xs
xsm
sm
md
lg

สนทนากับ “พระมหาสมโชค” พระผู้วาดศิลป์ไว้ในวัยเยาว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘โยมคุ้นชินกันดีใช่ไหม...กับคำแปลที่ว่า “ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสไว้ดีแล้ว” แล้วโยมรู้หรือไม่ ว่า แท้จริงแล้ว คำแปลนั้นยังมีต่อว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสไว้งามแล้ว สุดท้ายก็คือ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสไว้ “ง่าย” แล้ว’

แต่ทำไม? เพราะเหตุใด? สังคมไทยจึงรับมาเฉพาะใจความที่ว่า “ตรัสไว้ดีแล้ว” เป็นเพราะมิต้องการให้เกิดการตั้งคำถาม ห้ามเห็นแย้ง ห้ามถกเถียงหรืออย่างไร?

พระมหาสมโชค ธีรธัมโม พระหนุ่มผู้บุกเบิก ก่อตั้งโรงเรียนศิลปธรรม ทั้งเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด นนทบุรี ตั้งคำถามต่อ “ผู้จัดการปริทรรศน์” ด้วยน้ำเสียงแจ่มใส...ก่อนขยายความถึง “ธรรมะ” อันเรียบง่าย ที่แฝงฝังอยู่ในทุกสรรพสิ่งรอบตัวเรา

-1- พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ ‘ง่าย’ แล้ว

“ทุกวันนี้ คนเรามุ่งจะประพฤติธรรมตามบทบัญญัติ แต่เราไม่รู้จักธรรมะดีพอ ธรรมะคือธรรมชาติ คือธรรมดา แต่เรากลับทำให้ยาก ทำให้เป็นของสูง เต็มไปด้วยบทบัญญัติ เต็มไปด้วยภาษาบาลี สันสกฤตที่ท่องจนขึ้นใจ แต่ใครสักกี่คน บ้างจะรู้ซึ้งถึงความหมายที่แท้ ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมิได้มุ่งหวังให้ ธรรมะเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคนเลย”

พระมหาสมโชค บอกเล่าต่อไปอย่างผ่อนคลาย ทั้งยกตัวอย่างว่า การยึดติดบทบัญญัติเกินไป อาจทำให้เราไม่กล้าก้าว ข้าม กรอบเกณฑ์ ทฤษฎีใดๆ หากมัวยึดติดเช่นนั้น โลกนี้คงไม่มีท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่สร้างสวนโมกขพลารามขึ้นมาด้วยความเรียบง่าย

“เห็นไหมว่าท่านพุทธทาส ท่านทำตัวสบายๆ มีไก่แจ้นั่งเล่นอยู่บนตัว ญาติโยมนำภัตตาหารมาถวาย ไม่ว่าอะไรท่านก็ฉันหมด ไม่เลือกว่าเป็นเนื้อสัตว์ หรือเป็นมังสวิรัติ เพราะท่านถือว่า มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยอาหารของญาติโยม เราไม่มีสิทธิ์เลือก”

ประเด็นของการ “ไม่ยึดติด” ในวิถีของท่านพุทธทาสที่พระมหาสมโชคเอ่ยถึงนี้เอง โยงใยให้เราฉุกคิดถึงคำกล่าวของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ที่กล่าวไว้ไม่ไกลกันนัก

“...เพื่อจะให้ร่างกายไม่ขาดธาตุที่หล่อเลี้ยงร่างกาย ถ้าเรากินเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่พอเลี้ยงร่างกาย สมมติว่าเรากินผักอย่างเดียวแล้วบางทีกินผักชนิดเดียวเสียอีก กินผักบุ้งผัดน้ำมันอยู่ตลอดทุกมื้อ ร่างกายมันก็ขาดอาหาร ซีดๆ เซียวๆ ผิวหนังไม่ค่อยมีเลือดฝาด เพราะว่ามันขาดอาหารบางประการ…เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์พอสมควร หมอเขาแนะ นำว่ากินอะไรบ้าง เราก็กินตามหลักโภชนาการ ไม่ไปยึดถือว่าต้องกินนั่นกินนี่ เช่นไปยึดว่าฉันต้องกินผักจนตาย มันเรื่องอะไรที่จะไปตั้งอธิษฐานใจในรูปนั้น ไม่เข้าเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สั่งให้เราปฏิบัติอย่างนั้น แต่ให้เราปฏิบัติตามกาลเทศะ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอเลี้ยงชีวิตไปไม่เดือดร้อน”

พระมหาสมโชค ยกตัวอย่างต่อไป ในประเด็นของการไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อหลักทฤษฎี ว่า ในทางโลกนั้น เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือเซอร์ ไอแซก นิวตัน ก็แสดงให้เห็นว่าทุกคนล้วนมีความกล้าหาญที่จะก้าวพ้นไปจากกรอบเกณฑ์เดิมๆ ทั้งสิ้น กล้าที่จะแหวกขนบ หรือฉีกทฤษฎีทิ้ง ซึ่ง คุณสมบัติดังกล่าวนี้ พระมหาสมโชคมองว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในการ “ค้นพบ” สิ่งใหม่ เพียงแต่ การก้าวข้าม กฎระเบียบ หรือกรอบเกณฑ์นั้น ไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

คำบอกกล่าว ของพระมหาสมโชคชวนให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า เมื่อใดที่ก้าวข้ามกรอบบางอย่าง เมื่อนั้นเราอาจเข้าใกล้ความหมายที่แท้ ของ “อิสรภาพ” ...ก็เป็นได้

-2-ศิลปะกับธรรมะ –ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพัน

ประสบการณ์ ในการเป็นพระอาจารย์สอนศิลปะ ของโรงเรียนศิลปธรรม ช่วยให้พระมหาสมโชคได้มองเห็นแง่มุมและคุณประโยชน์ของศิลปะในการเป็นสะพานเชื่อมธรรมะ สู่จิตใจของเด็กๆ ได้อย่างน่าขบคิด

ดังที่พระมหาสมโชคกล่าวกับเราต่อเนื่องจากเวทีเสวนา “เติมหัวใจให้สังคม” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จากจำนวนนักเรียนเพียงนับนิ้วมือเดียว ก่อนขยายวงกว้างเกินคาดคิด หากมองในแง่ของปริมาณ อาจเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จไม่น้อย ทว่า ในมุมมองของพระมหาสมโชคแล้ว นั่นมิใช่สารัตถะที่แท้ ด้วยมีสิ่งซึ่งสำคัญ ยิ่งกว่า

“พระอาจารย์ไม่เคยคิดถึงเรื่องของปริมาณ ไม่คิดอย่างนั้นเลย ทุกวันนี้คนเราคิดแต่จะเร่งปุ๋ย ทำสิ่งใดก็หวัง อยากเห็นผลสำเร็จโดยเร็ว แต่พระอาจารย์ไม่คิดอย่างนั้นเลย คิดเพียงว่าแค่เด็กเขาอยากเรียน นั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผลที่ได้หลังจากนั้นทั้งหมดก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ตัวเขา แม้จะต้องใช้ระยะเวลานานเพียงใดกว่าจะเห็นผลก็ตาม พระอาจารย์เองไม่หวังว่าจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในวัน สองวัน”

นอกจากไม่เร่งรัด ไม่คาดหวังถึงผลสำเร็จ แต่ใส่ใจต่อกระบวนการหรือ “ระหว่างทาง” มากกว่า “ปลายทาง” แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่พระมหาสมโชคไม่เคยละทิ้ง ทั้งเน้นย้ำ และยึดมั่นในแนวทางการสอนศิลปะเรื่อยมา ก็คือความเชื่อมั่นในตัวเด็กนักเรียน

ทั้งแสดงทรรศนะต่อแวดวงการศึกษาในบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ โดยพระมหาสมโชคมองว่า การศึกษาศิลปะในบ้านเรายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อาจารย์มักไม่พอใจหากเห็นเด็กๆ มีความคิดแตกต่าง

“พระอาจารย์ถือว่า เด็กทุกคน ย่อมพบ ‘ทาง’ ของเขาเอง”

‘ทาง’ ที่ว่านั้น ก็หมายถึง แนวทางในการทำงาน การลงสี การเขียนภาพ ที่แต่ละคนย่อมค้นพบรูปแบบ แนวทาง ที่เหมาะกับตนเองได้ทั้งสิ้น

“ถึงวันหนึ่ง พวกเขาต้องกล้าที่จะฉีกทฤษฎีทิ้ง กล้าที่จะแหวกขนบ แหวกกฎเกณฑ์ เพื่อค้นหา ค้นให้พบแนวทางที่ตนเองถนัด พระอาจารย์เชื่อว่า การกล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยละทิ้งกฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบดั้งเดิม ย่อมก่อเกิดสิ่งที่มีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าต้องเป็นการแหวกขนบ กฎเกณฑ์ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร”

กว่าที่เด็กคนหนึ่งจะก้าวพ้นกรอบ แล้วค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก่อนจะถ่ายทอดออกมาอย่างที่พวกเขารู้สึกได้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ในฉับพลัน หากต้องอาศัยทั้งกระบวนการที่ครูผู้สอนเปิดใจกว้าง ไม่คาดคั้นกดดันจนเกินควร ทั้งใจเย็นพอที่จะรอคอยให้เด็กๆ ได้ค้นพบศักยภาพของพวกเขา หรือได้มีพัฒนาการที่เติบโตขึ้นด้วยตัวของเขาเอง

นอกจากนี้ พระมหาสมโชคมองว่าศิลปะกับธรรมะ เป็นเรื่องเดียวกัน สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ได้แยกกันอยู่ ธรรมะ ก็คือธรรมชาติ เช่นเดียวกัน ศิลปะก็มีพื้นฐานมาจากธรรมชาติ ไม่ต่างกันจากหลักคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์หรือศาสตร์แขนงใดๆ ก็ตาม

ทุกสิ่งล้วนก่อร่าง ก่อกำเนิดมาจากรากเดียวกัน นั่นคือ “ธรรมชาติ” หากถามว่า อย่างไร? พระมหาสมโชค ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าสำหรับศิลปะ การดรออิ้งก็ยึดความเหมือนจริงของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน วาดมือ วาดใบหน้า วาดใบไม้ ต้นไม้ ทิวทัศน์

วิชาคณิตศาสตร์ก็ไม่ต่างกัน บทเรียนแรกเริ่มคือการ ฝึกนับเลข เราฝึกจากไหน ก็จากการนับนิ้วมือ หรือจากผลส้ม หัดนับจากสิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัวด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อเราเห็นว่าทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยง เราจะเห็นถึงสายสัมพันธ์ ความเกี่ยวพันกัน ไม่มีสิ่งใดละทิ้งหรือแยกจากกันได้ ทัศนคติดังกล่าว ใช่จะทำให้เรามีมุมมองที่เปิดกว้าง เพียงอย่างเดียว หากยังทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง ไม่ว่าเส้นสายที่เด็กๆ ในโรงเรียนศิลปธรรมปาดป้ายไว้จะเป็นสีใด จึงล้วนสร้างรอยยิ้มให้แก่เจ้าของภาพและผู้พบเห็น เพราะมันเป็นภาพที่ปลดปล่อยหัวใจให้เป็นอิสระ

หากขณะเดียวกัน ก็ปลดปล่อยอัตตาของตน เพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น