xs
xsm
sm
md
lg

‘ทนง-สมคิด’รุมอัด’สุชาติ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – อดีตขุนคลัง “ทนง – สมคิด” ออกโรงอัด “สุชาติ” รมว.คลังมือใหม่ เตือนนโยบายการเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหากยังไม่หารือก่อนไม่ควรออกมาให้ข่าว แนะใช้ความสามัคคีประสานนโยบายการเงินการคลังในภาวะวิกฤตการเงินโลก ฟันธงปีหน้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยแน่นอนเตือนรัฐบาลอย่างผลักดันปัญหาสู่จุดเสี่ยงมากขึ้น ด้าน “สุชาติ” เสียงอ่อยแค่แนวคิดต่างประเทศไม่ต้องปรับใช้ทั้งหมด

นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง เปิดเผยว่า แนวคิด ที่ต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าลง 5% เพื่อหนุนการส่งออกของนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง นั้น คงเป็นเพียงแนวคิดของ รมว.คลังที่อาจคิดดังไปหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามแต่อย่างใด เนื่องจากการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากนโยบายต่างๆ ที่จะอกมาต้องดูผลกระทบและความจำเป็นให้ดี ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดและถ่องแท้ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วิเคราะห์ผลกระทบและความจำเป็น เนื่องจากการเข้าไปบิดเบือนตลาด ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่านั้น เป็นการเปิดช่องให้เกิดการเก็งกำไรทันที หากรู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทำให้เกิดความไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่มองว่าธปท.กับกระทรวงการคลังมีนโยบายบริหารขัดแย้งกันนั้น เห็นว่าเป็นการดำเนินนโยบายกันคนละด้าน กระทรวงการคลังก็ควรทำแต่นโยบายคลัง ธปท.ก็ดำเนินนโยบายการเงิน หากมีอะไรต้องหารือ ต้องมีเวลามาคุยกัน สำหรับเรื่องดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าลดลงอีกก็ไม่มีผลอะไร ตอนนี้สิ่งที่สำคัญคือทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง ดีกว่าที่จะให้เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวหนี้เสีย

แนะเดินหน้านโยบายการเงิน-การคลังควบคู่กัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า แนวคิดของนายสุชาตินั้น คงเป็นเจตนาที่ดี แต่ต้องให้เวลากระทรวงการคลังกับธปท.หารือกันภายในอย่างใกล้ชิดทุกเรื่อง อย่าเพิ่งด่วนสรุปและชี้แจงผ่านสาธารณะ เชื่อว่า คงตกลงกันได้ เพราะการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ต้องผสมผสานไปด้วยกัน เพื่อประคองให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

“ความสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญภาวะลำบาก ประชาชนต้องการความมั่นใจ ซึ่งดูจากความสามัคคีของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ อะไรที่แสดงออกมาต้องทำให้เกิดความมั่นใจ ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น โดยเชื่อว่าทั้งนายสุชาติ และผู้ว่าการ ธปท. ไม่มีเจตนาจะขัดแย้งกัน แต่ควรหารือกันก่อน”

ฟันธงปีหน้าศก.ถดถอยแน่

แม้ว่าทุกฝ่ายจะห่วงปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่อย่ากังวลเกินเหตุ อย่าตื่นตระหนก ต้องมีสติเตรียมตัวให้พร้อม มีความสามัคคี เพราะฐานะของไทยยังคงใช้ได้ การเตรียมพร้อมไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเมื่อถึงเวลาคับขันจะได้มีมาตรการออกมาดำเนินการแก้ปัญหาได้ ไม่เหมือนวิกฤติปี 40 ที่ไทยไม่ได้เตรียมมาตรการอะไรไว้ ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มองว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยถดถอยแน่นอน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัญหาภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากบ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ พร้อมจะเกิดความแตกแยกรุนแรงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ การที่รัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารงานได้ และการไม่มีบทบาทในสายตานานาประเทศ ไม่มีแรงต่อรองใด ๆ จะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของประเทศ ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ฉะนั้นรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ ด้วยการเจรจาเคารพความเห็นของทุกฝ่าย ไม่ผลักดันประเทศไปสู่จุดเสี่ยงเพิ่มขึ้น และความผิดพลาดทางการเมืองที่เกิดขึ้น ต้องปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต และหากไม่เกิดการพัฒนา ไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถ้อย และเชื่อว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้อีก

สุชาติรับแค่แนวคิดจากต่างประเทศ

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้เงินบาทอ่อนค่า เป็นเพียงแง่บริหาร จัดการค่าเงินที่ในหลาย ๆ ประเทศ ก็ดำเนินการ แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องกำหนดค่าเงินให้อยู่ระดับใด ซึ่งหลายประเทศก็บริหารค่าเงินให้เป็นไปตามสภาพและแข่งขันได้ ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นเข้ามา ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะนำไปสู่การหารือ กำหนดนโยบายให้ชัดเจนต่อไป โดยจะกำหนดให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในสัดส่วนที่กำหนดตามสถานการณ์ของตลาด เพื่อดูแลการส่งออก ไม่ใช่กำหนดตายตัวเป็นเวลานาน ซึ่งคิดว่าจะบริหารดูแลค่าเงินบาทได้ เพราะไทยมีทุนสำรองสูงถึง 101,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาทางการเงินโลกจะไม่จบลงได้เร็ว โดยมองว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ความสามารถของสหรัฐและยุโรปที่จะกลับมาขยายตัวได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลา ถือเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และหากปัญหาวิกฤตการเงินโลกมีคลี่คลายต้องมีการจับตาว่าจะเกิดปัญหาการว่างงานตามมาหรือไม่ เพราะคนเหล่านี้อาจมีหนี้สินอยู่ก็อาจจะสร้างคลื่นปัญหารอบ 2 ได้ และอาจมีผลกระทบต่อฐานะสถาบันการเงินตามมาด้วย ส่วนการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจโลกและความจำเป็นในการใช้จ่ายเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

จี้หาตลาดใหม่แทนกดดันค่าเงิน

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการการเงินโลกในขณะนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านหนี้สินของสถาบันการเงิน แต่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการลดค่าของสินทรัพย์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลานาน จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังคงติดลบอยู่อย่างน้อยในช่วงปีหน้าเป็นไปต้นไป ขณะเดียวกันจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)คาดว่ายังมีประเทศในแถบตะวันตกจะมีปัญหานี้เพิ่มอีก 10 แห่ง ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจกระทบมายังประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามดูต่อไปที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ได้แก่ 1.กระบวนการบังคับของสหรัฐ หากมีความล่าช้าออกไปอีกจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวได้ยาก 2.หากเศรษฐกิจจีนที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นตัวสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวดี ซึ่งหากเติบโตน้อยกว่า 8.8-9% อาจกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลกต่อไปได้ 3.การบริโภคของไทยที่หดตัว ในระยะยาวควรมีการพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งมองว่าในอนาคตราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้น ปฏิรูปโทรคมนาคม 4.ควรมีมาตรการดูแลราคาพลังงาน ซึ่งในระยะยาวมีโอกาสที่ราคายังคงสูงอยู่

“การใช้วิธีลดค่าเงิน ลดราคาสินค้าที่ส่งออกก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะหากคนสหรัฐและยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเขาไม่มีการบริโภคเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงไทยควรมีการเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น และควรหาตลาดการส่งออกใหม่ๆ ถือว่าเป็นการปรับวิธีการใช้จ่ายมาเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จากปัจจุบันไทยมีพื้นฐานแข็งแกร่งอยู่แล้ว ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และยังไม่มีการขายหุ้นออกไปประมาณ 1 ล้านล้านบาท”นายศุภวุฒิ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น