“พิชิต” ชี้ช่องลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์เอาชนะเงินเฟ้อระยะยาว ระบุความต้องการสูงจากจีน-อินเดีย เพื่อพัฒนาพื้นฐานของประเทศ ปัจจัยหนุนราคาสูงต่อ พร้อมจับจังหวะตั้งกองทุนลุยตลาด AFET ไม่ห่วงสภาพคล่องต่ำ เพราะถ้าไม่มีใครเริ่มต้น สภาพคล่องก็จะไม่มี คาดระดมทุนภายในปีนี้ ล่าสุด เตรียมดึง “จิม โจเจอร์ส” กูรูด้านตลาดโภคภัณฑ์ระดับโลก ให้ข้อมูลถึงไทย 21 ส.ค.นี้
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ทิศทางของการลงทุนหลังจากนี้ คงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สามารถป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันได้ โดยสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี) ถือเป็นการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจทางหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้
ทั้งนี้ จากการมีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาระยะยาวที่ยังไม่จบง่ายๆ เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่ระดับสูงต่อไป โดยมีปัจจัยมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยระยะสั้น แต่หากมองแนวโน้มระยะกลางถึงระยะยาว ความต้องการสินค้าพื้นฐานเหล่านี้เพื่อพัฒนาพื้นฐานของประเทศจะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะการบริโภคจากประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
“ทั้งสองประเทศมีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากรัฐบาลเองมีความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถูกลากขึ้นมาโดยความต้องการของทั้งสองประเทศไม่ใช่แค่ 10% เท่านั้นแต่สูงถึง 100% ดังนั้น ความต้องการสินค้าพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการบริโภคในประเทศด้วย จึงน่าจะเป็นโอกาสการลงทุนในระยะยาว”นายพิชิตกล่าว
นายพิชิตกล่าวว่า การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์มีความสัมพันธ์กับการลงทุนพื้นฐาน เช่น หุ้นหรือตราสารหนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การกระจายการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย จึงถือเป็นช่องทางในการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันสินค้าเหล่านี้ ยังมีความน่าสนใจในตัวของมันเอง และยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นด้วย
ดังนั้น บริษัทจึงมีความสนใจจะต้องกองทุนรวมขึ้นมาเพื่อลงทุนในสินค้าที่ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับ AFET ในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งรูปแบบของการระดมลงทุนในเบื้องต้น เงินลงทุนส่วนหนึ่งจากมาจากนักลงทุนสถาบันและส่วนหนึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนจาก AFET เอง โดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนได้ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัจจุบันตลาด AFET ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กและมีสภาพคล่องต่ำ เนื่องจากมีสินค้าที่ซื้อขายกันอยู่ 2 ประเภทเท่านั้น นั่นคือ ข้าวกับยางพารา แต่หากไม่มีการลงทุนเข้ามาเลย สภาพคล่องก็จะไม่เกิด อีกทั้ง สินค้าในตลาด AFET เองก็มีสินค้าที่ตลาดอื่นไม่มี จึงเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสอีกเยอะ ดังนั้น การจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า AFET เองก็ให้ความสนใจที่จะเพิ่มสภาพคล่องของตลาดให้สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ากองทุนน่าจะลงทุนในข้าวก่อน ส่วนเงินระดมทุนอยากเห็นประมาณ 100 ล้านบาท
นายนิทัศน์ ภัทรโยธิน กรรมการและผู้จัดการ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตลาด AFET ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมีการซื้อขายเฉลี่ย 800 สัญญาต่อวัน นอกจากนั้น ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศด้วย โดยมีวอลุ่มประมาณ 2% จากการลงทุนของโบรกเกอร์ที่เข้ามาทดลองตลาดเพื่อกลับไปแนะนำให้ลูกค้าต่อไป ขณะเดียวกัน ยังมีนักลงทุนจาก 80 ประเทศทั่วโลกเข้ามาเปิดดูเว็บไซด์ของ AFET ด้วย
โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา การลงทุนในยางพาราให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4.5% ในขณะที่ข้าวให้ผลตอบแทนประมาณ 2.7% ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การลงทุนในยางให้ผลตอบแทนประมาณ 3% แล้วการลงทุนในข้าวให้ผลตอบแทน 9% ซึ่งในปีนี้ ถือว่าการลงทุนในข้าวค่อนข้างผันผวนมากกว่า ส่วนแนวโน้มในครึ่งปีหลังนั่น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ทั้งนี้ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯ ได้จับมือกับบลจ.เอ็มเอฟซี จัดงาน “Jim Rogers Live in Bangkok” ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง Commoditirs : The Thailand’s Opportunity เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ให้กับนักลงทุน โดยม.จิม โจเจอร์ส ถือเป็นกูรูด้านตลาดโภคภัณฑ์ระดับโลก และเป็นผู้คิดค้นดัชนีโภคภัณฑ์ Rogers International Commoditirs Index (RICI Index) โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2551 เวลา 18.30-21.30 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ