xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไรตลาดจะถึงจุดต่ำสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมความเสี่ยง
บลจ.อยุธยา จำกัด

จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้ท่านนักลงทุนหลายท่านเริ่มสนใจที่จะกลับเข้ามาลงทุน เนื่องจากราคาหุ้นถูกลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์หลายรายแนะนำว่าราคาหลักทรัพย์ที่ว่าต่ำอยู่แล้ว อาจจะได้เห็นราคาต่ำกว่านี้ก็ได้ ส่งผลให้นักลงทุนหลายท่านลังเลที่จะลงทุนในทันที และคำถามยอดฮิตที่ตามมาก็คือ “เมื่อไรตลาดจะถึงจุดต่ำสุด” หรือ “ตอนนี้เข้าซื้อได้หรือยัง”

คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ คงไม่มีใครตอบได้ถูกต้องหรอกครับว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ที่ใดและเมื่อไร แม้แต่นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟ็ต ก็คงไม่อาจให้คำตอบได้ ในตอนที่ เซอร์ จอห์น เท็มเปิลตัน และเบ็นจามิน เกรแฮม (อาจารย์ผู้สอน วอร์เรน บัฟเฟ็ต ให้รู้จักการลงทุน) ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เคยให้คำตอบว่าจุดต่ำสุดของตลาดขาลงแต่ละช่วงอยู่ที่จุดใด

สำหรับตัวผมเอง ซึ่งความสามารถยังห่างไกลจากนักลงทุนอัจฉริยะทั้ง 3 ท่านมาก ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้เช่นเดียวกันครับ แต่นอกเหนือจากวินัยการลงทุน ที่ต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมนำมาปรับใช้ก็คือ พื้นฐานเบื้องต้นของการลงทุนที่ว่า การลงทุนเป็นการคาดหวัง (expectation) ถึงผลตอบแทนในอนาคต ผมจึงถามตัวเองว่า ณ ราคาหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ผมคาดหวังที่จะเห็นอะไรในอนาคต คำตอบสำหรับตัวผมเองก็คือ ผมคาดว่าจะได้ผลตอบแทนสะสม (ไม่รวมผลตอบแทนเงินปันผล) ไม่น่าจะต่ำกว่า 100% ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือคิดแบบผลตอบแทนทบต้น (compound return) ก็จะได้ผลตอบแทนปีละ 14.87% ต่อปีเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งถ้าหากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงแล้ว โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าน่าลงทุนอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าในระยะหนึ่งปีข้างหน้า ราคาหุ้นอาจมีโอกาสปรับตัวลดลงอีกก็ตาม แต่การทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีส่วนช่วยลดต้นทุน ทำให้มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า 14.87% ต่อปี ซึ่งผมถือว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นโบนัส เพราะผมเองก็ไม่ทราบว่าตลาดจะลงต่อหรือไม่ และลงต่อไปอีกเท่าใด แต่ผมคาดหวังว่าอย่างน้อยผมน่าจะได้ผลตอบแทนที่คาดหวังคือ 14.87% ต่อปีในช่วง 5 ปีถัดจากนี้ไป

อย่างไรก็ตาม ผมเองก็เคยเขียนบทความในหัวข้อ Market timing ไว้แล้วว่า การหาจังหวะการลงทุนเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ โดยในบทความผมได้นำเสนอว่า นักลงทุนที่นิยมวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่า การใช้ข้อมูลทางสถิติ จะสามารถหาสัญญาณของตลาดได้ เพราะข้อมูลทางสถิติจะบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของตลาด (market behaviour) บางประการ เช่น ตลาดอยู่ในภาวะขายมากเกินไป ตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนทิศทาง เป็นต้น และนักลงทุนที่นิยมการใช้ market timing มองว่า ความสำเร็จในการทำ market timing ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกต้อง 100% การทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้ market timing แล้ว และการไม่ใช้ market timing อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างกำไรในช่วงตลาดขาขึ้น หรืออาจขาดทุนในช่วงตลาดขาลงได้

แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว ซึ่งมักจะไม่สนใจเรื่องของความผันผวนของตลาด แต่จะสนใจในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์มากกว่า และมักจะนิยมลงทุนในช่วงที่ตลาดอยู่ในภาวะที่คนทั่วไปมองว่าแย่ ซึ่งผมขอยกคำกล่าวของ Baron Rothschild ที่ผมได้เคยนำเสนอไปแล้วมานำเสนออีกครั้ง โดย Rothschild กล่าวไว้เมื่อช่วงศตวรรษที่ 18 ว่า “Buy when there’s blood in the streets, even if the blood is your own” ซึ่งตีความได้ว่า “ซื้อในขณะที่ทุกคนมองว่าแย่ แม้ว่าคุณเองก็มองว่าแย่เหมือนกัน” ซึ่งนักลงทุนประเภทนี้ มักจะมองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤตเสมอ หากท่านนักลงทุนติดตามข่าวอย่างสม่ำเสมอ คงจะพบข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟ็ต ได้เข้าลงทุนในหุ้นหลายๆตัวแล้ว เพราะเขามองว่าเป็นโอกาสที่เขาสามารถซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีและมีอนาคตในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยเขาคาดว่าการลงทุนในครั้งนี้น่าจะทำกำไรได้มากในระยะยาว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บัฟเฟ็ตไม่ได้สนใจว่า ในระยะสั้นหุ้นที่เขาลงทุนจะเป็นอย่างไร แต่เขาสนใจที่มูลค่าที่แท้จริงและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในอนาคต

ดังนั้น การจะหาคำตอบจากผมว่าตลาดจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไร ผมคงให้คำตอบไม่ได้ เพราะแม้แต่นักลงทุนอันดับหนึ่งของโลกก็ยังไม่เคยตอบคำถามนี้ ในตอนที่วิทยานิพนธ์ ผมเองก็เคยลองทดสอบใช้โมเดลต่างๆประมาณ 1,000 โมเดล เพื่อใช้ทำนายราคาหุ้นในระยะสั้น ก็ไม่พบว่าโมเดลใดที่สามารถให้ผลใกล้เคียงมากกว่า 80% โดยโมเดลส่วนใหญ่ให้ผลถูกต้องประมาณ 50 – 60% เท่านั้น ดังนั้น การที่จะทำนายราคาหุ้นหรือดัชนีในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่สำหรับระยะยาวแล้ว ผมเคยทดสอบโดยใช้ valuation ratio ของ John Y Campbell และ Robert J Shiller กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย พบว่า ในระยะยาวค่า P/E และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล จะอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย โดยหากค่าทั้งสองนี้เคลื่อนออกจากค่าเฉลี่ย ก็จะปรับกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในเวลาไม่นาน ซึ่งสอดคล้องกับบทศึกษาของ Campbell และ Shiller ที่ให้คำตอบไปในทิศทางเดียวกัน

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น