xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มประเทศเกิดใหม่ กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีกลุ่มผู้นำประเทศ G - 20 ที่ประกอบด้วย กลุ่ม G - 7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยมีกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) จำนวน 12 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ และตุรกี และ องค์กร จำนวน 1 แห่ง คือ สหภาพยุโรป (The European Union: EU) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ การป้องกันไม่ให้เกิด วิกฤตการทางการเงินขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งในเรื่องของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย

เป็นที่น่าสนใจว่า การที่มีกลุ่มประเทศเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเองมาตลอด จนปัจจุบันประเทศเหล่านี้เริ่มมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

และแน่นอนว่า ด้วยปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตนเอง อย่างเช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ที่มีนํ้ามัน และทรัพยพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ขณะที่ อินเดีย กับ จีน มีจำนวนประชากรที่มาก ทำให้การผลิตและการบริโภคในประเทศที่สูง รวมถึงการส่งออกด้วย ส่วน บราซิล มีปัจจัยที่สำคัญคือมีการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนที่มาก ส่วนประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีทรัพยากรที่สำคัญแต่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากการลงทุน เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาเมื่อประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและมีแนวโน้มจะยังคงสูงขึ้นต่อไปอีก คือเรื่องของการลงทุน ที่เป็นเหมือนเงาที่เดินตามความเจริญเหล่านั้นไปตลอด โดยมีหลายประเทศที่ทั่วทั้งโลกได้พากันหอบเงินเข้าไปลงทุนจำนวนมาก เช่น จีน บราซิล อินเดีย และประเทศเกิดใหม่ในยุโรป ประเทศเกิดใหม่จึงเป็นเหมือนแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก

เห็นได้ชัดจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ประเทศเหล่านี้ได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastruger) เช่น การสร้งถนน รถไฟ สาธารณสุข รวมถึง ที่อยู่อาศัย อย่างต่อเนื่อง เช่น จีน อินเดีย เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนประเภทอื่นๆที่จะตามมารวมทั้ง ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกสินค้าก่อสร้างเหล่านี้ นอกจากนี้ การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นก็ยังเป็นที่ต้องการจากนักลงทุนทั่วโลกอยู่

...แต่จากวิกฤตของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศเกิดใหม่เหล่านี้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้รับกระทบโดยตรงจากสหรัฐก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบคือ บรรยากาศในการลงทุนที่ไม่ดี นักลงทุนยังไม่กล้าที่จะนำเงินเข้ามาลงทุน ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนต่างชาติ ต่างก็พากันเทขายทรัพย์สินที่ลงทุนในประเทศเกิดใหม่นี้เพื่อนำเงินกลับมารอดูท่าที หรือนำเงินกลับมาชดเชยกับธุรกิจของตนเองที่ได้รับผลกระทบ

เห็นได้ชัดเจนจากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในประเทศไทยเอง ที่เข้าไปลงทุนอยู่ในประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ เช่น กลุ่ม ประเทศ บริค ( BRIC : BRAZIL RUSSIA INDIA CHINA ) ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นกองทุนที่เข้าไปลงทุนอยู่ก็ได้รับกระทบทันที และ ไม่เพียงแต่กลุ่มประเทศเกิดใหม่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ประเทศหลายประเทศก็ได้รับเช่นกัน และส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการลงทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของประเทศเกิดใหม่ก็ยังคงเป็นที่น่าสนใจจากนักลงทุนอยู่

จุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด - กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์กันไว้ว่า กลุ่มประเทศเกิดใหม่จะมีทิศทางเศรษฐกิจไปในทิศทางที่แยกออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ G - 7 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างแน่นอน แต่เมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯขึ้น ส่งผลให้ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย ทำให้ที่คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจของ 2 กลุ่มประเทศจะแยกจากกันนั้นผิดไป

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของบรรดาประเทศเกิดใหม่นั้น ได้รับปัจจัยที่สำคัญมากจากเรื่องของการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อนื่อง แม้ว่าเมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงิน การเติบโตดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ตํ่าก็ตาม ขณะเดียวกัน วิกฤตที่ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเหล่านี้มากนัก ซึ่งยังคงเห็นได้ชัดว่าอัตราการเติบยังอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ในเรื่องการลงทุนได้รับผลกระทบโดยตรง

โดยในเรื่องการลงทุนนั้น "จุมพล" บอกว่า การลงทุนในตลาดหุ้น ของประเทศเกิดใหม่ที่มีการเทขายออกมาอย่างมากนั้น เป็นเพราะนักลงทุนต่างประเทศต้องการที่จะเทขายหุ้นและนำเงินลงทุนกลับมา โดยเฉพะบรรดานักลงทุนและสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องของตลาดหุ้นนั้นต้องมองแยกออกจากเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าตลาดหุ้นจะตกลงมาอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นตลาดหุ้นที่เป็นประเทศเกิดใหม่ ที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายแต่อย่างใด

"เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ในอนาคตแล้ว สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และในระยะยาวแล้วเรื่องของการลงทุนเป็นไปในทิศทางที่ดีมาก ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น และพันธบัตรรัฐบาล" จุมพลกล่าว

...คงเป็นที่ชัดเจนถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ไปว่า ประเทศที่จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแต่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปเท่านั้น แต่จะมีกลุ่มประเทศเกิดใหม่ซึ่งมี จีน เป็นผู้นำและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน โอกาสทางการลงทุนนั้นก็ดูเหมือนจะเปิดให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าความน่าสนใจในการลงทุนอยู่ที่ไหนและประเทศใดกันบ้าง ที่เหลือก็แต่รอรับความเสี่ยงจากการลงทุนกันเท่านั้นเองครับ
จุมพล สายมาลา

กำลังโหลดความคิดเห็น