก็โต 4-5% เท่าเดิม รองผู้ว่าแบงก์ชาติระบุกำหนดค่าบาทอ่อนไม่ใช่วิธีที่ดี แต่พร้อมลดดอกเบี้ย แนะภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือSME เหตุแบงก์ลอยแพไม่ปล่อยกู้

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.) คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดงานสัมมนาขึ้น โดยการสัมมนาในหัวข้อ “ควรทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยมีผลกระทบน้อยที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากทางราชการ เอกชน และนักวิชาการเข้าร่วม นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า วิกฤตการเงินสหรัฐและยุโรปส่งผลกระทบต่อภาคการเงินไทยและมีผลต่อเศรษฐกิจบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะภาคธุรกิจและสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีความระมัดระวังตัวที่ดีเห็นจากงบดุลบริษัทต่างๆ ที่ดีอยู่ แต่ในปี 52 การเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะขยายตัวลดลงอย่างแน่นอน
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยได้รับผลกระทบมากกว่าภาคธุรกิจ ซึ่งการฟื้นตัวต้องใช้เวลา หากเป็นไปได้ภาครัฐควรมีนโยบายออกมาดูแลผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก ส่วน ธปท.ควรหาทางดูแลภาคธุรกิจที่อ่อนแอ อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ค่าเงินบาทไทยจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้น้อยมาก แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการค้าขายกันอยู่ จึงควรมีนโยบายใดออกมาควรคำนึงถึงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านด้วย และต่อไป ธปท.จะต้องทำงานหนักในการดูแลค่าเงินบาท เพราะมองว่าต่อไปเงินดอลลาร์จะอ่อน ซึ่งจะมีผลต่อเงินบาทไทยด้วย
“ไม่ได้ห่วงว่าการเมืองไทยจะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยมากนัก เห็นได้จากในช่วงทักษิณเป็นนายกฯ เทียบกับในช่วงนี้ที่มีการทะเลาะกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องกรรมเก่าของใครคนใดคนหนึ่ง และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีทุก 3 เดือน แต่โครงการหรือนโยบายต่างๆ ก็ไม่ได้รื้อออกไป และส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ระดับ 4-5% แม้รัฐบาลไม่เอาไหนและไม่ทำอะไรทุกอย่างก็ยังดีอยู่แล้ว และบางโครงการก็ออกแนวประชานิยม เพื่อช่วยหาเสียงมากกว่า ฉะนั้นเราควรหาทางออกด้านอื่นดีกว่า”นายอัมมารกล่าว
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทางรอดเศรษฐกิจไทยในอนาคตดูได้จาก 3 อย่าง คือ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ การตอบสนองนโยบายทางการ และการเรียกความเชื่อมั่น ซึ่งในทุกประเทศก็พยายามดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก โดยขณะนี้ปัจจัยพื้นฐานไทยไม่เลวนักเห็นได้จากงบดุลของภาคเอกชนยังทำกำไร ยอดขายดีอยู่ ภาคครัวเรือนค่อนข้างมีเสถียรภาพ และภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็ยังดีอยู่เมื่อเทียบกับต่างชาติ เนื่องจากมีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีจากบทเรียนในปี 40 ที่ผ่านมา
ส่วนการตอบสนองด้านนโยบายที่ผ่านมานโยบายการคลังเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และแม้จะเพิ่มงบประมาณกลางปีก็ไม่ทำให้นโยบายการคลังเสียไป ส่วนนโยบายการเงินด้านอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงต้นทุนการเงินส่วนหนึ่งในการลงทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินเฟ้อลดลง การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่เอื้อเศรษฐกิจก็มีมากขึ้น และมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. )ฉุกเฉิน เพราะการประชุมปกติก็มีขึ้นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า อีกทั้งกรรมการ กนง.ก็มีการติดต่อกันอยู่เสมอ และกว่าที่นโยบายการเงินจะส่งผ่านไปยังส่วนต่างๆ ภาคเศรษฐกิจต้องใช้เวลาถึง 2-6 ไตรมาส
ด้านการกำหนดให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าก็ไม่ใช่วิธีที่ดี แต่ ธปท.ควรดูแลไม่ให้ผันผวนและดึงไม่ให้ความสามารถในการแข่งขันการค้าหายไป นอกจากนี้ควรมีนโยบายที่เกี่ยวกับกฎระเบียบควรมีความยืดหยุ่นและไม่สร้างความลังเลให้แก่ตลาด เพราะอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นได้ อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักธุรกิจลดลงเรื่อยๆ และมองว่าควรมีการดึงความต้องการภายในประเทศมาชดเชยจากปัญหาต่างประเทศด้วย
“ขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่มีปัญหาสภาพคล่อง โดยมีหลักทรัพย์ไม่มีภาระผูกพันประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เงินฝากไว้ธปท. 7 หมื่นล้านบาท เงินสดที่ถืออยู่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ 4 แสนล้านบาท ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ 1 ล้านล้านบาทแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีแบงก์ 2-3 แห่งมีการปล่อยกู้ออกไป 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นสภาพคล่องลดลงก็ไม่ได้แย่ แต่เป็นการนำเงินไปปล่อยกู้สู่ระบบเศรษฐกิจ”นางอัจนากล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ยังดีอยู่ แต่ความเต็มใจที่จะปล่อยมีน้อยเกินไป เพราะธนาคารเกิดอารมณ์กลัวมากเกินเหตุ ดังนั้นภาครัฐควรมีการทำนโยบายออกมาเรียกความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจค้าขายได้กำไรมากขึ้น และจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้นด้วยภายใต้เงื่อนไขสมเหตุสมผล
“จากการสำรวจของแบงก์ชาติ พบว่า ความเต็มใจในการปล่อยกู้มีไม่มากนัก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และส่วนใหญ่หันไปปล่อยกู้ให้แก่บริษัทขนาดใหญ่ ฉะนั้นในระยะหลังก็ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะอนาคตความเข้มงวดปล่อยกู้ของแบงก์มีมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแรงลง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐควรแก้ไขปัญหานี้”นางอัจนากล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า แม้เริ่มเห็นสัญญาว่าภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และเงินทุนต่างชาติไหลออกไปบ้าง แต่ขณะนี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) และการจ้างงานก็ยังดีอยู่ โดยในเดือนส.ค.ที่ผ่านมามีอัตราการว่างงานแค่ 4-5 แสนคน เทียบกับวิกฤตปี 40 ที่มีอยู่ 1.4 ล้านคน จึงควรรักษาตัวเองให้รอดจากอุปสรรคต่างๆ รวมถึงประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ต่ำกว่า 3% เพื่อรองรับตลาดแรงงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นและให้นักธุรกิจสามารถลงทุนได้ รวมถึงมองว่าภาครัฐไม่ควรดูแลแค่เรื่องการว่างงาน แต่ควรดูแลภาคอุตสาหกรรมด้วย
นางภัทรียา เบญจพลชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นจะลดลงมาก แต่ขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงมองว่าหากดัชนีอยู่ที่ระดับ 450 จุดเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปพิจารณาบริษัทที่มีพื้นฐานดี ขณะเดียวกันมองว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ก็ยังดีอยู่ โดยผลประกอบการธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 36% จากการที่ธปท.เข้มงวด บริษัทเอกชนในตลาด 117 แห่งส่วนใหญ่มีกำไร มีเพียง 20% เท่านั้นที่ขาดทุน โดยภาพรวมมีกำไรเพิ่มขึ้น 28% ยอดขายเพิ่มขึ้น 25% จึงเป็นเรื่องดีที่เอกชนสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น