xs
xsm
sm
md
lg

Q&A Corner : ว่าด้วยเรื่อง LTF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่ออาทิตย์ก่อนได้ข่าวเเว่วมาถึงยอดการขายหน่วยลงทุนในงาน Money Expo 2008 ว่าบางบลจ.สามารถขายหน่วยลงทุนได้ถึง 156.42 บาทเลยทีเดียวครับ หนึ่งในกองทุนที่ขายดีได้เเก่ กองทุน LTF ทางทีมงานเลยอยากจะรวบรวมคำถามที่เกี่ยวกับ LTF ในสมาคมบริษัทจัดการกองทุนมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน ก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่จากสมาคมบริษัทจัดการกองทุนนะครับ

คำถาม - กำลังอยากจะซื้อ LTF ในเดือนนี้ แต่มีเพื่อนที่ลงทุนบ่อยๆบอกว่า รอให้ Set ต่ำกว่า 800 ดีกว่า ซึ่งน่าจะได้เห็นประมาณกลางปี...อยากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในนี้ว่า ผมควรทำตามที่เพื่อนแนะนำมั้ยครับ สำเภาโดม

ตอบ - เผอิญผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญซะด้วยซิ เลยไม่สามารถทำนายอนาคตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ดี การจับจังหวะการซื้อตามที่ถามมานั้นก็เป็นรูปแบบวิธีในการลงทุนแบบหนึ่ง แต่ก็จะมีวิธีในการลงทุนอีกแบบหนึ่งซึ่งเขาเรียกกันว่า Dollar Cost Average คือ จะค่อยๆ ซื้ออย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนด เช่น ซื้อหุ้นในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน โดยจะไม่สนใจเรื่องของจังหวะเวลาในการซื้อว่าในวันที่ซื้อราคาหุ้นจะแพงหรือถูก ซึ่งโดยสถิติที่มีการกล่าวอ้างว่าได้ทำการศึกษาวิจัยแล้วพบว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าวนี้มีโอกาสเป็นส่วนใหญ่ที่จะให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนในอัตราที่ดีกว่าการเลือกจับจังหวะในการซื้อและขายครับ คราวนี้ คุณสำเภาโดม คงต้องใช้วิจารณญาณเพื่อตัดสินใจเลือกลงทุนตามที่เห็นว่าเหมาะสมเองแล้วละครับ หรือหากจะตรวจสอบเรื่องอนาคตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์คงจะต้องสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ตามบริษัทหลักทรัพย์น่าจะดีกว่านะครับ

คำถาม - ผมขอสอบถามการขายคืน LTF โดยมีรายการการซื้อและสับเปลี่ยน ดังนี้ปี47 รายการที่1 วันที่ 1/10/47 ซื้อ LTFกองทุนa1 ของ บลจ.A จำนวน 10,000 บาท @10.10บาท/หน่วย (ได้ 990.10 หน่วย) รายการที่2 วันที่ 1/11/47 ซื้อ LTFกองทุนb1 ของ บลจ.B จำนวน 15,000 บาท @10.20บาท/หน่วย (ได้ 1,470.59 หน่วย)
รายการที่3 วันที่ 1/12/47 ซื้อ LTFกองทุนc1 ของ บลจ.C จำนวน 20,000 บาท @10.30บาท/หน่วย (ได้ 1,941.75 หน่วย)

ปี48 รายการที่4 วันที่ 1/3/48 ซื้อ LTFกองทุนb2 ของ บลจ.B จำนวน 25,000 บาท @10.40บาท/หน่วย (ได้ 2,403.85 หน่วย) รายการที่5 วันที่ 1/6/48 ซื้อ LTFกองทุนb3 ของ บลจ.B จำนวน 30,000 บาท @10.50บาท/หน่วย (ได้ 2,857.14 หน่วย) รายการที่6 วันที่ 1/9/48 ซื้อ LTFกองทุนd1 ของ บลจ.D จำนวน 35,000 บาท @10.60บาท/หน่วย (ได้ 3,301.89 หน่วย)

ปี49 รายการที่7 วันที่ 1/2/49 ซื้อ LTFกองทุนb2 ของ บลจ.B จำนวน 40,000 บาท @10.70บาท/หน่วย (ได้ 3,738.32 หน่วย) รายการที่8 วันที่ 15/2/49 ซื้อ LTFกองทุนe1 ของ บลจ.E จำนวน 45,000 บาท @10.80บาท/หน่วย (ได้ 4,166.67 หน่วย) รายการที่9 วันที่ 1/5/49 สั่งโอน LTFกองทุนa1 ของ บลจ.A ตามรายการที่1 จำนวน 990.10 หน่วย @10.15บาท/หน่วย (ได้เงิน 10,049.52 บาท) ไปที่ LTFกองทุนb2 ของ บลจ.B รายการที่10 วันที่ 5/5/49 รับโอนหน่วยลงทุนตามรายการที่9 ไปยัง LTFกองทุนb2 ของ บลจ.B จำนวน 10,049.52 บาท @10.90บาท/หน่วย (ได้ 921.97 หน่วย) รายการที่11 วันที่ 1/8/49 ซื้อ LTFกองทุนb2 ของ บลจ.B จำนวน 50,000 บาท @11.00บาท/หน่วย (ได้ 4,545.45 หน่วย)

หมายเหตุ: ในแต่ละปี ไม่มีการซื้อ LTF เกินสิทธิ 15% ของรายได้ ประเด็นคำถาม (หากไม่ให้เกิดการผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร)

ข้อ 1 ผมสามารถขาย LTF ตามรายการที่2 (1,470.59 หน่วย) รายการที่3 (1,941.75 หน่วย) ในปี51 ได้หรือไม่ครับ ?ข้อ 2 ขอสอบถามการขาย LTF ตามรายการที่10 (921.97 หน่วย) เนื่องจากผมมีการทำรายการสำหรับ LTFกองทุนb2 ตามลำดับดังนี้ คือ รายการที่4 รายการที่7 รายการที่10 และรายการที่11 ดังนั้น หากคิดตามหลักวันที่ที่เข้าซื้อ ผมจะสามารถขาย LTF ตามรายการที่10 (921.97 หน่วย) ได้ในปี51 เนื่องจากถือครบห้าปีปฏิทิน ใช่หรือไม่ครับ?แต่หากคิดตามหลักการ FIFO หากผมขาย LTF ตามรายการที่10 (921.97 หน่วย) ในปี51 จะถือว่าเป็นการขายก่อนรายการที่4 ซึ่งเริ่มขายได้ในปี52 หรือไม่ครับ?ดังนั้นโปรดให้ความเห็นด้วยครับว่า ผมจะขาย LTF ตามรายการที่10 (921.97 หน่วย) ได้ในปี51 หรือ ปี53 ครับ
ขอบคุณครับ นาย LTF

ตอบ - ข้อ 1 กรณีที่การซื้อกองทุนรวม LTF ในปี 2547 ไม่เกินกว่า 15% ของรายได้ทั้งหมดที่ได้รับในปี 2547 เมื่อผู้มีเงินได้ทำการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม LTF ที่ซื้อมาดังกล่าวในปี 2551 ซึ่งนับระยะเวลาการลงทุนได้เท่ากับ 5 ปี ปฏิทิน คือ ปี 2547 เป็นปีที่ 1 ปี 2548 เป็นปีที่ 2 ปี 2549 เป็นปีที่ 3 ปี 2550 เป็นปีที่ 4 และปี 2551 เป็นปีที่ 5 ดังนั้น การขายคืนดังกล่าวนี้จึงเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรได้กำหนดไว้เพื่อการยกเว้นภาษีแล้ว คือ ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องคืนสิทธิลดหย่อนภาษีที่เคยได้รับจากเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน LTF ดังกล่าว และเมื่อการขายนั้นมีกำไรจากการลงทุนก็ได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในปี 2551 อีกด้วย

ข้อ 2 การขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม LTF ที่ซื้อมาในปี 2547 โดยผู้มีเงินได้ได้ทำการโอนการลงทุนที่ได้ลงทุนในปี 2547 ไปยังกองทุนรวม LTF อื่นๆ อีกกี่ครั้งในปีใดๆ ก็ตาม ผู้มีเงินได้ก็ยังสามารถขายคืนเงินลงทุนดังกล่าวในปี 2551 โดยได้รับสิทธิเช่นเดียวกันกับที่กล่าวแล้วในข้อ 1 ทั้งนี้ เนื่องจากในการโอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม LTF หนึ่งไปยังกองทุนรวม LTF อื่นไม่ว่าจะแยกเงินลงทุนไปอีกกี่กองทุนก็ตาม ในการโอนนั้นนอกจากจะโอนจำนวนเงินในการลงทุนไปแล้ว ข้อมูลวันที่ที่ได้ทำการซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่แรกของเงินลงทุนนั้นก็จะถูกโอนไปยังกองทุนรวม LTF ที่รับโอนต่อเนื่องกันไปตลอดไม่ว่าจะมีการโอนไปอีกกี่ทอดก็ตาม ดังนั้น การทำรายการที่ 10 แม้วันที่ทำรายการจะเกิดขึ้นหลังรายการที่ 4 แต่ในระบบการเก็บข้อมูลของกองทุนรวม LTF b2 ของ บลจ.B จะบันทึกวันซื้อ ณ วันทำรายการที่ 1 เช่นเดิมเหมือนกับการที่เงินนั้นยังคงอยู่ที่กองทุนรวม LTF a1 ของ บลจ.A ครับ

คำถามที่ 2 ค่อนข้างยาวเลยที่เดียวนะครับ เเต่ก็คงจะไขความกระจ่างให้ผู้อ่านหลายท่านเลยทีเดียว สำหรับท่านที่มีข้อสงสัยในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนรวม สามารถส่งคำถามมาได้ที่  fund@manager.co.th หรือโพสต์ไว้ที่ www.manager.co.th หน้ากองทุนรวม ครับ ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้ท่านอย่างเเน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น