xs
xsm
sm
md
lg

MFCเดินหน้าตั้งกองทุนลุยAFETคาดระดมทุนได้ไตรมาสแรกปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.เอ็มเอฟซี เดินหน้าตั้งกองทุนรวม ลุยสินค้าเกษตรล่วงหน้า ล่าสุด ร่วมลงนาม "AFET -สมาคมยางพาราไทย" ศึกษารูปแบบกองทุนอย่างเป็นรูปธรรม เผยในเบื้องต้น ประเดิมลงทุนยางพาราก่อน เหตุสภาพคล่องสูง และอาจจะตั้งเป็นอินเด็กซ์ เพราะเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และพัฒนาไปถึงอนุพันธ์ได้ คาดไตรมาสแรกของปีหน้าได้เห็นหน้าตากองทุน


นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงนามกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเทศไทย (AFET) สมาคมยางพาราไทย ในการศึกษาการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในตลาด AFET โดยรูปแบบกองทุนในเบื้องต้น โดยมีรูปแบบกองทุนในเบื้องต้น คือมีอายุกองทุน 10 ปี มูลค่าโครงการเริ่มแรกประมาณ 50 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะขยายกองทุนต่อไปในอนาคตให้ได้ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการระดมเงินทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในเบื้องต้นก่อน และเมื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์เป็นที่รู้จักกว้างขวางแล้ว จึงจะขยายการลงทุนไปยังนักลงทุนรายย่อยต่อไป โดยในช่วงแรกนั้น กองทุนจะลงทุนยางพาราก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นจึงจะขยายไปสู่สินค้าประเภทอื่น

สำหรับรูปแบบการลงทุนในเบื้องต้น อาจจะตั้งเป็นอินเด็กซ์ เนื่องจากเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถึงแม้จะเสียหายยังไงก็ไม่ติดลบ เพราะอินเด็กซ์ยังไงก็มีการซื้อขายกันอยู่ ขณะเดียวกัน การลงทุนในรูปแบบอินเด็กซ์ สามารถพัฒนาไปถึงการลงทุนในแบบอนุพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบในส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) เพื่อเปิดทางให้กองทุนสามารถลงทุนในสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้เต็ม 100% จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนไว้เพียง 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ ร่างกฏระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการประกาศใช้เท่านั้น

"การลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันศึกษารูปแบบการลงทุนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในช่วงแรก คงจะเป็นการลงทุนในยางพาราก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด ซึ่งสภาพคล่องถือเป็นหัวใจสำคัญของกองทุน ดังนั้น การลงทุนในยางน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และการลงทุนรูปแบบของอินเด็กซ์ จะเริ่มต้นได้ดีที่สุด และสามารถลงทุนได้ทุกสินค้าด้วย กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ น่าจะมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต โดยนับเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุน ที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอีกด้วย "นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ากองทุนดังกล่าว จะสามารถจัดตั้งได้ประมาณไตรมาสแรกของปีหน้า เนื่องจากต้องรอกระบวนการการแก้ไขหลักเกณฑ์ด้วย โดยในเบื้องต้น คาดว่าจะระดมทุนจากกลุ่มผู้ลงทุนกลุ่มแรก ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) บริษัทสมาชิกของสมาคมยางพาราไทย โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และบริษัทสมาชิกสมาคมยางพาราไทย จะร่วมลงทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป นับจากวันที่เริ่มลงทุน โดยสัดส่วนที่เหลือจะเปิดให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ร่วมลงทุน ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการระดมทุนเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป

นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเทศไทย กล่าวว่า จากภาวะการซื้อขายในเอเฟทที่ผ่านมาปริมาณการซื้อขายได้ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางของสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 และข้าวขาว 5% ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการส่งออกของโลก สินค้าทั้งสองชนิด เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตทางการเงินโลกในขณะนี้จะสังเกตว่าราคาของสินค้าทั้งสองชนิด ได้รับผลกระทบในทิศทางที่ลดลงและมีความผันผวนมากกว่าในอดีตหลายเท่า แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากที่ระดับราคาจะกลับไปอยู่ในระดับต่ำเช่นในอดีต ดังนั้น การที่บลจ.เอ็มเอฟซี ได้มีการจัดตั้งกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้น จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการลงทุนที่นักลงทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนที่สูง จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยที่มีผู้บริหารการลงทุนแบบมืออาชีพ

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินค้าเกษตรล่วงหน้า จากข้อมูลที่ผ่านมา ราคายางมีความผันผวนต่อราคาอยู่ที่ 20-25% ส่วนข้าวในช่วงต้นปียังนิ่งๆ อยู่ที่ 3.5% ก่อนจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 29.9% ส่วนมันสำปะหลังอยู่ที่ 6-6.5% ซึ่งความผันผวนต่อราคาดังกล่าว จะบอกได้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ที่เท่าไหร่

ส่วนมูลค่าการตลาดของ AFET ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ยางพาราประมาณ 90% ส่วนที่เหลือเป็นสินค้าประเภทอื่นๆ ในขณะที่สัดส่วนการลงทุน ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 40% ซึ่งลดลงจากช่วงแรกที่มีสัดส่วนถึง 90% และอีก 60% เป็นสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป โดยในจำนวนนี้ มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติอยู่ประมาณ 4-5%

ด้านหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สินค้ายางพาราเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักทางด้านการค้าและการส่งออกของประเทศอีกทั้งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งและยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนในการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก เพิ่มอุปทาน เพื่อที่จะสามารถรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศบ้าง แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอุปสงค์ยังคงมีสูงอยู่

สำหรับราคายางพารา ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวน แต่คาดว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อสถานการณ์ด้านการเงินโลกมีการคลี่คลายลง ดังนั้น การที่ บลจ.เอ็มเอฟซี มีความคิดที่จะจัดตั้งกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์กองแรกที่ลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 ใน AFET ด้วยแล้วนั้น จึงนับว่ามีความเหมาะสมและมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น