xs
xsm
sm
md
lg

LTF (Long-Term Equity Fund) และ RMF (Retirement Mutual Fund)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

" วันนี้ขอทบทวนความเข้าใจของนักลงทุนทุกท่าน ด้วยการอธิบายส่วนสำคัญๆของ LTF และRMF ว่ามีเงื่อนไขในการลงทุนอย่างไร ถ้าเข้ามาลงทุนแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้จะเป็นอย่างไรและกองทุนมีนโยบายการลงทุนอย่างไร"



บทความนี้ “9 สู่การลงทุน” ขอทบทวนความเข้าใจของนักลงทุนทุกท่าน ด้วยการอธิบายส่วนสำคัญๆของ LTF และRMF ว่ามีเงื่อนไขในการลงทุนอย่างไร ถ้าเข้ามาลงทุนแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้จะเป็นอย่างไรและกองทุนมีนโยบายการลงทุนอย่างไร รวมทั้งตัวอย่างผลตอบแทนของแต่ละกองทุนที่โดดเด่น ผมขอรวบรวมและบรรยายให้นักลงทุนได้เข้าใจพอสังเขป ดังนี้

จุดมุ่งหมายในการจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ก็เพื่อต้องการเพิ่มสัดส่วนของผู้ลงทุนสถาบันไทยในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยลดการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ และสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยเนื่องจากกองทุน LTF เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง และเน้นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนนอกเหนือจากผลตอบแทนปกติแล้ว ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมด้วย

เงื่อนไขการลงทุนในเรื่องของเงินลงทุน ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้สูงถึง 15% ของรายได้ต่อปี แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท (ในขณะนี้กำลังจะแก้ไขเป็น 500,000 บาท ซึ่งคงต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการ)

เงื่อนไขสำหรับการถือครอง ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน โดยนับจากปีที่นำเงินมาลงทุน ตัวอย่างเช่น ลงทุนซื้อ LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2549 ตามเงื่อนไขต้องถืออีก 5 ปี เมื่อเข้าปีที่ 5 คือ ปี 2553 ท่านก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้เลย ถ้านับเวลาแล้วเราลงทุนแค่ 3 ปีกว่าเท่านั้นเอง

เงื่อนไขในเรื่องของความต่อเนื่องในการลงทุน กองทุน LTF ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ปีไหนต้องการลดหย่อนภาษีในสวนนี้เพิ่มก็ลงทุน ปีไหนไม่ต้องการลดหย่อนก็ไม่ต้องลงทุน

กรณีเมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว ทำไม่ได้ตามเงื่อนไขการลงทุน ภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนไว้ก็ต้องนำมาคืนสรรพากร พร้อมกับค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน แล้วถ้าการลงทุนที่ผ่านมาได้กำไร ต้องนำกำไรนั้นไปคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย

กองทุน LTF เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ของการลดหย่อนภาษี และสามารถลงทุนในระยะยาวได้ และอาจจะไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น หรือไม่มีเวลามาคอยติดตามข่าวสารการลงทุน แต่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจถึงความผันผวนและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ด้วย


 RMF (Retirement mutual fund) หรือ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ”

จุดมุ่งหมายในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพก็คือเพื่อต้องการส่งเสริมให้ออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นสิ่งจูงใจ ผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนี้ได้ คือ บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรเงื่อนไขการลงทุนในเรื่องของเงินลงทุน คือต้องลงทุนขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 3% ของรายได้ต่อปี หรือ 5,000 บาท จำนวนเงินยอดไหนต่ำกว่าก็เลือกลงทุนในยอดนั้นได้ สำหรับเงินลงทุนสูงสุดที่ลงทุนได้ คือ ต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ต่อปี และเมื่อนำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข. มารวมกันแล้วต้องไม่เกิน 300,000 บาท (ในขณะนี้กำลังจะแก้ไขเป็น 500,000 บาท ซึ่งคงต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการ)

เงื่อนไขในเรื่องของความต่อเนื่องในการลงทุน เนื่องจากเป็นกองทุนที่ต้องการให้ออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ดังนั้นท่านต้องนำเงินเข้ามาลงทุนทุกๆปี หรืออย่างน้อยต้องลงทุน 1 ปีเว้น 1 ปี อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เว้นเสียแต่ว่าปีใดไม่มีเงินได้ปีนั้นก็ไม่ต้องลงทุน เพราะ เงินลงทุนขั้นต่ำ 3% ของ 0 บาท ก็คือ 0 บาท

เงื่อนไขสำหรับถือครอง ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้

กรณีเมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว ทำไม่ได้ตามเงื่อนไขการลงทุน ภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนไว้ก็ต้องนำมาคืนสรรพากร นับย้อนหลังไป 5 ปี ได้ลดหย่อนไปเท่าไรก็ต้องนำมาคืนเท่านั้น พร้อมกับค่าปรับร้อยละ 1.5 ต่อเดือน แล้วถ้าการลงทุนที่ผ่านมาได้กำไร ต้องนำกำไรนั้นไปคำนวณรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีด้วย แต่ถ้าท่านลงทุนมานานเกิน 5 ปีแล้ว ในส่วนของกำไรไม่ต้องเสียภาษี
กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนเหมือนกับกองทุนทั่วๆ ไป มีตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงน้อยมากๆ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง ลงทุนในตราสารทุน มีหลากหลายการลงทุนให้เลือกได้ตามความต้องการ

เนื่องจาก RMF เป็นกองทุนระยะยาว จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ และสามารถโอนย้ายข้ามไปยังบริษัทจัดการอื่นได้ด้วย

เกร็ดความรู้ก่อนจบ: ตามที่ผมได้เคยเขียนบทความแนะนำในเรื่อง “การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging”คือ วิธีในการลดความเสี่ยงของตลาด (market risk) จากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ โดยการสร้างวินัยในการซื้อหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส และตั้งเป้าหมายที่จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก โดยแทนที่จะซื้อหลักทรัพย์เป็นก้อน (lump sum) ทีเดียว ก็ซื้อเป็นจำนวนน้อยๆและมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนของการลงทุนและปกป้องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาของหลักทรัพย์นั้นๆมีความผันผวนมากขึ้น

วิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่นักลงทุนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการลงทุน LTF และ RMF ได้เช่นกัน ท่านใดที่ทำวิธีนี้อยู่แล้ว ผมคาดว่าน่าจะได้ต้นทุนของหน่วยลงทุนในราคาที่ถูกลงกว่าที่จะมาซื้อครั้งเดียวเมื่อตอนใกล้สิ้นปี ส่วนท่านใดที่ไม่ได้นำวิธี Dollar Cost Averaging ไปใช้ ก็ลองนำไปใช้ก็ได้นะครับ

ที่มาข้อมูล : คุณ สุชาดา กุลสุขรังสรรค์ บริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จำกัด (ACLS)
กำลังโหลดความคิดเห็น