xs
xsm
sm
md
lg

ภัยธรรมชาติกับจังหวะลงทุนสินค้าเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกวันนี้ กระแสการลงทุนผ่าน "คอมมอดิตี้" โดยเฉพาะพืชผลทางเกษตร เป็นที่คุ้นเคย หรือคุ้นหูของนักลงทุนชาวไทยอย่างดี เพราะมีบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งได้จัดตั้งกองทุนประเภทดังกล่าวออกมานำเสนอ โดยยกประโยชน์และข้อดีจากการลงทุนประเภทนี้มาแจกแจงกันแบบหลากหลายทฤษฎี แต่ประเด็นสำคัญที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านสินค้าเกษตรได้สูง คงหนีไม่พ้นความขาดแคลน อันเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ภัยธรรมชาติจะเป็นตัวแปรหลัก ที่สนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวขึ้นลงแล้ว สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญนั่นคือ "โอกาส หรือ จังหวะในการลงทุน" เพราะเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้ในระดับสูง และอาจขาดทุนได้ หากลงทุนโดยไม่เข้าใจ โอกาสและจังหวะที่ดี เหมือนดังคำเตือนยอดฮิต "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุน"นั่นเอง

"ภาวะสินค้าเกษตร (คอมมอดิตี) ในช่วงนี้ว่า เป็นช่วงที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในเรื่องของการบริโภค และการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันราคานํ้ามันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรได้รับความเสียหายนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นด้วย เช่น ภาวะนํ้าท่วมในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้สินค้าเกษตรได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังนั้นหากสินค้าเกษตรเกิดความขาดแคลนก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นทันที"

ธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด ให้ความเห็น พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าส่วนภาวะการลงทุนในสินค้าเกษตรนั้น แน่นอนว่ามีทั้งนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนเพื่อเก็งกำไรและเข้ามาลงทุนโดยมองที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนของปัจจัยพื้นฐานนั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ดีขึ้น เพราะราคาสินค้าเกษตรเป็นไปตามความต้องการของการอุปโภคและบริโภคที่สูงขึ้น รวมทั้งการลงทุนในสินค้าเกษตรไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหุ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น การลงทุนในสินค้าเกษตรถือเป็นอีกเครื่องมือที่สามารถป้องกันผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้

อย่างไรก็ตาม กูรูในด้านการลงทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปริมาณการเพาะปลูกพืชที่เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนมีมากกว่าการพืชเพื่อนำไปบริโภค ในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น นํ้าตาล กับ ข้าวโพด ซึ่งถือเป็นสินค้าเกษตรหลักที่ไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ จนทำให้สินค้าเกษตรเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ข้าว กาแฟ ถั่วเหลือง เป็นต้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตสินค้าเกษตรกันอย่างแพร่หลาย โดยประเทศที่ทำการเพาะปลูกพืชสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ประเทศบราซิล ซึ่งมีการผลิตสินค้าเกษตรออกมาในปริมาณที่มากและมีการส่งออกไปยังทั่วโลก ขณะที่กลุ่มประเทศที่นำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ คือประเทศในทวีปยุโรป เพราะมีพื้นที่เพื่อใช้เพาะปลูกไม่มากจึงอาศัยการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อบริโภคจากประเทศบราซิลแทน
ส่วนทวีปแอฟริกานั้น แม้จะมีความพยายามในการเพาะปลูกตามพื้นที่ต่างๆ แต่หลากฝ่ายเชื่อว่าคงไม่ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากเท่ากับหลายประเทศที่มีการเพาะปลูกอยู่แล้ว แม้ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาจะมีพื้นที่ว่างอยู่มากก็ตาม ซึ่งปัญหาหลักที่ทำให้การเพาะปลูกในทวีปดังกล่าวไม่น่าจะสามารถให้ผลผลิตมากนัก เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ ปริมาณฝนที่มีความไม่แน่นอน และที่สำคัญคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้อต่อเข้าการลงทุนซึ่งหากเข้าไปลงทุนแล้วจะทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น

"อย่างไรก็ตามตอนนี้การเข้าไปลงทุนในสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะมีความต้องการทั้งการอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ราคานํ้ามันที่สูงขึ้นนั้นยังเป็นตัวที่ทำให้สินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าราคานํ้ามันในอนาคตจะทรงตัวก็ตาม"

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองว่าการลงทุนในสินค้าเกษตรมีแนวโน้มดีเพราะตอนนี้ความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในสินค้าเกษตรมีความน่าสนใจ

ทั้งนี้ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการเพาะปลูกสินค้าเกษตร แต่มีเป้าหมายในการเพาะปลูกที่แตกต่างกันออกไป โดยประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยมีการเพาะปลูกเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ประเทศบราซิลนั้น เน้นการเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามทั่วโลกมีทิศทางที่เน้นการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคเป็นหลักมากกว่า

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มองอนาคตของทางเลือกการเพาะปลูกอย่างพืชจีเอ็มโอ ว่า ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า พืชจีเอ็มโอ น่าจะได้รับการยอบรับมากขึ้นโดนเฉพาะในเรื่องของการนำมาบริโภค แต่ในปัจจุบันพืชจีเอ็มโอ ถูกนำไปใช้ในเรื่องของพลังงานทดแทนมากกว่า ซึ่งจุดนี้ก็สามารถลดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตรในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น