xs
xsm
sm
md
lg

Market Timing

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
บลจ.อยุธยา จำกัด


คำถามที่นักลงทุนมักจะถาม โดยเฉพาะในช่วงตลาดขาลง ก็คือ ลงทุนได้หรือยัง? ถ้าเป็นในตลาดขาขึ้น ก็มักจะถามว่าควรขายดีหรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานมีราคาถูกหรือแพง มุมมองที่มีต่อตลาด สภาวะตลาด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไม่มีใครบอกได้ถูกต้อง 100% ตลอดเวลาว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงเมื่อใด

Market timing เป็นการพยากรณ์ทิศทางตลาด โดยใช้วิธีวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งก็คือการวิเคราะห์ทางสถิติ และการวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ตัวอย่างเช่น ในตลาดขาลง นักลงทุนมักจะพยายามมองหาจุดต่ำสุด เพื่อที่จะหาจังหวะเข้าลงทุน การทำ market timing ยังรวมถึง การหาจังหวะสับเปลี่ยนการลงทุนระหว่างหลักทรัพย์ในกลุ่มต่างๆ (เช่น เปลี่ยนจากลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นลงทุนในกลุ่มพาณิชย์) การหาจังหวะสับเปลี่ยนการลงทุนระหว่างประเภทหลักทรัพย์ (เช่น เปลี่ยนจากลงทุนในหุ้น เป็นลงทุนในตราสารหนี้)

ในทางวิชาการ นักวิจัยหลายท่านเชื่อว่าการใช้ market timing ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยผลงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การพยากรณ์ราคาหุ้นหรือทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงสั้นๆ (น้อยกว่า 5 ปี) ไม่สามารถกระทำได้ แต่อาจจะสามารถกระทำได้สำหรับการพยากรณ์ในช่วงระยะเวลายาวกว่า 5 ปี ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่าตลาดหุ้นมีลักษณะเป็น efficient market กล่าวคือ ราคาหุ้นได้ตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ในตลาด ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีนักลงทุนท่านใดจะสามารถเอาชนะตลาดได้ตลอดเวลาโดยการใช้ข้อมูลที่ตลาดรับรู้แล้ว และการทำ market timing จะก่อให้เกิดต้นทุนทางด้านการทำธุรกรรม (transaction cost) มากขึ้น เพราะการทำ market timing จะนำไปสู่จำนวนครั้งในการซื้อขายมากขึ้น สำหรับตัวอย่างบทวิจัยเกี่ยวกับ market timing ที่น่าสนใจได้แก่ Likely Gains from Market Timing ของ William Sharpe ที่ตีพิมพ์ใน Financial Analysts Journal ปี 1975 ซึ่งบทวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า จากการใช้ข้อมูลของตลาดหุ้นในช่วงปี 1934 – 1975 นักลงทุนจะต้องทำ market timing ให้ถูกอย่างน้อย 83% จึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการซื้อหุ้นแล้วถือไว้ (buy and hold) อย่างไรก็ตาม การซื้อแล้วถือจะมีความเสี่ยงมากกว่าการทำ market timing เพราะการทำ market timing จะมีบางช่วงที่ถือครองสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น ตราสารหนี้ หรือเงินฝาก อยู่ด้วย ในขณะที่การซื้อแล้วถือจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้น เมื่อปรับผลตอบแทนกับความเสี่ยงแล้ว Sharpe ระบุว่า นักลงทุนจะต้องทำ market timing ให้ถูกต้องอย่างน้อย 74% จึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการซื้อแล้วถือ ที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่นิยมวิเคราะห์ทางเทคนิคได้แย้งว่า การใช้ข้อมูลทางสถิติ จะสามารถหาสัญญาณของตลาดได้ เพราะข้อมูลทางสถิติจะบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของตลาด (market behaviour) บางประการ เช่น ตลาดอยู่ในภาวะขายมากเกินไป ตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนทิศทาง เป็นต้น และนักลงทุนที่นิยมการใช้ market timing มองว่า ความสำเร็จในการทำ market timing ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกต้อง 100% การทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้ market timing แล้ว และการไม่ใช้ market timing อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างกำไรในช่วงตลาดขาขึ้น หรืออาจขาดทุนในช่วงตลาดขาลงได้

จะเห็นได้ว่า หากมองในแง่ของวิชาการ การใช้ market timing เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และอาจไม่คุ้มค่าที่จะทำ ในขณะที่ในแง่ของนักลงทุน การทำ market timing จะช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ ซึ่งนับเป็นมุมมองที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละบุคคล

สำหรับการวัดความสำเร็จของการทำ market timing อาจวัดง่ายๆโดยการดูจำนวนครั้งหรือสัดส่วนที่คาดการณ์ภาวะตลาดได้ถูกต้องเมื่อเทียบกับจำนวนครั้งที่คาดการณ์ผิดพลาด หรืออาจจะวัดโดยวิธีทางสถิติที่ซับซ้อนขึ้นโดยการคำนวณสมการถดถอย (regression analysis) ดังต่อไปนี้

Rp – Rf = a + b(Rm – Rf) + c[(Rm – Rf)Dt] + ep

โดย Rp คือผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน Rf คือผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น พันธบัตรรัฐบาล Rm คือผลตอบแทนของตลาด หาก Rm > Rf ค่า Dt = 1 แต่ถ้า Rm < Rf ค่า Dt = 0 ค่า b คือค่าเบต้าในตลาดขาลง b + c เป็นค่าเบต้าในตลาดขาขึ้น โดย c เป็นผลต่างของเบต้าตลาดระหว่างขาขึ้นและขาลง และค่า ep เป็นค่าความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการคำนวณ

สำหรับการลงทุนของทางเรา ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ทางเราจึงเน้นการซื้อขายโดยวิเคราะห์จากราคาหลักทรัพย์เป็นหลัก โดยจะเข้าซื้อหากเห็นว่าราคาหลักทรัพย์ลดลงมากกว่าราคาพื้นฐาน และขายทำกำไรหากเห็นว่าราคาสูงกว่าพื้นฐาน ในส่วนของ market timing ทางเราได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนอยู่บ้าง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น สำหรับท่านนักลงทุนทั่วไปที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำ market timing ได้ดี อาจลงทุนโดยการทยอยลงทุน ซึ่งจะช่วยเฉลี่ยต้นทุนให้ถูกลง หากตลาดยังคงลงต่อ และช่วยหลีกเลี่ยงการลงทุนในขณะที่ตลาดมีราคาสูงเกินไปได้ครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น