xs
xsm
sm
md
lg

การเมือง-เศรษฐกิจ ความเห็นแก่ตัวที่น่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หากความคิดของคนในสังคมยังยึดติดอยู่กับการเลือกตั้งแต่บุคคลที่ตนเองต้องการ หรือให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง แทนที่จะนึกถึงส่วนรวม เชื่อได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการเมืองในประเทศนั้นจะยังคงมีอยู่แน่นอน"

ความน่าเชื่อถือ หรือ เครดิต ถือเป็นเรื่องสำคัญด้านการลงทุนเพราะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนมักนำมาพิจารณา
ใช่ว่าจะมีแต่สินทรัพย์ หรือคู่ค้าเท่านั้น แต่สถานที่หรือประเทศที่เข้าไปลงทุนก็ต้องประเมินความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน

จากการเปิดเผยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ระบุว่า ประเทศไทยเคยเผชิญกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือมาแล้วในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตระยะสั้นและระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องโดยอันดับเครดิตระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบจากประเด็นเรื่องหนี้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งสวนทางกับมูลค่าของการส่งออกที่เริ่มลดลง ปัญหาสภาพคล่องต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มไม่มีเสถียรภาพ

ขณะที่อันดับเครดิตระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยได้รับผลกระทบจากความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ได้ถดถอยลง การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้เสียในสถาบันการเงิน ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน และระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ขาดความยืดหยุ่นซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เศรษฐกิจไทยได้ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศและฐานะการคลังได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากพร้อมๆ กับเสถียรภาพทางการเมือง ก็ได้ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศหลายแห่งทำการปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวของไทยในช่วงปี 2542

ที่นำข้อมูลนี้มาเล่าสู่กันฟังเพราะในช่วงที่ผ่านมาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (Standard & Poor’s: S&P) และ ฟิทช์ เรทติงส์ (Fitch Ratings) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ 'เชิงลบ' จากเดิม 'มีเสถียรภาพ'

โดย วันที่ 1 ธันวาคม 2551 Standard & Poor’s (S&P) ได้ประกาศทบทวนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงสู่ 'เชิงลบ' จากเดิม 'มีเสถียรภาพ' อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Credit Ratings) และสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินในประเทศ (Local Currency Credit Ratings) ไว้ที่ระดับเดิม 'BBB+/A-2' และ 'A/A-1' ตามลำดับ โดย S&P มองว่า พัฒนาการของปัญหาการเมืองไทยอาจย้อนกลับไปสร้างแรงกดดันในทางลบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นไปจากผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันFitch Ratings (Fitch) ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็น 'เชิงลบ' จากแนวโน้ม 'มีเสถียรภาพ' แต่ยังคงอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency IDR) ของประเทศไทยไว้ระดับเดิมที่ “BBB+” และ “A” ตามลำดับ โดย Fitch มองว่า ปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยุติลงโดยเร็วนั้น อาจส่งผลบั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

แน่นอนสิ่งที่ต่างชาติมองและนำมาพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้คือ ปัญหาทางการเมืองที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถยุติลงโดยเร็ว อาจส่งผลบั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย

ปัจจุบัน vs. วิกฤตต้มยำกุ้ง ... ความเหมือนที่แตกต่าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองในเรื่องนี้ว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเมือง เป็น 2 ประเด็นหลักที่มีความสำคัญต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ สำหรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจนั้น จะพิจารณาจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายๆ ตัวประกอบกัน อาทิ ภาระหนี้ สภาพคล่องระหว่างประเทศ ความสามารถในการปรับปรุงดุลการเงิน โครงสร้างของเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริหารเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ ความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองและสังคมที่มีต่อความสามารถในการหาเงินตราต่างประเทศและต่อความประสงค์ของรัฐบาลในการชำระหนี้ จะถูกพิจารณาจาก ระบบการเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตต้มยำกุ้งในรอบก่อนหน้า เนื่องจากในรอบวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศทำการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศของไทย คือ ปัญหาในภาคสถาบันการเงินของไทย ซึ่งประกอบเข้ากับความอ่อนแอของภาคต่างประเทศ (ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน ตลอดจนการทะยานขึ้นอย่างมากของหนี้ระยะสั้น) ขณะที่ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในรอบนี้นั้น มีสาเหตุหลักมาจาก ความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในประเทศ พร้อมๆ ไปกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในระยะถัดไป

ส่วนเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไป คือ ฐานะของภาคต่างประเทศ (การส่งออก ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการชำระเงิน) การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ตลอดจนฐานะทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าเครื่องชี้เหล่านี้จะยังไม่ส่งสัญญาณของปัญหาออกมาในเวลานี้ แต่สภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ก็อาจทำให้ความอ่อนแอของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มปรากฎเด่นชัดมากขึ้นในระยะถัดไป

สรุปแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อท่ามกลางแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก อาจทำให้เศรษฐกิจไทยจำต้องตกเข้าสู่ภาวะที่ซบเซายาวนาน ซึ่งนั่นก็ย่อมจะหมายถึงโจทย์ที่หนักมากยิ่งขึ้นของทางการไทยในระยะต่อไป

เมื่อพิจารณาจากบทวิเคราะห์ข้างต้นแล้วการเมืองในขณะนี้นับเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ แต่ต้องเข้าใจว่าการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดนั้นยังคงหยั่งรากลึกภายในสังคม การแก้ปัญหาที่ผ่านมามิได้ทำให้เกิดจิตสำนึกทางความคิดของประชาชนที่แท้จริง

เมื่อมองดูการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ประชาธิปไตยที่เข้าใจกันอาจเรียกได้ว่า เป็นแบบพวกมากลากไป ซึ่งนำเสียงส่วนใหญ่มาใช้อ้างสิทธิ์หรือความชอบธรรมที่ตนเองมี แต่หลงลืมเนื้อแท้ของประชาธิปไตยที่ พุทธทาสภิกขุ เคยบอกกล่าวไว้ว่า ประชาชนธิปไตยนั้นประโชยน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่

ในอนาคตหากความคิดของคนในสังคมยังยึดติดอยู่กับการเลือกตั้งแต่บุคคลที่ตนเองต้องการ หรือให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง แทนที่จะนึกถึงส่วนรวม เช่น คนสุพรรณ เลือกพรรคชาติไทย เพราะทำประโยชน์ให้กับจังหวัด หรือ วาทะของนักโทษหนีคดีอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า”จังหวัดไหนเลือก ผมจะ ดูแลเป็นพิเศษ" รับรองได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการเมืองในประเทศนั้นจะยังคงมีอยู่แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น