xs
xsm
sm
md
lg

โลกร้อนกระทบข้าวแพง เสนอตั้ง "ความมั่นคงทางอาหาร" เป็นวาระแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถกผลกระทบโลกร้อนต่อภาวะข้าวยากหมากแพง เอ็นจีโอจี้รัฐหากไม่จัดการให้เหมาะสม เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะระบาดในพื้นที่ปลูกนับล้านไร่ ส่งผลการใช้สารเคมีกระทบต่อสุขภาพผู้คนตามมา หวั่นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯได้รับผลกระทบชัดสุด อีกทั้งถูกกระแสพืชพลังงานแย่งพื้นที่ เกรงเกษตรกร 8 แสนครัวจะถูกนายทุนเรียกคืนที่ดินเข้าฟันกำไรเอง เสนอรัฐดัน "ความมั่นคงอาหาร" เป็นวาระแห่งชาติ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) แถลงข่าว "เตือนภัยโรคระบาด และวิกฤติชาติที่มาพร้อมกับข้าวราคาแพง" ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เม.ย.51 ณ สำนักงาน ส.ส.ส.เขตพญาไท กรุงเทพฯ

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลถึงการปลูกข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และไทย รวมถึงการที่บางประเทศมีนโยบายเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไปเป็นพืชพลังงานมากขึ้นเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่จะเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวตกต่ำและมีราคาแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 2 เท่าในปัจจุบัน

จากปัญหาดังกล่าวหากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมเชื่อว่าเมื่อชาวนาปลูกข้าวต่อเนื่องตลอดปีจะทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ปลูกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีการเกษตรจำนวนมากและส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคตามมา

น.ส.ทัศนีย์ชี้ว่า ปัจจุบันเกษตรกร 66% ของไทยเป็นชาวนา โดย 20 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ทำนาได้ลดลงถึง 10 ล้านไร่จนเหลืออยู่เพียง 50 ล้านไร่ สาเหตุเพราะชาวนาไม่สามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้เพราะกลไกราคาที่ไม่เป็นธรรม กำไรโดยมากตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางและนายทุน ซึ่งรัฐบาลได้หันมาส่งเสริมปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นๆ แทน และเมื่อเกิดวิกฤติพลังงานเมื่อปี 47 ก็ส่งเสริมปลูกพืชพลังงานทั่วประเทศจนกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในที่สุด

"อย่างพื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้จะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวนาปีที่ต้องอาศัยน้ำฝน เกษตรกรจึงหันมาปลูกพืชพลังงานอย่างอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมักแก้ปัญหาแบบเลื่อนลอย ไฟไหม้ฟางไปตามกระแส โดยไม่มีนโยบายความมั่นคงด้านอาหารที่ชัดเจน" น.ส.ทัศนีย์กล่าวและชี้แจงเพื่อไม่ให้สังคมเข้าใจผิดว่า การที่ข้าวมีราคาแพงไม่ได้ส่งผลให้ชาวนาร่ำรวยขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงทำให้เกิดกลไกราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาจากปัญหาข้าวราคาแพง นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิขวัญข้าวเผยว่า เมื่อราคาข้าวสูงขึ้นจะทำให้นายทุนเจ้าของที่ดินหันมาปลูกข้าวเองมากขึ้น เพราะจะมีรายได้จากการทำนาสูงขึ้น 5-6 พันบาท/ไร่ หรือ 5-6 เท่าจากการปล่อยเช่าพื้นที่แก่ชาวนาในมูลค่า 1 พันบาท/ไร่/ปี

มาตราการหนึ่งที่นายทุนใช้คือการขอเพิ่มค่าเช่าที่ซึ่งบางรายขอขึ้นค่าเช่าแล้วเท่าตัว กระทบถึงชาวนา 811,871 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง หรือแม้แต่การผลักดันภาครัฐให้มีการจัดสรรพื้นที่การเกษตรใหม่ที่นายทุนจะได้ประโยชน์ และอาจมีการสอดแทรกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เข้ามาอีกด้วย

"ปัญหาภาวะโลกร้อนและการขยายพื้นที่ปลูกยังจะทำให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำตามมา ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองจะมีปัญหาในการเข้าถึงอาหารเนื่องจากอาหารมีราคาสูงขึ้น" ประธานมูลนิธิขวัญข้าวกล่าว

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ในนามตัวแทน 4 องค์กรพัฒนาเอกชน คือ ไบโอไทย มูลนิธิขวัญข้าว มูลนิธิเกษตรยั่งยืน และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แถลงข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย

สำหรับแผนระยะสั้นมี 3 ข้อได้แก่ 1.การเตรียมรับมือกับปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐต้องยุติการแจกจ่ายสารเคมีการเกษตรทุกชนิดที่ส่งผลให้เกิดการระบาดมากขึ้น ขณะที่ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอลง แต่ควรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมตามวิถีธรรมชาติ อาทิ ปุ๋ยชีวภาพ การควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยตัวห้ำตัวเบียน และสารสกัดจากพืช

2.การคุ้มครองชาวนาและผู้เช่าที่ดินเพื่อการเกษตรตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร 2524 เช่นในมาตรการ 26 ที่ให้การเช่ามีวาระไม่น้อยกว่า 6 ปี กรณีที่ผู้ให้เช่านาจะยกเลิกการเช่าต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี และ 3.การสร้างหลักประกันแก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรในโรงงาน และคนยากจนในเมืองในให้เข้าถึงอาหารที่มีราคาเป็นธรรมได้

"ส่วนข้อเรียกร้องระยะยาวอีก 3 ข้อ คือ 1.การผลักดันการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรให้เกษตรกรกว่า 8 แสนครัวเรือนมีที่ดินของตัวเอง 2.การปฏิรูประบบเกษตรกรรมที่ยึดแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพึ่งพาตัวเองของเกษตรกรรายย่อย และ 3.การจัดวาระแห่งชาติว่าด้วยการปฏิรูปฐานทรัพยากร เกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง" ผู้จาก4 องค์กรสรุป.



กำลังโหลดความคิดเห็น