xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสลงทุนในตลาด"AFET" ความน่าสนใจมี...แต่โปรดักส์ยังน้อยไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันการค้าขายในทรัพยากรธรรมชาติ เช่น นํ้ามัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ มีความไม่แน่นอนในเรื่องของราคาเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และที่สำคัญจำนวนที่มีอยู่ในโลกใบนี้นั้นมีจำนวนที่จำกัด เพราะต้องมีวันที่มหดไปจากโลกนี้แน่นอน

และในด้านหนึ่ง...สำหรับอาชีพที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในการค้าขายสินทรัพย์ทางการเกษตร ก็คือ เกษตรกร รวมถึงพ่อค้าคนกลาง ที่ต้องพบเจอกับความเสี่ยงในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น...จึงเกิดตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยขึ้นมา (The Agriculturl Future Exchange of Thailand : AFET) เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญให้แก่ผู้ที่ทำอาชีพในด้านนี้ ได้บริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตร ด้วยการทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Future Contract)

โดยผู้ที่เข้ามาทำการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ก็สามารถที่จะประกันความเสี่ยงในเรื่องของราคาที่อาจมีความผันผวนได้ เมื่อถึงวันที่มีการส่งมอบสินค้าในอนาคต โดยในภาคเกษตรกรรมนั้น นอกจากจะได้รับประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านราคาแล้ว ยังได้รับข้อมูลราคาล่วงหน้าอย่างทั่วถึง ทำให้การวางแผนเพาะปลูกโดยรวมมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรได้ด้วย

ปัจจุบัน สินค้าที่มีการซื้อขายล่วงหน้าใน AFET นั้น ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และมันสำปะหลังเส้น ทางด้านสินค้ายางพาราของ AFET นั้น ในช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นและมากกว่าในตลาดล่วงหน้าของสิงคโปร์และตลาดล่วงหน้า โอซาก้า

ที่น่าสนใจ ราคายางพาราล่วงหน้าของ AFET ได้ถูกนำไปใช้เป็นดัชนี้อ้างอิงราคาที่สำคัญในตลาดค้ายางของโลก นอกเหนือจากการอ้างอิงราคายางล่วงหน้าที่โตเกียว เซี่ยงไฮ้ และ สิงคโปร์ รวมถึง ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของประเทศญี่ปุ่น (Central Commodity Exchange หรือ C-COM)  ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายยางพาราล่วงหน้าแห่งใหญ่แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่มีการทำสัญญาซื้อขายทั้งยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ได้มีการนำราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ของ AFET ไปรวมเข้าไว้ในการคำนวณดัชนีราคายางดังกล่าวด้วย เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนราคายางในตลาดโลกได้ดีขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง...ไม่เพียงแต่เกษตรกรหรือผู้ที่ทำการค้าในด้านนี้โดยตรงเท่านั้น ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายล่วงหน้า นักลงทุน ก็สามารถเข้ามาหาผลประโยชน์จากเข้ามาลงทุนในตลาดล่วงหน้าแห่งนี้ได้เช่นกัน และยังถือเป็นการกระจายความเสี่ยงมายังกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ด้วย

ดร.นิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET กล่าวถึงยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ต้องการที่จะให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทย เป็นที่ยอมรับทั้งจากในและต่างประเทศ โดยที่สามารถใช้ราคาที่ตลาดล่วงหน้าของไทยนี้ เป็นการค้าระหว่าง รัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี ได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นช่องทางในการเข้ามาลงทุนของ นักลงทุนสถาบัน กองทุนรวมรวมทั้งกองทุนส่วนบุคคล ด้วยเพื่อเป็นการหาผลตอบแทน ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่าง ตลาดทุนกับตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในปี 2552 ยุทธศาตร์หนึ่ง คือ การขยายฐานการลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งมีทั้งการเพิ่มช่องทางการซื้อ-ขายล่วงหน้า กับโบรกเกอร์ของทางหลักทรัพย์และ โบรกเกอร์ในต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง กองทุนรวม สินค้าเกษตรล่วงหน้า ของทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ ซึ่งในเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวนี้ ทางด้านผู้จัดการกองทุน ได้มองเรื่องนี้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

ธีระ ภู่ตระกูล กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บลจ. ฟินันซ่า จำกัด มองว่า การจัดตั้งกองทุนรวมสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น ทาง บลจ. ฟินันซ่า กำลังติดตามดูอยู่ แต่ขณะนี้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าดังกล่าว มีปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง ขณะเดียวกันสินค้าเกษตรที่ทำการซื้อขายในตลาดมีน้อยมาก ซึ่งน่าจะมีมากกว่านี้ และหากมองแนวโน้มแล้วถือว่า ต่างประเทศเริ่มเข้ามาให้ความใจและใช้ตลาดล่วงหน้าของไทยในการอ้างอิงราคา ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะประเทศไทยเองเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในเรื่องข้าว แต่กลับต้องไปอ้างอิงอยู่ตลาดล่วงหน้าที่ประเทศญี่ปุ่น

สอดคล้องกับ ธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ. ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการตั้งกองทุนสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่สินค้าที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดยังมีน้อยเกินไป ซึ่งหากเข้าไปลงทุนเพียงสินค้าที่มีอยู่จะส่งผลให้ราคามีการแกว่งตัวมาก ซึ่งการลงทุนในสินค้าเกษตรนั้น ต้องลงทุนในหลายๆ ชนิดเพื่อกระจายความเสี่ยงออกไป ดังนั้น ต้องมองหาว่าจะมีสินค้าตัวใดบ้างที่สามารถเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าได้อีก

ขณะเดียวกัน เรื่องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดล่วงหน้านั้น จะต้องมีการดำเนินการในเรื่องของการให้ความรู้แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน รวมทั้งในเรื่องของบัญชีการซื้อขาย เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกันการลงทุนในหุ้นมากกว่าตลาดล่วงหน้า

ส่วนแนวโน้มของตลาดล่วงสินค้าเกษตรล่วงหน้า "ธีรนาถ" กล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า การมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของแต่ละประเทศนั้น จะมีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือยังไม่ดีเท่ากับ การมีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่เป็นความร่วมมือกันของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ซึ่งน่าจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าในการอ้างอิงราคาในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงป็นเรื่องที่ท้ายสำหรับ AFET ในขณะนี้ มีปัจจัยต่างๆ ได้แก่ วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปถึงตลาดทุนทั่วโลก การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรของทางรัฐบาล การนำราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยไปใช้อ้างอิงกับตลาดในต่างประเทศ รวมถึงการหาสินค้าใหม่ที่เหมาะสมเข้ามาซื้อขายล่วงหน้า และการให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจ ในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า

"อาจพูดได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจของโลกเกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลให้สินค้าประเภทคอมมอดิตีเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะนักลงทุนนั้นไม่มีที่จะไปลงทุน จึงได้พากันนำเงินลงทุนมาพักไว้ที่นี่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาสินค้าเกษตรอาจเปลี่ยนแปลงไปในอีกทิศทางหนึ่งก็เป็นได้" ดร.นิทัศน์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น