xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตความเชื่อมั่นยังคุกคาม ไทยหนีไม่พ้นส่งออก..ลงทุนหดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะตลาดตราสารหนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้โดยรวมเท่ากับ 1,053,180.54 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งมีปริมาณเท่ากับ 1,118,552.74 ล้านบาท หรือลดลง 5.84% คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย วันละ 210,636.11 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 223,710.55 ล้านบาท โดยเป็น Outright Transactions เท่ากับ 244,780.58 ล้านบาท และเป็น Financing Transactions เท่ากับ 808,399.96 ล้านบาท โดยพันธบัตรรัฐบาลที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ LB183B, LB145B และ LB191A ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.23%, 0.17% และ 0.11% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด

โดยสภาพการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองยังคงคึกคัก โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทุกระดับอายุปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากแรงซื้อของทั้งกลุ่ม End-Investors และ กลุ่ม Inter Bank โดยรวมแล้วอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทุกรุ่นปรับตัวลดลงกว่า 10 bps

ปัจจัยที่คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ความต้องการซื้อตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับลดลงอย่างมาก น่าจะมาจากปัจจัยด้านการประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการประชุม กนง. ครั้งถัดไปในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ โดยตลาดประมาณการไว้ว่า กนง. น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.25-0.50% และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้อีกในการประชุมครั้งถัดๆไป

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่คลี่คลายความกังวลในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับแรงกดดันด้านการเงินที่รุนแรง และต้องใช้เวลาในการบรรเทายาวนาน ปัญหานี้นอกจากมีผลให้การลงทุนในประเทศไทยลดลง และการส่งออกของประเทศชะลอตัวแล้ว ตลาดการเงินก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนในสินทรัพย์ปราศจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งล่าสุดทาง ธปท. เตรียมปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ในปี 2552 ลงจากประมาณการไว้ที่ 3.8 - 5.0% ในครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 พ.ย. 51 มีการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยรุ่นอายุ 3 ปี (BOT11NA) จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการลงทุนของทั้งตลาด ผลการประมูลออกมาค่อนข้างต่ำ โดยอัตราที่ชนะการประมูลอยู่ที่ 3.25 -3.27% และมี Bid-Coverage Ratio ถึง 2.42 เท่า หลังเปิดเผยผลการประมูล อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้รุ่นดังกล่าว ลดลงทันที Yield Curve รุ่นอายุ 3 ปี ปรับลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 6 bps

ส่วนปริมาณการซื้อขายหุ้นกู้ครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยรวมแล้วPremium ของหุ้นกู้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกลัวความเสี่ยงที่มากขึ้นของนักลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากหุ้นกู้จึงเพิ่มขึ้น โดยหุ้นกู้ในตลาดรองที่มีอัตราผลตอบแทน และ Premium ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ KEGCO#1 (Premium ปรับเพิ่มขึ้น 400%), TLT09DA (Premium ปรับเพิ่มขึ้น 271.43%), BAY113A (Premium ปรับเพิ่มขึ้น 218.92%)

แต่สัปดาห์นี้คาดว่าผลตอบแทนโดยรวมของตราสารหนี้อาจปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อย ตามสภาวะเศรษฐกิจที่นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง ซึ่งหากไม่มีปัจจัยชี้นำใหม่ ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ตลาดรองในช่วงต้นสัปดาห์น่าจะเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอการประมูลตราสารหนี้รุ่นอายุ 10 ปี (LB183B) จำนวนการเข้าประมูลครั้งนี้คาดว่าจะหนาแน่น และอัตราผลตอบแทนที่ชนะการประมูลน่าจะออกมาค่อนข้างแคบและต่ำ

โดยตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ทุกระดับอายุ ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วง 8 - 15 bps โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือตราสารหนี้รุ่นอายุ 3 ปี ปรับลดลง 15 bps Spread ระหว่างผลตอบแทนของตราสารหนี้รุ่นอายุ 1 ปี และ 3 ปี ลดลงเหลือเพียง 7 bps เท่านั้น

**ภาวะตลาดเงินและตลาด Swap**

**การกู้ยืมเงินผ่านตลาดเงิน**
ปริมาณธุรกรรมในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยสถาบันการเงินต่างเริ่มกระจายสภาพคล่องออกไปสู่ธุรกรรมประเภทอายุยาวขึ้นกว่าเดิมที่เน้น บริหารสภาพคล่องผ่าน O/N เป็นหลักโดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ย ตลาดเพิ่มความมั่นใจที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุม ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้ อย่างต่ำ 25 bps. (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.75%) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ดอกเบี้ยของหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างมีแนวโน้มปรับลดลงมามาก นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังส่งสัญญาณต่อตลาด ว่าจะปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าลง (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก่อนที่เติบโต 3.8 -5 %) และกล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลออก

สรุปปริมาณการกู้ยืมในหน้าต่างตราสารหนี้ ธปท. ทั้งหมดอยู่ในช่วง 204,900 – 231,000 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่สวงก่อนหน้า ที่อยู่ประมาณ 190,700 – 226,200 ล้านบาทต่อ แบ่งเป็นประเภท 1 วัน อยู่ในช่วง 181,800 – 193,700 ล้านบาทต่อวัน ประเภท 7 วัน อยู่ในช่วง 13,920 – 27,000 ล้านบาทต่อวัน ประเภท 14 วัน อยู่ในช่วง 4,100 – 8,600 ล้านบาทต่อวัน และประเภท 1 เดือน อยู่ที่ 4,000 – 13,200 ล้านบาทต่อวัน

**ส่วนตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร สรุป ยอดคงค้างประเภท At Call อยู่ที่ 630 ล้านบาทต่อวัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง** ประเภท Term อยู่ที่ประมาณ 1,038 – 2,038 ล้านบาทต่อวัน และประเภท O/N และ T/N อยู่ที่ประมาณ 3,919 – 5,630 ล้านบาทต่อวัน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย **Interbank ประเภท O/N** เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 3.50 – 3.78% โดยกู้ยืมกันมากที่สุดที่อัตราดอกเบี้ย 3.75% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

**การกู้ยืมผ่านตลาด Swap**
สำหรับการกู้ยืมผ่านตลาด Swap ในตลาด On-shore ในช่วงต้นสัปดาห์ราคา Swap ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ช่วงปลายสัปดาห์ราคา Swap ได้ปรับตัวลดลง จากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นในเรื่องปัญหาสถาบันการเงิน ทำให้นักลงทุนยังมีความต้องการถือครองดอลลาร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในแผนการฟื้นฟูของสหรัฐ หลังจากที่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง กล่าวว่าการรับซื้อสินทรัพย์ไม่ใช่แนวทางที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว

ขณะที่ในส่วน SWAP OFF- SHORE ในวันศุกร์ ราคา Swap point ประเภท 1 สัปดาห์ อยู่ที่ +2.5 (4.23%) 1 เดือน อยู่ที่ +14.0 (6.42%) 2 เดือนอยู่ที่ +32 สตางค์ (7.47%) 3 เดือนอยู่ที่ +47 สตางค์ (7.61%) 6 เดือน อยู่ที่ +70 สตางค์ (6.79%) และ 12 เดือน อยู่ที่ +85 สตางค์ (5.39%)

**โดยตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 7 พ.ย. 2551 อยู่ที่ระดับ 103.122 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ต.ค.ที่ 103.176 พันล้านดอลลาร์ ส่วนของ Forward Baht Commitment อยู่ที่ระดับ 8.97 พันล้านดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นเดือนตุลาคม ที่ 8.898 พันล้านดอลลาร์

**ภาวะเงินตราต่างประเทศ**

**“ตลาดกังวลสหรัฐฯปรับแผน 7 แสนล้านดอลลาร์”**
ค่าเงินบาทกลับมาปรับตัวอ่อนลงในวันพฤหัสบดี 13พ.ย. จากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลาร์ หลังจากมีข่าวว่าฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เสนอให้ยกเลิกแผนการรับซื้อหนี้เสียในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยและระบุว่ารัฐบาลจะนำเงินกองทุนช่วยเหลือภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ไปใช้ ในการลงทุนโดยตรงในสถาบันการเงินและฟื้นฟูตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ซึ่งแผนการดังกล่าวยังไม่มีการเริ่มดำเนินการ

ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลัง กล่าวว่าการรับซื้อสินทรัพย์ไม่ใช่แนวทางที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว ซึ่งความเห็นของนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐฯได้เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและกระตุ้นแรงขายหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่14พ.ย. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้น หลังสหรัฐฯเผยตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สูงถึง 516,000 รายซึ่งสูงสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2544 รวมถึงการขาดดุลงบประมาณจำนวนมากของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อค่าเงินดอลลาร์อีกด้วย โดยตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 34.90 - 35.06 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (14พ.ย.) ที่ระดับ 34.98/99 บาท/ดอลลาร์

**อนึ่ง ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันจะดูแลค่าเงินบาท ให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่จะดูแลไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านการส่งออก และไม่ให้ผันผวนมากเกินไป ในช่วงที่ภาคส่งออกของไทยอาจจะประสบกับความยากลำบากมากขึ้นในอนาคต**

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ หลังจีนประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแผนนี้ทำให้นักลงทุนกล้าที่จะซื้อสินทรัพย์เสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงอย่างเช่น เงินสกุลยูโร ปอนด์ และดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งขึ้นเมื่อเทียบการค่าเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.2389 - 1.2897 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (1พ.ย.) ที่ระดับ 1.2679/81 ดอลลาร์/ยูโร

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ในวันจันทร์ (10พ.ย.) ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 99.21/26 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนลงจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ (7พ.ย.) ที่ระดับ 97.41/44 เยน/ดอลลาร์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยน ยังคงปรับตัวอ่อนลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลังตลาดหุ้นพุ่งขึ้นทั่วโลก ตลอดจนการคาดการณ์ในทางบวกต่อการที่รัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มความช่วยเหลือกิจการ AIG รวมถึง การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีนใน ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจ จึงมีแรงเทขายเงินเยนออกมา

ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ การพากันเข้าซื้อหุ้นที่ราคาอยู่ในระดับต่ำในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้มีแรงเทขายเงินเยนออกมา แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์นั้นได้มีแรงซื้อเงินเยนกลับเข้ามา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงินโลกอีกครั้ง ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 94.54 - 99.34 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดท้ายสัปดาห์ (14/11) ที่ระดับ 97.08/10 เยน/ดอลลาร์

ที่มา: สายบริหารการเงิน และฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น