ทรัพย์สินฯไม่หวั่นตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดลุกลามถึงตลาดหุ้นไทย จนฉุดมูลค่าหุ้นของบริษัทหลักๆที่ถืออยู่ต่ำลง ยันไม่มีนโยบายขายหรือซื้อคืนหุ้นเพื่อรักษามูลค่าหุ้นในพอร์ต ย้ำหุ้นหลักที่ถืออยู่ในธนาคารไทยพาณิชย์-ปูนใหญ่-เทเวศฯ มุ่งการลงทุนและผลตอบแทนระยะยาว ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร พร้อมสืบสานการเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนผ่านโครงการบ้านมั่นคง
สืบเนื่องจากวิกฤตการเงินของโลกในขณะนี้ ได้ก่อผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกมีการปรับพอร์ต โดยการเทขายหุ้นที่เข้าไปลงทุน เพื่อถือเงินสดป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน ส่งผลให้ดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดหุ้นไทย มีสภาพไม่ต่างกับตลาดหุ้นในต่างประเทศ ที่ดัชนีปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าหุ้นของบริษัทเอกชนลดต่ำเกินกว่ามูลค่าทางบัญชี ทำให้บางบริษัทต้องกำหนดนโยบายและวงเงินในการซื้อคืนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และคลายความกังวลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุน
ต่อปัญหาดังกล่าว นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักทรัพย์สินฯ ถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่อยู่ 4-5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) 24% บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 30% บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) 90% และบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหชน) ทั้งนี้ แม้ว่าในบริษัทต่างๆ ข้างต้นที่สำนักทรัพย์สินฯมีการถือหุ้นอยู่นั้น จะได้รับผลกระทบจากความกังวลของนักลงทุน ในการเทขายหุ้นในตลาดรวม จนส่งผลให้มูลค่าหุ้นของแต่ละบริษัทที่ถืออยู่ลดลงไป แต่นโยบายทางสำนักทรัพย์สินฯยังไม่มีแผนจะซื้อหุ้นคืนหรือระบายหุ้นออกไป
"จุดเริ่มต้นของการลงทุนตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินฯยึดนโยบายการลงทุนในแต่ละบริษัท ไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังผลการเก็งกำไร แต่เป็นการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้น แม้ว่ามูลค่าหุ้นที่ถืออยู่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นของสำนักทรัพย์สินฯ เพราะแม้ว่าราคาหรือมูลค่าจะลดลง แต่จำนวนหรือสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทยังถืออยู่เท่าเดิม"นายจิรายุกล่าว
อนึ่ง การลงทุนหุ้นใน 3 บริษัทหลักๆ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ , ปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทเทเวศประกันภัยฯ เป็นกิจการหลักที่สำนักงานทรัพย์สินฯได้รับเงินปันผลคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ที่เหลืออีกประมาณ 10% จะมาจากรายได้ค่าเช่า หน่วยงานของราชการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ
นายจิรายุ กล่าวถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยว่า ในส่วนของแผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่สำนักทรัพย์สินฯ พบว่า จากการสำรวจชุมชนหนาแน่นในพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินฯ มีกว่า 100 ชุมชน แต่ชุมชนที่สามารถนำเข้าโครงการดังกล่าวได้มีจำนวน 39 ชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมมือพัฒนาแล้ว 6 ชุมชน และตั้งเป้าว่าในระย 3-5ปีนี้ จะสามารถดำเนินการพัฒนาโครงการได้ทั้งหมด 39 โครงการ
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงจะเป็นความร่วมมือระหว่าง 3หน่วยงาน คือ สำนักทรัพย์สินฯ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) หรือ พอช. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)
ด้านนางทิพรัตน์ นพลดารมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในปี52 นั้น พอช. ตั้งเป้าให้ได้ 18,925 หน่วยทั่วประเทศ จากที่ในปีที่ผ่านมา พอช.สามารถก่อสร้างบ้านในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 25,000 หน่วย ทั้งนี้ พอช.ต้องก่อสร้างบ้านในโครงการบ้านมั่นคงจำนวนทั้งสิ้น 200,218 หน่วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พอช.ดำเนินการก่อสร้างบ้านในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 76,000 หน่วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนโครงการให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ในแต่ละปีนั้น ต้องมาพิจารณาว่า รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ตามความจำเป็นหรือไม่