xs
xsm
sm
md
lg

บริหารพอร์ตการลงทุนด้วย Dollar Cost Averaging

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากประสบการณ์ในการลงทุนที่นักลงทุนทุกท่านต้องเผชิญก็คือ เมื่อเวลาที่ตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์ตัวใด ราคาของหลักทรัพย์นั้นมักจะปรับตัวลดลง และเมื่อใดที่นักลงทุนตัดสินใจขายหลักทรัพย์นั้น ราคาของหลักทรัพย์ก็มักจะปรับตัวสูงขึ้น ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะดวงหรืออะไร โดยทั่วไปแล้วท่านตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์นั้นๆก็ต่อเมื่อท่านได้วิเคราะห์แล้วว่า หลักทรัพย์นั้นจะมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่ก็คงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไรที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง เมื่อไรที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ต่ำที่สุด และขายในได้ราคาที่สูงที่สุด คำถามที่มักจะเกิดขึ้นในใจทุกๆคนอาจมีอยู่ว่า มีวิธีใดที่ทำให้นักลงทุนสามารถลดต้นทุนของการลงทุนในแต่ละครั้งได้บ้าง คำตอบที่อยากจะนำมาเสนอแนะจะมีอยู่ในบทความนี้

การเลือกตัดสินใจลงทุนอะไรสักอย่าง นักลงทุนทุกท่านคงต้องเลือกวิธีการและรูปแบบลงทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวท่านเอง และสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและศึกษาอย่างลึกซึ้งนั้น ควรจะเริ่มด้วยเป้าหมายก่อน ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของความจริง โดยนักลงทุนต้องเข้าใจในลักษณะของความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนนั้นๆก่อนเพื่อที่จะปรับให้เข้ากับรูปแบบการลงทุนที่ท่านรับได้ เช่น ถ้าท่านสามารถรับความเสี่ยงได้น้อยก็ควรลงทุนในตลาดตราสารเงิน ถ้าท่านสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้นก็อาจจะลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนก็ได้

ในปัจจุบันนี้สถานการณ์ของเศรษฐกิจมีความผันผวนค่อนข้างมาก และในการที่จะสร้าง portfolio ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ควรเริ่มจาก
**1)มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม (Diversification)** คือ เลือกที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่างกัน หรือ อีกนัยหนึ่งควรลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การลงทุนในพันธบัตร และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

2)เน้นการลงทุนที่มีคุณค่า (Value Investing) กล่าวคือ การลงทุนต้องมุ่งหวังผลกำไรระยะยาว และเลือกหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือมีพื้นฐานที่ดี ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่คำนึงถึงผลตอบแทนที่มั่นคงก็อาจลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หรือถ้านักลงทุนต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอก็ควรจะลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพ

ทั้งสองหลักการที่กล่าวมาถือเป็นการสร้างความมั่นคงสู่การลงทุนในทุกๆรูปแบบการลงทุน แต่คำถามที่ตามมาอาจเกิดขึ้นว่า “มีวิธีใดซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายของการลงทุนที่สามารถลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ และรักษาระดับผลตอบแทนได้” และสามารถสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาของหลักทรัพย์ และราคาทรัพย์สินสุทธิของกองทุนต่างๆ หรือ NAV
คำตอบในสไตส์ของ “9 สู่การลงทุน” ก็คือ นักลงทุนควรลงทุนอย่างมีแบบแผนด้วยการสร้างวินัยในการลงทุนโดยวิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืน (long-term wealth) ให้แก่นักลงทุนได้

การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) คือ วิธีในการลดความเสี่ยงของตลาด (market risk) จากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยการสร้างวินัยในการซื้อหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส และตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก โดยแทนที่จะซื้อหลักทรัพย์เป็นก้อน (lump sum) ทีเดียว ก็ซื้อเป็นจำนวนน้อยๆและมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนของการลงทุนและปกป้องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของหลักทรัพย์นั้นๆมีความผันผวนมากขึ้น
ขั้นตอนของการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ

1)นักลงทุนควรกำหนดเงินที่นักลงทุนคิดจะลงทุนก่อน โดยต้องพิจารณาถึงความสามารถในการลงทุนว่าท่านมีรายได้เท่าไร และเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ควรจะลงทุนเท่าไร

2)เลือกลงทุนในหลักทรัพย์หรือกองทุนที่ท่านคิดว่าจะลงทุนระยะยาว (5-10 ปี) ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF

3)ท่านควรกำหนดช่วงเวลาให้แน่นอนว่า ท่านสะดวกที่จะลงทุนทุกๆสัปดาห์ทุกๆเดือน หรือทุกๆไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนจะขึ้นหรือลง

ตัวอย่าง สมมุติว่านักลงทุนตั้งใจจะลงทุนในกองทุนตราสารทุน โดยลงทุนจำนวน 10,000 บาท ทุกๆเดือน เป็นเวลา 6 เดือน

ตามตัวอย่างจะเห็นได้ว่านักลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้นเมื่อราคาต่ำลง และซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลงเมื่อราคาสูงขึ้น เมื่อคิดต้นทุนเฉลี่ยแล้วจะเห็นได้ว่าราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนจะถูกว่าการลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว

ยิ่งถ้านักลงทุนประยุกต์การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนไปใช้กับการลงทุนกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวมแล้ว ท่านสามารถที่จะลดความเสี่ยงได้ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1)ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาตลาด (market risk) ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้โดยการใช้วิธีการลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ดังที่ได้กล่าวมา

2)ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากบริษัทหรือหลักทรัพย์ที่เลือกลงทุน (company specific risk) โดยความเสี่ยงชนิดนี้สามารถลดลงได้เมื่อท่านลงทุนผ่านการบริหารจัดการของกองทุนรวมต่างๆ ซึ่งท่านสามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับ risk profile ของท่านได้

สรุป : การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ถือเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนระยะยาวอย่างมีระเบียบแบบแผน และยังช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุนที่มีต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์นั้นๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืนให้แก่นักลงทุน หวังว่าอีกเกล็ดความรู้ของ“9 สู่การลงทุน” ที่นำมาเสนอแนะในบทความนี้จะทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจวิธีการบริหารเงินอีกมุมมองหนึ่ง และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ ถ้าท่านมีความคิดเห็นหรือคำแนะนำใดๆ ท่านสามารถส่งมาได้ที่ teerasaknrn@au.edu นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น