บลจ.ยูโอบี (ไทย) ไม่สนใจหุ้นปูนใหญ่-ซีพีเอ็นถูกปลดจากดัชนีMSCI และหุ้นบ้านปู-แบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทยถูกปรับลดน้ำหนัก เชื่อจะส่งผลในด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุน ย้ำนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น SET เป็นหลัก โดยพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรสูง มีผลการดำเนินงานดี และมีปัจจัยพื้นฐานดี พร้อมไม่ขอตั้งเป้าหมาย AUM ปีนี้แล้ว หลังจากตลาดหุ้นซบเซาหนัก แต่จะเน้นด้านความปลอดภัยให้ลูกค้าเป็นสำคัญ
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และหุ้นเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ถูกประกาศปลดออกจากดัชนี Morgan Stanley Capital International หรือ MSCI ขณะที่หุ้นบ้านปู (BANPU) หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) และหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ถูกปรับลดน้ำหนักลงทุน ซึ่งได้มีผลอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะส่งผลในด้านจิตวิทยาเท่านั้น โดยบริษัทมีการลงทุนในหุ้นเซ็นทรัลพัฒนาเพียงเล็กน้อย ส่วนหุ้นปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้มีการลงทุนแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่ดัชนี MSCI ได้ทำการปรับหุ้นปูนซิเมนต์ไทย และหุ้นเซ็นทรัลพัฒนาออกไป พร้อมกับการปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นบ้านปู หุ้นธนาคารกรุงเทพ และหุ้นธนาคารกสิกรไทยนั้น เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่หุ้นในกลุ่มดังกล่าวได้ปรับลดลงมามาก ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (MARKET CAPITALZATION) ปรับลดลงจนถึงระดับที่ดัชนี MSCI ต้องนำเอาหุ้นดังกล่าวออกไปจากดัชนี
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวของดัชนี MSCI อาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ใช้แนวทางการลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีดังกล่าวเท่านั้น แต่บริษัทไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากจะเน้นการลงทุนจังหวะการลงทุนในหุ้น SET เป็นหลัก โดยพิจารณาจากว่าหุ้นดังกล่าวอยู่ในดัชนีหรือเซกเตอร์ใด เป็นหุ้นที่ยังมีความสามารถในการทำกำไรสูง มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะเน้นการขายกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOBSD) และกองทุนประเภทโรลโอเวอร์ ซึ่งเน้นลงทุนในตราสารหนี้ และพันธบัตรรัฐบาล แต่จะไม่ลงทุนในหุ้นภาคเอกชนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของปีนี้แล้ว หลังจากล่าสุดได้ตั้งไว้ที่ 7.5 – 8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท หลังจากตลาดหุ้นไม่ค่อยดี ส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนปรับลดลงไปด้วย โดยในช่วงต่อไปจะเน้นความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าในการออกกองทุนมากกว่าการเน้นปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา โดยที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ออกกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ และกองทุนดังเช่นบริษัทอื่นๆ ซึ่งนำเสนอผลตอบแทนที่สูง ส่งผลให้เม็ดเงินไปไหลไปยังบริษัทอื่นแทน แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ปรับลดลงไปค่อนข้างมาก
สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOBSD) จะเน้นลงทุนในลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้ จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative)
ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2551 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 98.29% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน 1.60% และลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อีก 0.11%
โดยรายชื่อผู้ออกหลักทรัพย์ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2551 ได้แก่ 1. บมจ. ธนาคารทิสโก้ 0.98% 2. ธนาคารยูโอบี จำกัด ( มหาชน ) 0.53% 3. ธนาคาร คาลิยง 0.04% 4. ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น เอ 0.03% 5. บมจ. ธนาคาร ธนชาต 0.01% 6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์กิ้งคอร์เปอร์เรชั่น 0.00% และลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 98.29%
ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.91% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน อยู่ที่ 3.17% ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 3.04% และสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.89%