ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายกเทศมนตรีนครสงขลา นครสุราษฎร์ฯ และเมืองสุไหงโก-ลก ร่วมลงนามบันทึกช่วยจำแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้านรายได้น้อยตามโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งผู้แทนชุมชนจากทั่วประเทศเดินทางมาศึกษาดูงานที่สงขลา-พัทลุง โดยสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังมีปัญหาใน 60 อำเภอ 400,000 ไร่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 30,000 ครัวเรือน ขณะที่ชุมชนเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคงมีจำนวน 9 เมืองเท่านั้น
เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองสงขลา เทศบาลนครนครสงขลาและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกช่วยจำ (MOU) ระหว่างผู้แทนชุมชนกับตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย, นายกเทศมนตรีนครนครสงขลา, นายกเทศมนตรีนครนครสุราษฎร์ธานี, นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ในการร่วมแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยใน 3 เมืองดังกล่าว
โดยเมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก 2551 มีผู้แทนชุมชนจากทุกภาคของประเทศไทยพร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรชุมชนโครงการบ้านมั่นคงของภาคใต้ได้เดินทางศึกษาดูงาน ณ กลุ่มออมทรัพย์คลองเปี๊ยะ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปริก การแก้ไขปัญหาที่ดินราชพัสดุชุมชนเก้าเส้ง การแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟชุมชนหัวป้อม และการก่อสร้างบ้านโครงการบ้านมั่นคงที่ จ.พัทลุง
โดยผลสรุปการเรียนรู้จากทั้ง 2 วันนั้น พบว่า สถานการณ์ปัญหาที่ดินในภาคใต้มีปัญหาใน 60 อำเภอจำนวน 400,000 ไร่ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่า 30,000 ครัวเรือน โดยกระจายอยู่ทั้งในที่ดินเขตป่าชายเลน ป่าสงวน อุทยาน ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะประโยชน์ และที่ดินเอกชน แม้ว่าหลายพื้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาจนเป็นที่ยุติแล้ว แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ยังอยู่ในกระบวนการแก้ไข และหลายชุมชนเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งในภาคใต้มีจำนวน 9 เมือง
สำหรับโครงการบ้านมั่นคงจัดตั้งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ยังไม่มีที่อยู่เป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยกระจัดกระจายนอกชุมชน ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
โดยโครงการบ้านมั่นคงจะช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาทและ 15,000 บาท (ระดับรายได้ปี 2546) โดยการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นและองค์ประกอบชุมชน เช่น ตลาด ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ประกอบอาชีพหรืออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น ในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ โดยมีกรรมสิทธิ์ในลักษณะการเช่าซื้อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง
นายพีระ ตันติเศรณี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย เป็นปัญหาที่สำคัญมาก และทุกประเทศกำลังหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนคนจนในเมืองให้มากขึ้นไปอีกในประเทศต่างๆ ทำให้ชาวชุมชนแออัดมักถูกกีดกันออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเมือง ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขาดการศึกษา ขาดสุขอนามัย มีรายได้น้อย และไม่สามารถเข้าถึงการเงินในระบบ ส่งผลต่อความมั่นคงทางสังคม ทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้รับการเติบโตของสังคมเมือง
แต่ ณ วันนี้ ชาวชุมชนเมืองพร้อมแล้วที่จะประกาศการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม เพื่อพยายามเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและการวางแผนพัฒนาทุกเรื่องเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดิน เพื่อจัดการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงคนที่มามีชีวิตร่วมกันเป็นชุมชนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในโลกสมัยใหม่ เพื่อให้มีกองทุนร่วมกัน อันเป็นเครื่องมือในการจัดระบบเศรษฐกิจให้สมาชิกในชุมชน และวางพื้นฐานของระบบสวัสดิการที่จะดูแลคนด้อยโอกาสทุกคนในชุมชน คนที่อยู่ในชุมชนจึงไม่ใช่คนโดดเดี่ยว แต่มีโครงสร้างของการช่วยเหลือ อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างการบริหารจัดการร่วมกันอย่างอบอุ่นและพึ่งตนเองให้มากที่สุด
ด้าน นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครนครสงขลา เปิดเผยว่า ชุมชนท้องถิ่นทั้งในภาคเมืองและชนบทของ จ.สงขลา กว่า 500 คน ได้ร่วมลงมือแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของคนยากจน ตามโครงการบ้านมั่งคงเมืองและชนบท โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่ดูแลที่ดิน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคมและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทำให้ได้เห็นรูปธรรมที่ชุมชนเป็นหลักในการคิดและบริหารจัดการทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน และจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายผลสู่ชุมชนท้องถิ่นอื่น ทั้งใน จ.สงขลาและใกล้เคียง เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงในชีวิต
โดยที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านได้สร้างนวัตกรรมของขบวนการแก้ปัญหาหลายด้านพร้อมๆ กัน ตั้งแต่การสร้างความมั่นคงทางด้านกายภาพ การปรับปรุงชุมชนและที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเกิดสวัสดิการชุมชนที่มีการดูแลช่วยเหลือกัน
โดยแผนในระยะต่อไป คือ การวางระบบการพัฒนาให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองและยังคงหลักการให้ชุมชนคนจนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้ร่วมคิด ทำ และจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน
นายอัครพล บุญยนิตย์ ปลัดจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การที่ชาวบ้านได้ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งเรื่องจัดการที่ดินร่วมกันเพื่อการอยู่อาศัย การจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชน การมีกองทุนชุมชนของตนเอง การบริหารจัดการชุมชนและสภาองค์กรชุมชน วิธีการแบบนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน
“สิ่งที่ผมได้เห็นทำให้มีมุมมองของการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นว่า ไม่ควรเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดหรือปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรสร้างศักยภาพของคนเหล่านี้ ให้เขาสามารถลุกขึ้นมาคิด ตัดสินใจ และจัดการกับปัญหาของตนเองด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เขาคิดแก้ปัญหาของตนเองได้ตรงกับความต้องการ และสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะไม่ได้ต้องการเพียงรอรับความช่วยเหลือ แต่ต้องการเป็นผู้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง” นายอัครพล กล่าวและว่า
จากข้อมูลที่ผู้แทนชุมชนแจ้งให้ทราบเบื้องต้นพบว่า ปัญหาที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกินในภาคใต้เหล่านี้ แม้ว่าจะมีการลงแรงทำอย่างเต็มที่แล้วก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง 15% เท่านั้น ในระดับนโยบายจึงต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเอื้อให้เกิดการดำเนินงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้ทั้งเมือง