บลจ.ยูโอบีปิดไอพีโอ “ยูโอบี สมาร์ท ไฟเนียลเชียล ออพพอร์จูนนิตี้” ระดมทุนได้ 90 ล้านบาท ชี้ผลการระดมทุนเป็นไปตามคาดการณ์ เพราะนักลงทุนกังวลตลาดหุ้นผันผวน และสถานการณ์ในตลาดโลกไม่เป็นใจ แถมข่าวลบเพียบ ด้านผู้จัดการกองทุนเตรียมจับจังหวะเข้าลงทุน หลังจากมีเงินในพอร์ตแล้ว เหตุหากเข้าลงทุนช้าอาจจะสายเกินไป
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท ไฟเนียลเชียล ออพพอร์จูนนิตี้ (UOB Smart Financials Opportunities Fund : UOBSFO) มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท อายุโครงการ 5 ปี ซึ่งจะเน้นลงทุนในสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และทวีปยุโรปที่ได้รับปัญหาจากวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐ (ซับไพรม์)แต่ยังมีแนวโน้มที่เติบโต และมีโอกาสในการฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง โดยได้ทำการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) และครั้งเดียวระหว่างวันที่ 7-14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สามารถระดมทุนได้ประมาณ 90 ล้านบาท
ส่วนสาเหตุที่สามารถระดมทุนกองทุนดังกล่าวได้น้อย โดยช่วงนี้นักลงทุนวิตกกังวลเรื่องการลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้นมีความผันผวน และสภาวะการณ์ในตลาดโลกที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ประกอบกับมีข่าวในด้านลบเข้ามากระทบมาก อย่างไรก็ตาม กองทุนไม่ได้คาดหวังว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนมาก โดยจะเน้นขายนักลงทุนที่มีความเข้าใจ และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้
ขณะเดียวกัน ผู้จัดการกองทุนจะทยอยเข้าลงทุน โดยจะดูจังหวะ และหุ้นที่จะซื้ออีกครั้ง แต่ช่วงนี้นับว่าหุ้นมีราคาต่ำสุดแล้ว และราคาได้ลงมา เมื่อระดมทุนได้แล้ว จึงเป้นช่วงที่เหมาะสมจะเข้าไปลงทุน หากเข้าไปลงทุนช้ากว่านี้อาจจะสายเกินไป ที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี
สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี สมาร์ท ไฟเนียลเชียล ออพพอร์จูนนิตี้ มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน United Financials Opportunities ซึ่งเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund) ซึ่งจัดตั้งและบริหารจัดการโดย UOB Asset Management ประเทศสิงคโปร์ โดยมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ตราสารทุนจำนวน 10 – 20 หลักทรัพย์ ของสถาบันการเงินระดับโลก ทั้งนี้กองทุนจะหาโอกาสทำกำไรจากการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมการเงิน นอกจากนั้น อาจทำการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินด้วย
โดยบริษัทจัดการจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน United Financials Opportunities โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
สำหรับการลงทุนในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยนั้น บริษัทจัดการจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก และ/หรือตราสารแห่งหนี้ทั่วไป และ/หรือเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ที่มีอายุของตราสาร หรือสัญญา หรือระยะเวลาการฝากเงิน แล้วแต่กรณี น้อยกว่า 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน
ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Hedging) เท่านั้น แต่จะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Notes)
อนึ่ง กองทุนมีเงื่อนไขว่าหากภายใน 3 ปีแรก มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนหลักเพิ่มขึ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 100% ของราคาเสนอขายครั้งแรก (มูลค่าหน่วยลงทุนเริ่มต้นของกองทุนหลักเท่ากับ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์) กองทุน UOBSFO จะทำการยกเลิกโครงการก่อนกำหนด
"ไม่ได้บอกว่าหุ้นที่กองทุนเข้าไปซื้อจะไม่ลงไปลึกกว่านี้ ความเป็นไปได้ที่จะลงต่อก็อาจจะมีแต่คงไม่มากกว่านี้เท่าไหร่แล้ว เพราะที่ระดับราคานี้ก็นับว่าถูกมากแล้วและปัญหาซับไพรม์คงน่าจะใกล้ถึงจุดเลวร้ายที่สุดแล้ว เห็นได้จากดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯที่มีการปรับตัวลดลงถึง 33% และราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีซื้อขายอยู่ที่ 0.8 เท่า ดังนั้นโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวมีความเป็นไปได้มาก แต่แนะนำให้ลงทุนระยะยาว 3 ปี ขึ้นไป"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่าในครั้งที่ประกาศจัดตั้งกองทุน
ส่วนเหตุผลที่เลือกลงทุนในหุ้นสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรป เพราะวิกฤตที่ผ่านมาพบว่าประเทศที่พัฒนาความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ค่อนข้างน้อยและปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีอัตราการฟื้นตัวเร็วกว่า
ขณะที่การเลือกหุ้นของกองทุนนี้จะพิจารณาจากบริษัทที่ค่อนข้างมีพื้นฐานดี โดยเลือกบริษัทที่มีแฟรนไชส์แข็งแกร่งมีสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ดี อีกทั้งเป็นบริษัทที่มีธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง แม้จะประสบปัญหาภาวะถดถอยของอุตสาหกรรม นอกจากนี้มีศักยภาพในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตผ่านธุรกิจที่หลากหลาย