xs
xsm
sm
md
lg

พลัง “ชุมชนเมืองตะพานหิน” แก้ปัญหาที่ดินสร้างบ้านมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านที่กำลังสร้างใหม่
***ยาวนานกว่า 60 ปีมาแล้ว ที่ปรากฏหลักฐานของการตั้งชุมชนอยู่อาศัยของชาวบ้านตามลำคลองลำไดตระกรุดเจ๊ก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ชุมชนที่เกิดจากการอพยพของชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านเข้ามาตั้งรกรากและใช้ประโยชน์ในที่ดินตามสองฝั่งคลองในการปลูกบ้านแปลงเมืองอยู่อาศัย ประกอบอาชีพรับจ้าง จับสัตว์น้ำ ค้าขาย ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง

ยายมี คงมณี ในวัย 80 ต้นๆ ชาวชุมชนพฤกษะวันโชติการาม เทศบาลเมืองตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ. พิจิตร บอกนัยยะแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับการใช้ที่ดินตามคลองลำไดตระกรุดเจ๊กได้เป็นอย่างดี เพราะยายมีเป็นคนแรกๆ ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ลำคลองยังเป็นสายน้ำสวยใสให้ได้อุปโภค บริโภค

กระทั่งต่อมามีชาวบ้านได้ทยอยเข้ามาปลูกสร้างที่พักอาศัย ทำให้เกิดปัญหามลพิษ คลองตื้นเขิน และมีสภาพทรุดโทรมใต้ถุนบ้านมีแต่น้ำเสีย ขยะมูลฝอย ส่งกลิ่นเน่าเสียเหม็นไปทั้งชุมชน ดูแล้วสภาพแวดล้อมไม่น่าอยู่เอาเสียเลย บางปีมีเด็กๆ ตกน้ำเสียชีวิต แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ ไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าผืนแผ่นดินที่เข้ามาอาศัยอยู่เป็นของใคร และจะถูกไล่ที่อีกเมื่อไหร่

สิรภัทร บุญธรรม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสังคมเทศบาลเมืองตะพานหิน อ. ตะพานหิน จ. พิจิตร กล่าวว่า ชุมชนพฤกษะวันฯ เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในลำคลองลำไดตระกรุดเจ๊ก ในอดีตเป็นลำคลองเพื่อใช้การคมนาคมเชื่อมโยงไปท่าเรือน้ำลึก แต่วันนี้กลายเป็นแหล่งรวมบ้านเรือนที่สร้างปิดทางน้ำจนน้ำไม่สามารถไหลผ่านไปมาได้กว่า 50-60 ปี สุดท้ายจึงกลายเป็นสลัมในทุกวันนี้

กระทั่งปี 2546 รัฐบาลได้รับการจดทะเบียนคนจนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย พบว่า ชุมชนพฤกษะวันโชติการามเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีชาวบ้านกว่า 1,015 คน ปลูกสร้างบ้านเรือนทั้ง บ้านจัดสรร บ้านริมแม่น้ำน่าน และบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะประโยชน์ 79 ครัวเรือน ในที่ดินส่วนนี้เทศบาลมีนโยบายเพื่อนำที่ดินสาธารณะมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างปัญหาให้กับคนจนที่ไม่รู้จะโยกย้ายไปอยู่ที่ไหน เทศบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบโดยการหาที่อยู่อาศัยให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในชีวิต

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนจน ฝ่ายพัฒนาสังคมเทศบาลเมืองตะพานหิน จึงได้ลงสำรวจข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จะให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นหรืออยู่ในที่ดินเดิม

สิรภัทร กล่าวต่อว่า จากความเห็นหลายๆ ฝ่ายอยากให้ชาวบ้านอยู่ในที่ดินเดิมแต่ต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ และทำให้ถูกกฎระเบียบการถือครองที่ดินของรัฐและออกหนังสืออนุญาตให้ราษฎรครอบครองทำประโยชน์ ตามแผนปฎิบัติการการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ กรณีการบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบท

แต่ด้วยความที่เทศบาลยังไม่มีประสบการณ์การทำงานการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน และการสร้างบ้านจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมที่ดิน เข้ามารังวัดจัดสรรที่ดิน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาสร้างความเข้าใจเรื่องการทำโครงการบ้านมั่นคง ตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ การรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยร่วมกับเทศบาล

ด้าน บูรณะ แสงรวีวิสิฐ นายกเทศมนตรีเมืองตะพานหิน กล่าวเสริมว่า การสร้างความร่วมมือไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรายังทำหนังสือขออนุญาติการใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์จากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรตามแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งในที่สุดก็ได้รับอนุญาติให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ โดยให้ออกเป็นเทศบัญญัติเรื่องการปรับปรุงชุมชนแออัด โดยการนำที่ดินที่มีการยกเลิกการใช้ประโยชน์สาธารณะให้ชาวบ้านเช่าตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 โดยที่ดินที่ชาวบ้านบุกรุกอยู่ในขณะนี้มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 20 ตารางวา ต่อมาได้ออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง

บุญเลิศ สุขสมวัย ประธานโครงการบ้านมั่นคง เล่าว่า เหมือนฝันไปจริงๆ ที่เราจะมีบ้านมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญเราไม่กังวลเรื่องเด็กๆ ต้องตกน้ำเสียชีวิตอีกต่อไป ซึ่งนับแต่นี้หวังว่าชาวชุมชนจะสร้างสามัคคี ส่วนขบวนการสร้างบ้านเริ่มตั้งแต่การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งแรกๆ ก็ออมเพื่อสร้างบ้านอย่างเดียว แต่วันนี้ได้ขยับมาออมเพื่อให้ เช่น เรื่องสวัสดิการชุมชน หรือให้หยิบยืมไปสร้างอาชีพเสริม ฯลฯ

ส่วนการวางผังแปลงที่ดินเพื่อสร้างบ้านได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เพื่อสร้างบ้านรวมเนื้อที่ 1.635 ตารางวา แบ่งเป็นขนาด 5X10 เมตร จำนวน 22 แปลง 7X16 เมตร 15 แปลง 3X7 จำนวน 10 แปลง 5X7 จำนวน 8 แปลง เป็นต้น และเนื้อที่ส่วนกลางเพื่อจัดทำสาธารณูปโภค เช่น สร้างถนน สวนหย่อมฯลฯ รวมเนื้อที่ 550 ตารางวา โดย พอช. ได้อนุมัติงบสาธารณูปโภคตามโครงการบ้านมั่นคงสำหรับ 79 ครัวเรือน จำนวนเงิน 1,975,000 บาท เทศบาลสมทบ 2,132,409.21 ล้าน

สิทธิพงษ์ มีรัตน์ คณะทำงานโครงการบ้านมั่นคง เล่าว่า มีอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกสร้างบ้านโดยใช้ “ช่างชุมชน” เพราะเงินทองไม่รั่วไหลออกนอกชุมชน คนในชุมชนก็มีงานทำ การเป็นชุมชนใหม่ครั้งนี้ยึดหลักการให้ชาวบ้านร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ เพราะต้องการให้คนในชุมชนได้คิดว่าเป็นเจ้าของโครงการร่วมกันทั้งชุมชน

อนาคตเห็นอยู่รำไรว่า “ชาวสลัมพฤกษะวันโชติการาม” จะหายไปจากแผนที่ในไม่ช้า เฉกเช่นอีกชุมชนหลายๆ ชุมชนของประเทศไทยที่เคยหายไป พร้อมๆ กับมีชุมชนทั้งหลายที่ปรากฏตัวขึ้นมาใหม่ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงขึ้นมาแทนที่ ซึ่งปัจจุบันนี้เขามีชีวิตที่สดใส มีบ้าน มีอาชีพรองรับที่มั่นคง

วันนี้พลังความร่วมมือจากท้องถิ่นที่เข้มแข็งของคนจนเมืองพิจิตรได้เปิดพื้นที่ต่อรองกับกลไกต่างๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างการยอมรับจากสังคม ว่าเขาคือแกนหลักสำคัญของการพัฒนาคนจนเมืองพิจิตรให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

ถึงเวลาแล้วที่คนจนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาไร้ที่ดิน ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติ และเป็นตัวชี้วัดอีกชนิดหนึ่งที่จะสร้างหลักประกันความมั่นคงให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
บ้านมั่นคงชุมชนพฤษกษะวันโชติการาม
ยิ้มร่ารอรับบ้านใหม่ของ ยายมี
สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
สภาพชุมชนที่รอการปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น