xs
xsm
sm
md
lg

ตรึงดอกเบี้ยรับมือวิกฤต กนง.จับตา6มาตรการรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กนง.ชุดใหม่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.75% รับมือสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอ ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หากความเสี่ยงเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ชี้หากรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 94% ตามเป้าที่ตั้งไว้ อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค หวั่นการส่งออกมีโอกาสหดตัวตามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จับตา 6 มาตรการ 6 เดือน ที่จะหมดอายุในเดือน ก.พ.ปีหน้าจส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างไร

นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นการหารือนัดแรกในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินของไทย มมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตระยะ 1 วัน(อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ระดับ 3.75%ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่ผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกอาจมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้มองว่าขณะนี้ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวเริ่มลดลงแล้ว จึงมองว่าควรมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงได้ แต่หากในอนาคตมีความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นก็อาจใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายหรือคงที่ได้"

อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินสถานการณ์ในการประชุมในช่วงนั้นๆ ประกอบด้วย โดยปัจจัยในประเทศจะพิจารณาทั้งการบริโภค การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐเป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่ปัจจัยภายนอกยอมรับว่าเริ่มส่งผลปัญหาเศรษฐกิจบ้างแล้ว ไม่ใช่แค่ด้านการเงินอย่างเดียว จึงต้องดูว่าจะกระทบภาคส่งออกและนำเข้าด้วยหรือไม่ รวมทั้งหาก 6 มาตรการภาครัฐหมดอายุลงในเดือน ก.พ.ปี 52 จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตอย่างไร

โดยในปัจจุบัน แม้รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้สูงและอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงบ้างจากราคาน้ำมันลดลง ซึ่งจะช่วยให้อำนาจซื้อของประชาชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อยังมีอยู่ทั้งการส่งผ่านต้นทุนและการทยอยปรับราคาสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการดูแลของทางการ รวมทั้งการประเมินรายได้ภาคเกษตรในอนาคตลดลงเหลือ 19.7% จากครั้งก่อนที่คาดไว้ 24% ส่วนในปีหน้าลดลงเหลือ 8.6% จากครั้งก่อนประเมินไว้ 9.7%

ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันในปัจจุบันจะเริ่มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ทำให้ราคาปรับไม่สูงนัก ทำให้ในที่ประชุม กนง.ในครั้งนี้ได้มีการประเมินราคาน้ำมันใหม่ โดยในปีนี้คาดว่าเหลือ 104 เหรียญต่อบาร์เรล จากเดิม 119.6 เหรียญต่อบาร์เรล และในปีหน้าเหลือ 95 เหรียญต่อบาร์เรล จากเดิมที่ประเมินไว้ 135 เหรียญต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามความผันผวนของน้ำมันยังเป็นความเสี่ยงอยู่ ประกอบกับจากการติดตามสถานการณ์คาดว่าในช่วงปลายปีนี้แรงกดดันด้านราคายังมีความเสี่ยงอยู่ จึงต้องดูต่อไป

นางดวงมณีกล่าวว่า แม้ในอนาคตภาครัฐไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 94% สำหรับงบประมาณปี 52 และหากเกิดเหตุการณ์ยุบสภาก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะขณะนี้ก็ยังมีผู้บริหารประเทศอยู่ งบประมาณก็มีการอนุมัติแล้ว รวมทั้งโครงการต่างๆ ของภาครัฐก็ยังมีอยู่ แต่ความเสี่ยงที่รัฐบาลไม่ได้ตามเป้าหมายตั้งไว้ก็มี เพราะการกระตุ้นอาจมีน้อยลง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในแง่ของจิตวิทยาบ้าง

“ความไม่แน่นอนการเมืองจะมีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งคนไทยและนักลงทุนต่างชาติและภาคการท่องเที่ยวของไทยบ้าง แต่ปัญหาด้านการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียวต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ และหากต่อไปปัญหานี้ยังยืดเยื้อก็อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจได้บ้าง”

ส่วนภาคส่งออกในระยะต่อไปอาจหดตัวบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับภาคต่างประเทศที่มีปัญหา ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะสหรัฐเท่านั้น แต่เริ่มลามไปยังยุโรป ญี่ปุ่นและประเทศในแถบเอเชียด้วย ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งหากกระทบความสามารถในการส่งออกก็อาจมีผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตลดลงได้ แต่ในตอนนี้ประเทศแถบภูมิภาคเอเชียยังเป็นแหล่งตลาดที่ดีได้ แม้การส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐจะชะลอบ้าง

"ปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐ ที่ผ่านมาในหลายประเทศมีการใช้ทั้งนโยบายการคลัง การเงิน และมาตรการกระตุ้นต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจโลกไม่ชะลอตัวมากนัก ซึ่งถ้าชะลอตัวจะส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับไทยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าสภาพคล่องทางการเงินยังมีอยู่และเหมาะสมกับระบบการเงินไทยในปัจจุบัน" นางดวงมณีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น