xs
xsm
sm
md
lg

"จีเอ็มโอ" ยังไม่ใช่หนทางกู้วิกฤติอาหารแห่งภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤติอาหารกำลังคุกคามโลก พืชจีเอ็มโอจึงอาจถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้งในเอเชีย (ภาพจากรอยเตอร์ส)
ภาวะ "ข้าวยาก-น้ำมันแพง" ที่เรากำลังประสบพบเจอ โดยเฉพาะ “ข้าว” พืชอาหารสำคัญที่เคยผลิตกันได้มากล้น กลับได้ผลน้อยกว่าความต้องการ ราคาอาหารก็พลอยสูงขึ้นไปด้วย คำว่า “จีเอ็มโอ” หรือการดัดแปลงพันธุกรรมพืชจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง พร้อมกับคำถามว่า "พืชเทคนิคพิเศษ" เหล่านี้จะกู้วิกฤติอาหารได้หรือไม่

"พืชจีเอ็มโอ" เมืองไทยยังไม่ใช่ของง่าย

"แม้มุมมองนักวิชาการจะตรงกันว่า ประเทศไทยควรทำพืชจีเอ็มโอแล้ว แต่ก็ไม่ง่ายเลย"
ความเห็นของ ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) แกนนำสำคัญที่หนุนการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ในไทย เขาเปิดเผยต่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ถึงความคิดเห็นต่อการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้าช่วยในภาวะผลผลิตตกต่ำ 

ศ.ดร.สุทัศน์ย้ำว่า แม้ตัวเขาเองอยากเห็นการปลูกพืชอาหารจีเอ็มโอ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่อุปสรรคสำคัญคือขั้นตอนและระเบียบมากมายที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้

ยิ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐบาลชุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ 25 ธ.ค.50 ที่ดูเหมือนจะเป็น "ข่าวดี" เปิดให้มีการทดสอบภาคสนามพืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบ การประชาพิจารณ์ และต้องขอมติ ครม.ทุกครั้งเมื่อจะมีการทดลอง ทำ "มะละกอ" ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมลงทดสอบอย่างที่สุด ก็ยังไม่อาจทำได้ในเร็วๆ นี้

ยังคงไม่ต้องพูดถึง การทดสอบหรือการปลูกเพื่อการค้ากับพืชอาหารอย่างข้าวโพด และที่สำคัญที่สุดคือ “ข้าว” ที่สังคมยังไม่ยอมรับ

ประเทศเราจึงต้องคิดเรื่องนี้และดำเนินการอย่างชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว เราอาจไม่สามารถผลิตอาหาร ได้มากเพียงพอกับที่โลกต้องการให้เราทำ หลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่ก็สรุปว่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อผลิตอาหารในยุคที่เกิดวิกฤติอาหาร และยังถูกแบ่งไปใช้ผลิตพลังงานทางเลือกด้วย” ศ.ดร.สุทัศน์กล่าว

กระนั้น เสียงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงสถานการณ์พืชจีเอ็มโอในไทยว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอระดับภาคสนาม และยิ่งไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ดี หลังจากตลาดโลกเห็นชอบให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้าเมื่อปี 40 เป็นต้นมา ไทยก็นำเข้าพืชจีเอ็มโอเช่นกัน อาทิ มะละกอสด และมะเขือเทศสด รวมถึงถั่วเหลือง และข้าวโพดในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด รวมถึงอาหารสัตว์ โดยรัฐกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของพืชจีเอ็มโออยู่ใน 3 อันดับแรก และมีปริมาณมากกว่า 5% ของน้ำหนักต้องติดฉลากบอกผู้บริโภค ทว่าก็ล้มเหลวสิ้นเชิงและประชาชนแทบไม่มีส่วนรับรู้เลย

“จริงๆ แล้ววิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่การผลิตไม่พออย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการเข้าถึงอาหารของประชาชนด้วย บางประเทศใช้อาหารที่มีอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ขณะที่บางที่ไม่มีอาหารบริโภค" น.ส.ณัฐวิภากล่าว

"ส่วนอีกปัจจัยเป็นเรื่องการผลิตพลังงานชีวมวลที่มาแย่งส่วนแบ่งพืชอาหารไปอีก ขณะเดียวกันต้นทุนการเกษตรก็เพิ่มสูงขึ้น โดยมีผลวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าพืชจีเอ็มโอไม่ได้ช่วยให้ผลผลิตอาหารสูงขึ้นเลย หนำซ้ำยังน้อยกว่าพืชธรรมชาติด้วยซ้ำ และความปลอดภัยต่อการบริโภคก็ยังคลุมเครือ” ผู้รณรงค์จากกรีนพีซอธิบาย

แนะรักษาจุดขาย "ข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ"

อีกด้านหนึ่ง มุมมองจากนักวิจัย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักไบโอเทคชั้นนำและอดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ มองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนไทยควรพิจารณา โดยเฉพาะวิกฤติอาหารครั้งนี้ อาจทำให้คนไทยเปิดรับพืชจีเอ็มโอมากขึ้น เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะอดอยาก เช่น การทำจีเอ็มโอกับพืชอาหารที่ไทยมีปัญหาและมีประสบการณ์การใช้งานในต่างประเทศยาวนานอย่างมะละกอซึ่งเรานิยมบริโภคมาก

กระนั้น เขาปฏิเสธหนักแน่นว่าไม่เห็นด้วยหากจะทำจีเอ็มโอข้าวไทย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกสังคมมาก ที่สำคัญประเทศไทยควรรักษาจุดขายข้าวไทยให้เป็นข้าวบริสุทธิ์จากจีเอ็มโอ

ส่วนที่ข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิมีผลผลิตน้อยก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ของดีย่อมมีอยู่น้อย หากต้องการเพิ่มผลผลิตจริงๆ ก็เชื่อว่าจะเพิ่มผลผลิตได้อีกมากโดยไม่ต้องพึ่งการดัดแปลงพันธุกรรม เช่นการใส่ปุ๋ยในนาข้าวให้มากขึ้นนั่นเอง

ส่องเพื่อนบ้าน "เอเชีย" ยังลังเล

ขณะที่สถานการณ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมของประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีการนำเสนอโดยสำนักข่าวเอเอฟพี พบไปในทิศทางเดียวกันว่า พืชจีเอ็มโอยังไม่เป็นที่ยอมรับ แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติอาหารก็ตาม แต่บางประเทศก็พร้อมทบทวนอีกครั้งเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งยังไม่มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมีความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ทว่าได้นำเข้าผลผลิตจีเอ็มโอหลายชนิดเพื่อผลิตน้ำมันพืช อาหารสัตว์ และสินค้าสำเร็จรูปเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีเอกชนรายใดในญี่ปุ่นตัดสินใจวางขายอาหารพร้อมรับประทานที่ทำจากพืชจีเอ็มโอเลย เนื่องจากความกังวลของผู้บริโภคและข้อบังคับให้มีการติดฉลาก และยิ่งกฎระเบียบที่เข้มงวดก็ทำให้ไม่มีเอกชนรายใดกล้าลงทุนปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ แต่จากวิกฤติอาหารก็ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นอาจหันมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

ด้วยความกังวลอย่างรุนแรงจากสาธารณชน ที่มีต่อการบริโภคอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ก็ทำให้ไม่มีบริษัทญี่ปุ่นแห่งใดกล้าปลูกพืชชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์เลย” รมว.เกษตรญี่ปุ่นย้ำ แต่เนื่องจากการนำเข้าผลผลิตพืชจีเอ็มโอที่มากขึ้นและเพื่อสนองความต้องการอาหารในประเทศ เขาเผยว่าญี่ปุ่นอาจต้องทบทวนใหม่ถึงการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้าในประเทศ

ขยับมาที่เกาหลีใต้ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรรายหนึ่งเผยว่า เพิ่งมีการประกาศใช้กฎหมายควบคุมการนำเข้าพืชจีเอ็มโอที่มีความเข้มงวดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.51 ที่ผ่านมา โดยเกาหลีใต้ได้มีการทดลองพืชดังกล่าวในประเทศแล้ว แต่ยังไม่นำออกใช้เชิงพาณิชย์ และนานมากแล้วที่เจ้าหน้าศุลกากรเกาหลีใต้จะต้องตรวจสอบเมล็ดพืชจีเอ็มโอทันทีมาถึง

ยังไม่มีกรณีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอนำเข้ารายใด หรือแม้แต่ที่ปลูกในประเทศจะถูกใช้เพื่อการพาณิชย์ และเราจะไม่ผ่อนกฎเกณฑ์ใดๆ ลง แม้อาหารจะมีราคาสูงขึ้นก็ตามที” เขากล่าว

ส่วนมุมมองภาพรวมทั้งภูมิภาค นายเหอ ชางชุย (He Changchui) ผู้แทนภูมิภาคเอเชียในองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลใดในเอเชียที่จะผลักดันนโยบายพืชดัดแปลงพันธุกรรมเลย ซึ่งเขามองว่าประเทศต่างๆ ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนี้เพราะมีเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่อีกมากที่นำมาผลิตอาหารได้มากเพียงพอ

คุณไม่ต้องการมันหรอก แค่ให้ปุ๋ยให้น้ำก็พอแล้ว” นายเหอกล่าว โดยในประเทศจีนซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา คณะมุขมนตรีได้ออกกฎหมายพืชดัดแปลงพันธุกรรมในปี 2544 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมมาตรการความปลอดภัย การติดฉลาก การอนุญาตเพื่อผลิตและจำหน่าย และนโยบายการนำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่ปลอดภัย

นายเซียะ หยาง (Xie Yang) จากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนา มันสมองหลักของคณะมุขมนตรีจีน กล่าวหนักแน่นว่าจะไม่มีธัญพืชใดๆ รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมที่จะได้รับอนุญาตเพื่อการบริโภคในจีน แต่จะอนุญาตให้ใช้เพื่อแปรรูปที่ไม่ใช่การรับประทานโดยตรง เช่น การนำไปผลิตน้ำมันที่รับประทานได้ แต่ต้องติดฉลากอย่างชัดเจนด้วย

และแม้นักวิจัยจีนจะประสบความสำเร็จครั้งสำคัญกับการวิจัยข้าวและข้าวโพดจีเอ็มโอแล้วก็ตาม นายเซียะชี้ว่าจะไม่มีทางได้เห็นมันในท้องตลาดแน่นอน

"ปินส์" หนึ่งเดียวแห่งภูมิภาค อ้าแขนต้อนรับ

ทั้งนี้ อาจถือได้ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียอาคเนย์ หรือแม้แต่เเป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชีย ที่ยอมรับอาหารจีเอ็มโอในระดับพาณิชย์ก็ว่าได้ ซึ่งดาเนียล โอแคมโป (Daniel Ocampo) ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซประจำประเทศฟิลิปปินส์ชี้ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้สนับสนุนการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอเพื่อการค้าอย่างเปิดเผย

ทว่าในสายตาเขาแล้ว เทคโนโลยีดังกล่าวยังอีกยาวไกลกว่าที่ควรนำมาใช้ ยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคนิควิธีดั้งเดิมอีกมากที่ให้ผลผลิตพอๆ กัน

รัฐบาลอาจจะพูดว่าเพื่อให้ประเทศไม่ล้าหลังในการเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและทำให้ได้พืชผลเพิ่มขึ้น แต่ที่จริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพราะฟิลิปปินส์มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาก ไม่ว่าสหรัฐฯ จะมีนโยบายใดๆ เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอออกมา ฟิลิปปินส์ก็เดินตามไปเสียหมด” โอแคมโปวิเคราะห์ปิดท้าย.
ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม (ภาพจากเอเอฟพี)
สัญลักษณ์ตัวเอ็มถูกขีดฆ่าบนไร่ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านบริษัท มอนซานโต้ ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติที่ทำการพัฒนาพืชจีเอ็มโอ (ภาพจากเอเอฟพี)
ศ.ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ (ภาพจากไบโอเทค)
น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น