xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตอาหารซ้ำเติมคนจน จับตายักษ์ซีพีเดินเกมผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – วิกฤตการณ์อาหารปะทุซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อย-ชาวนาไร้ที่ดินทำกิน ขณะที่กลุ่มทุนพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ขูดรีดค่าเช่า บีบขายที่ดิน เผยบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ฉวยจังหวะผลักดันเชิงนโยบายให้รัฐฯสนับสนุนส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม กรุยทางสู่การผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวมูลค่ากว่าแสนล้านต่อปี เช่นเดียวกับการยึดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเบ็ดเสร็จ หวั่นยักษ์ใหญ่ใช้โมเดลผูกขาดการผลิตหมู ไก่ กุ้ง เป็นแม่แบบ กระทั่งกลายเป็นผู้กำหนดราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนทั้งประเทศในที่สุด

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) วิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์อาหารที่มาพร้อมกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุดว่า นับจากนี้อาหารจะไม่ใช่สินค้าราคาถูกอีกต่อไป ราคาอาหารจะผูกติดกับราคาน้ำมันมากขึ้นด้วยเหตุผลการเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่ผลิตพืชอาหารเป็นพืชพลังงาน และการนำผลผลิตอาหารมาแปลงเป็นพลังงาน ซึ่งวิกฤติอาหารเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดเพราะภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกลไกการค้าที่ไม่เป็นธรรม การเก็งกำไร รวมถึงการผูกขาดอาหาร ทำให้ประเด็นเรื่องอาหารเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมากกว่าการผลิตอาหารไม่เพียงพอ

***โอกาสทองบนความเสี่ยง

ส่วนประเด็นวิกฤติราคาอาหารเป็นโอกาสของชาวนาหรือไม่ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มองว่า ทั้งใช่และไม่ใช่ ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่ง หากชาวนาทำนาโดยพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกมาก เช่น ปุ๋ยเคมี น้ำมัน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก ต้นทุนการผลิตจะผูกติดกับราคาน้ำมันเพราะปัจจัยการผลิตที่กล่าวมาแล้วเกือบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งสิ้น ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าราคาปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มราคาน้ำมันเสียอีก

สอง ต้องตระหนักว่าราคาข้าวที่สูงมากในปีนี้อาจจะลดลงอย่างฮวบฮาบได้เมื่อข้าวนาปีทะยอยออกมาสู่ตลาด และการส่งออกของอินเดีย รวมทั้บเวียดนาม กลับเข้ามาสู่สภาวะปกติ ดังนั้นชาวนาที่ลงทุนในเรื่องการทำนาไปมาก จะได้ประโยชน์น้อยมากจนกระทั่งขาดทุนหากราคาข้าวลดลงเหลือ 7,000-8,000 บาท/ไร่ เพราะต้นทุนราคาปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ลดลงตามไปด้วย

สาม การทำนาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้พักดินและตัดวงจรศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูง และการใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่ทำลายแมลงที่มีประโยชน์จะทำให้เกิดโรคและแมลง ระบาดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้ชาวนาจำนวนมากด้วยประสบปัญหาล้มละลาย ฆ่าตัวตาย เหมือนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอยุธยาเมื่อเร็วๆนี้

สี่ เพลี้ยกระโดดระบาดในอดีตที่ผ่านมา (2533-2534) นั้นเกิดขึ้นกว้างขวางถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทำนาทั้งหมด และทำให้การส่งออกข้าวของประเทศไทยลดลงถึง 50% (จากตัวเลขการส่งออก 4 ล้านตัน เหลือเพียง 2 ล้านตันเท่านั้น) หากโรคระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งชาวนาจะย่ำแย่หนักกว่าเดิม

****ศึกชิงที่ดิน-น้ำ ปะทุ

นายวิฑูรย์ ยังวิเคราะห์ว่า วิกฤตการณ์การแย่งชิงที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรจะปะทุขึ้นมาซ้ำเติมเกษตรกรและชาวนาอีกด้วย กล่าวคือ ราคาอาหารที่สูงขึ้นจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อเกษตรกรรายย่อยและต่อเกษตรกรและชาวนาไร้ที่ดินซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย สัดส่วนของชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเองมีสูงถึง 40เปอร์เซ็นต์ของชาวนาทั้งหมด ในขณะที่ในพื้นที่ภาคกลางสัดส่วนชาวนาไร้ที่ดินสูงถึง 70-90 เปอร์เซ็นต์

เมื่อราคาข้าวและอาหารสูงขึ้นจ ะทำให้เจ้าของที่ดินเพิ่มราคาค่าเช่าสูงขึ้น ดังที่ขณะนี้ค่าเช่านาได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 2 เท่าแล้ว โดยในบางพื้นที่ ราคาค่าเช่านาถูกโก่งสูงถึง 2,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต แต่ที่จะกระทบมากที่สุดคือเจ้าของที่ดินมาทำการเกษตรเสียเองเพราะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าการให้เช่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันการทำนาทำได้ง่ายขึ้นมากเพราะชาวนาขณะนี้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง มิใช่ชาวนาตามแบบในอดีตแต่เป็น "ผู้จัดการนา" กล่าวคือ ทำนาโดยการจ้างให้ผู้อื่นไถนา หว่านข้าว ฉีดสารเคมี และเก็บเกี่ยวแทน

แนวโน้มที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่ในสาขาเกษตรอยู่แล้วและสาขาอื่นหันมากว๊านซื้อที่ดินเพื่อปลูกข้าวและปลูกพืชพลังงานเสียเอง ปรากฎการณ์นี้จะสร้างแรงกดดันในการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นไปอีก เกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินจะไม่สามารถแข่งขันในการเสนอราคาค่าเช่ากับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ราคาที่ดินที่สูงขึ้นยิ่งจะทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องขายที่ดิน สัดส่วนเกษตรกรไร้ที่ดินจะเพิ่มขึ้นไปอีก ปรากฎการณ์นี้จะเป็นปรากฎการณ์เดียวกันที่เคยเกิดขึ้นกับเกษตรกร ชาวประมง และชุมชนท้องถิ่นที่ถูกเบียดขับออกไปโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการพัฒนาอุตสาหกรรรม ในหลายพื้นที่ของประเทศ

การแย่งชิงน้ำทั้งในพื้นที่ชลประทานและในเขตพื้นที่ต้นน้ำจะเกิดขึ้น หากไม่มีการบริหารและจัดการที่ดี โดยมีแนวโน้มว่าการใช้น้ำจะถูกกลุ่มทุนหรือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่านำทรัพยากรน้ำไปใช้ประโยชน์แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย และการลงทุนด้านการชลประทานที่ไม่มีการปฏิรูปที่ดินรองรับจะเป็นผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

****จับตายักษ์ใหญ่ยึดตลาดเมล็ดพันธุ้ข้าว

นายวิฑูรย์ ยังชี้ว่า วิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) เสนอให้ประเทศที่ผลิตข้าว เปลี่ยนเทคโนโลยีในการปลูกข้าวมาเป็นการใช้พันธุ์ข้าวลูกผสม โดยสร้างความร่วมมือระหว่างอีรี่กับบริษัทเมล็ดพันธุ์เอกชนหลายบริษัท ซึ่งแท้จริงแล้วพันธุ์พืชลูกผสมไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2503 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนบัดนี้ประเทศฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องข้าวได้ การหวังว่าการหันมาใช้พันธุ์ข้าวของอีรี่แล้วทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะอย่าว่าแต่ใช้พันธุ์ข้าวของอีรี่เลย แม้แต่การตั้งสถาบันวิจัยข้าวในฟิลิปปินส์แท้ๆ ยังไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้ จนบัดนี้ฟิลิปปินส์ยังต้องนำเข้าข้าวถึงปีละ 2 ล้านตัน

ในอดีตที่ผ่านมา การใช้พันธุ์ข้าวของอีรี่ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ย และสารเคมีการเกษตร แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องแลกกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และต้องแลกกับการสูญเสียแหล่งอาหารอื่นๆไป เช่น ผัก ปลา หรือการเลี้ยงสัตว์ในไร่นา เพราะเป็นการผลิตเชิงเดี่ยว

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จากการศึกษาซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยตนเองและนายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ เรื่อง “จากปฏิวัติเขียวสู่พันธุวิศวกรรม ประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย” พบว่า การทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยใช้พันธุ์ข้าวดั้งเดิมให้ผลิตภาพมากกว่า ได้อาหารตอบสนองต่อครอบครัวมากกว่า ฐานทรัพยากรอาหารมีความมั่นคงและยั่งยืนกว่า ในขณะที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสม มิใช่เทคโนโลยีที่ริเริ่มโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติแต่ประการใด แต่เป็นผลงานของนักการเกษตรจีน "หยวน หลอง ปิง" โดยใช้พันธุ์ข้าวที่เกสรตัวผู้เป็นหมัน ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์มีความยุ่งยากมากกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไป โดยหัวใจสำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมอยู่ที่การมีพันธุ์พ่อแม่ซึ่งเมื่อผสมพันธุ์กันแล้วจะได้ลูกเอฟ-1 เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่ายแก่เกษตรกร โดยในทางทฤษฎีแล้วพันธุ์พืชลูกผสมจะสามารถยกระดับเพดานของผลผลิตให้เพิ่มขึ้นประมาณ 20% (แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างอื่นด้วย เช่น สภาพของดินที่เหมาะสม การจัดการเรื่องน้ำ และการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพียงพอ)

“เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมมีราคาแพงเพราะ หนึ่ง ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ยุ่งยาก สอง พันธุ์พ่อแม่ที่ใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเป็นความลับทางการค้าและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และสาม เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกรอบของการผลิตเนื่องจากพันธุ์พืชลูกผสมไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อได้”

พันธุ์พืชลูกผสมจึงเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เช่นเดียวกับพันธุ์พืชจีเอ็มโอ เนื่องจากทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ หรืออีกในแง่หนึ่งคือบริษัทสามารถผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้โดยสะดวก ราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจะมีราคาแพงกว่าพันธุ์พืชทั่วไปประมาณ 1,000 เปอร์เซ็นต์
 
ดังนั้น ถ้าหากสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พันธุ์ข้าวซึ่งเป็นพันธุ์ผสมเปิด(Open pollinated seed)ที่เกษตรกรสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ได้มาเป็นข้าวลูกผสม(Hybrid seed) จะทำให้บริษัทเอกชนมีโอกาสทางการตลาดเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านบาท โดยคิดจากความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ล้านตัน และราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม 150 บาท/กิโลกรัม

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย คือกรณีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซึ่งเมื่อสองทศวรรษที่แล้วเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 90% เป็นเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดซึ่งเป็นผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์(public research) แต่หลังการส่งเสริมการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวโพดเป็นข้าวโพดลูกผสม ตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดป็นของบรรษัทข้ามชาติทั้งหมด โดยประมาณ 80%อยู่ในมือของเจริญโภคภัณฑ์และมอนซานโต้

การส่งเสริมให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายของกรมการข้าวซึ่งแต่เดิมไม่มีนโยบายในการส่งเสริมพันธุ์ข้าวลูกผสม คือการส่งเสริมบริษัทเอกชนและบรรษัทข้ามชาติให้เข้ามาผูกขาดพันธุ์ข้าวในท้ายที่สุดนั่นเอง เพราะหน่วยงานของรัฐไม่มีศักยภาพพอที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์(seed supply) ตัวอย่างเช่น หน่วยงานของรัฐสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เพียงปีละ 60,000-70,000 ตัน/ปีเท่านั้น

ดังนั้น การผลิตอาหารของประเทศโดยให้บรรษัทข้ามชาติหรือบริษัทเอกชนรายเดียวผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักสำคัญของเราจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงอาหารในที่สุด

“การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมหมายถึงการเพิ่มต้นทุนในการทำนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งที่เป็นน้ำมันโดยตรง หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันฟอสซิล ไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดในสถานการณ์วิกฤติการณ์น้ำมัน เพราะผลผลิตที่อาจจะเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของประเทศ แต่เป็นผลกำไรของบรรษัท”

การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวโดยเอาแนวความคิด ที่มองมิติเรื่องข้าวในเชิงสินค้าล้วนๆ จะเป็นการบั่นทอนความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และประเทศโดยส่วนรวม การนำเอาโมเดลการเกษตรของเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งผูกขาดการผลิตไก่ หมู กุ้ง และอาจรวมถึงข้าวโพด มาใช้กับการผลิตข้าว จะทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี เครื่องจักรกลการเกษตร และรวมถึงการพึ่งพาตลาดจากบริษัท และบริษัทจะเป็นผู้กำหนดราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานของคนในประเทศในที่สุด

บริษัทเหล่านี้ไม่เคยมีมิติเรื่องอิสรภาพของเกษตรกร การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหารของประเทศ แต่พร้อมจะเปลี่ยนการผลิตไปยังที่ใดในโลกก็ได้ ถ้าหาก มีวัตถุดิบราคาถูก แรงงานราคาถูก หรือพร้อมจะเอาวัตถุดิบและแรงงานราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อผลกำไรของบรรษัท แต่ไม่เคยมองการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น

***จีเอ็มโอ ยิ่งไม่ใช่ทางออก

ส่วนกรณีการใช้พันธุ์พืชจีเอ็มโอ ยิ่งไม่ใช่ทางออก เพราะจากการศึกษาประสบการณ์ในประเทศสหรัฐในช่วง 8 ปีที่ปลูกจีเอ็มโอ ดร.ชาร์ลส์ เบ็นบรู๊ค (Charles Benbrook) อดีตผู้อำนวยการสภาวิจัยการเกษตรแห่งชาติ ของสหรัฐพบว่า ผลผลิตของพืชจีเอ็มโอไม่ได้สูงไปกว่าพันธุ์พืชโดยทั่วไปและมีการใช้สารเคมีโดยภาพรวมมากกว่าเดิม

นอกจากนั้น จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเนบราสกา ในสหรัฐเมื่อปี 2007 ปี พบว่าถั่วเหลืองจีเอ็มโอซึ่งเป็นพืชจีเอ็มโอที่ปลูกมากที่สุดในโลก มีผลผลิตน้อยกว่าถั่วเหลืองทั่วไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองและฝ้ายจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนรวมกันมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปลูกพืชทั่วไป แต่หากพิจารณาดูปริมาณการใช้สารเคมีจะพบว่ามีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีปราบวัชพืช

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการใช้สารปราบศัตรูพืชก่อนการนำพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกเมื่อปี1995 เปรียบเทียบกับปี 2006 พบว่ามีการใช้สารเคมีปราบวัชพืชในถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 10.4 เท่า, ฝ้าย 9 เท่า และเข้าวโพด 7.9 เท่าตามลำดับ

ตาม สถิติการใช้สารเคมีกำจัดแมลงนับตั้งแต่ปี 1995 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการปลูกพืชจีเอ็มโอพบว่า แนวโน้มการใช้สารเคมีฆ่าแมลงในถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนในกรณีฝ้ายนั้นมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างปี 1995-2001 มีเฉพาะปี 2003 เท่านั้น ที่ปริมาณการใช้สารเคมีฆ่าแมลงลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามมีกรณีข้าวโพดเท่านั้นที่มีแนวโน้มการใช้สารเคมีลดลงในบางปี (ยกเว้นปี 1997 และปี 2000)

“การใช้พันธุ์พืชจีเอ็มโอเพื่อแก้วิกฤติการณ์อาหารจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำให้เกิดผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นหลายเท่า ที่สำคัญที่สุดคือ ตลาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอนั้นอยู่ในมือของบริษัทมอนซานโต้บริษัทเดียวมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหาร” นายวิฑูรย์ กล่าว
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

กำลังโหลดความคิดเห็น