xs
xsm
sm
md
lg

Sharpe Ratio

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส
บลจ.อยุธยา จำกัด


ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้อธิบายถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลตอบแทนการลงทุนแบบง่ายๆโดยวิธี drawdown analysis ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยใช้การดูกราฟและดูข้อมูลดิบโดยตรง ในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอวิธีวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (risk-adjusted return) วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คือ Sharpe ratio

สำหรับสาเหตุหลักที่ผมนำเสนอเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นวิชาการอยู่มากก็เพราะในปัจจุบัน มีท่านนักลงทุนหลายท่านที่ลงทุนโดยผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนที่ท่านนักลงทุนได้รับทราบ อาจจะแฝงมาด้วยระดับความเสี่ยงที่สูง หรืออาจจะเป็นจังหวะที่วันที่ประกาศผลตอบแทนเป็นวันที่กองทุนทำผลตอบแทนการลงทุนได้มากกว่าปกติก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้าวันที่จะประกาศผลตอบแทนตอนสิ้นเดือน กองทุนอาจจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ แต่พอวันที่ประกาศผลตอบแทน ผลตอบแทนของกองทุนอาจเป็นบวก เพราะหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุนปรับตัวขึ้นสูง และพอวันหลังจากที่กองทุนประกาศผลตอบแทน ผลตอบแทนของกองทุนอาจกลับมาเป็นลบ เพราะหลักทรัพย์ที่กองทุนนั้นถืออยู่ถูกเทขาย ส่งผลให้ผลตอบแทนโดยรวมกลายเป็นติดลบก็เป็นได้ การดูผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลายๆช่วง เช่น ผลตอบแทน 3 เดือนย้อนหลัง ผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง อาจจะช่วยทำให้ท่านนักลงทุนเห็นความสม่ำเสมอของผลตอบแทนได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ท่านจะไม่เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของความผันผวนเป็นเท่าใด

Sharpe ratio เป็นชื่อวิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนที่ตั้งตามชื่อผู้คิดค้น ก็คือ William Forsyth “Bill” Sharpe ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับคนที่คิดค้นทฤษฎี Capital Asset Pricing Model หรือ CAPM และได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1990 หลักการคิดง่ายๆ ก็คือ ผลตอบแทนที่ได้ในส่วนที่สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง (risk-free asset) เมื่อนำมาเทียบกับค่าความเสี่ยง หรือค่าความผันผวน หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) จะมีค่าเท่าใด ซึ่งสามารถแสดงได้ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ดังนี้

Sharpe Ratio = (ผลตอบแทนของกองทุน – ผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง)/ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

สำหรับผลตอบแทนของตราสารที่ไม่มีความเสี่ยง โดยทั่วไปแล้วจะใช้ค่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีซึ่งเป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก แต่เนื่องจากนักลงทุนไทยโดยทั่วไปไม่นิยมลงทุนในระยะยาวมากนัก จึงอาจใช้ ThaiBMA index total return แทนได้ หรือหากท่านนักลงทุนบางท่านต้องการเพียงเทียบกับผลตอบแทนจากการฝากเงินในธนาคาร ก็สามารถนำอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาใช้คำนวณแทนได้เช่นกัน

การเปรียบเทียบค่า Sharpe ratio สามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น เปรียบเทียบกับค่า Sharpe ratio ของกองทุนนั้นในหลายๆช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนจากระดับความเสี่ยงในแต่ละช่วง นอกจากนี้ ท่านนักลงทุนสามารถเปรียบเทียบค่า Sharpe ratio ของกองทุน กับค่า Sharpe ratio ของตัวเปรียบเทียบ (benchmark)ในแต่ละช่วงได้ด้วย เช่น ท่านนักลงทุนอาจเปรียบเทียบค่า Sharpe ratio ของกองทุนหุ้นในช่วง 6 เดือน และ 1 ปี กับค่า Sharpe ratio ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดียวกัน หรือเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกันก็ได้ โดยค่า Sharpe ratio ที่สูงกว่า จะหมายถึงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง 1 หน่วย เช่น กองทุน A, B และดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีค่า Sharpe ratio เท่ากับ 1.02, 0.8 และ 0.7 ตามลำดับ หมายความว่า กองทุน A เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุน B และดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง 1 หน่วย ในขณะที่กองทุน B ถึงแม้จะให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงด้อยกว่ากองทุน A แต่ก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของค่า Sharpe ratio อาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขในสมการ ตัวอย่างเช่น ค่า Sharpe ratio ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจมีสาเหตุมาจาก
1. ผลตอบแทนของกองทุนสูงขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า หรือระดับความเสี่ยงคงที่หรือลดลง

2. ผลตอบแทนของกองทุนทรงตัว ในขณะที่ระดับความเสี่ยงลดลง

3. ผลตอบแทนของกองทุนลดลง ในขณะที่ระดับความเสี่ยงลดลงในอัตราที่สูงกว่า

4. ผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงลดลง

หวังว่าเรื่องที่ผมนำเสนอในวันนี้คงไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจนะครับ อย่าลืมนะครับว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และผลตอบแทนในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคตครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น