xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเลิกกฎ 15% ปลดปล่อย LTF-RMF ช่วยรายได้น้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนหวังรัฐช่วยปลดล็อคเงื่อนการลงทุนใน "LTF - RMF" เพิ่มเพดานลงทุนได้เกิน 15% ของรายได้ ติงเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจาก 300,000 บาท เป็น 500,000 บาทเพียงอย่างเดียวคนรวยได้ประโยชน์มากกว่า ระบุหลังเพิ่มวงเงินยังไม่เห็นกระแสเม็ดเงินไหลเข้าชัดเจน เหตุคนไทยยังชอบลงทุนช่วงปลายปี ขณะที่ "KTAM" ตั้งเป้าลูกค้าใหม่จากโครงการ "Wealth Plus" กว่า 10,000 ราย รับอานิสงค์เพิ่มวงเงินลงทุน ด้านสมาคมคาดกรมสรรพกรออกประกาศรับรองทันก่อนมี.ค.ปี 52

นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาครัฐได้มีการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่งผลทำให้นักลงทุนได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ครอบคลุมนักลงทุนทั้งหมด เพราะการเพิ่มวงเงินลดหย่อนจาก 300,000 บาท เป็น 500,000 บาท ส่งผลดีต่อผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย เนื่องมาจากภาครัฐยังคงกำหนดเงื่อนไขว่าจำนวนเงินลดหย่อนต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ ดังนั้นผู้ที่จะได้สามารถลงทุนได้ถึงระดับ 500,000 บาทจริง จะต้องมีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจาก 300,000 บาท เป็น 500,000 บาท จะส่งผลดีส่วนใหญ่ต่อบุคคลที่มีรายได้สูง แต่ก็ช่วยในการกระตุ้นและสร้างกระแสให้นักลงทุนหน้าใหม่สนใจการลงทุนผ่านกองทุนหุ้นระยะยาวและกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่หลังจากที่มีการประกาศเพิ่มวงเงินลงทุนยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของวงเงินดังกล่าวที่ชัดเจนนัก เนื่องมาจากพฤติกรรมของนักลงทุนในกองทุนทั้งสองมักจะนิยมลงทุนในช่วงปลายปีมากกว่า

"การเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีในกองทุนทั้งสอง นอกจากจะเป็นผลดีต่อกลุ่มคนที่มีรายได้และกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุนในกองทุน LTF และ RMFแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์คือกลุ่มคนที่ออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการครบวงเงิน 300,000 บาท" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ในส่วนของทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเองน่าจะลองผลักดันเพื่อการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเงื่อนไขเรื่อง 15% ของรายได้แต่จะเพิ่มขึ้นเท่าใดคงจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและกรมสรรพกร และสมาคมฯ คงจะพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมด้านระยะเวลาด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาครัฐคงจะต้องมีการพิจารณาถ้าจะมีการเพิ่มวงเงินลดหย่อนจาก 15% ของรายได้ ขึ้นไปว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลักของภาครัฐมากน้อยเพียงใดด้วย

"อีกเดียวคงจะมีกระแสที่จะเข้าไปคุยเรื่องนี้ ถ้า 15 % เพิ่มขึ้นได้ก็จะเป็นเรื่องดี ในแง่ของสมาคมก็คงจะพยายามผลักดัน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ และถ้าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยและนักลงทุนไทย ก็เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก" นายวิโรจน์ กล่าว

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในการรณรงค์โครงการ "Wealth Plus" ซึ่งจากการเพิ่มวงเงินทำให้โครงการได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น โดยโครงการได้กระตุ้นให้ผู้ที่รายได้น้อยรู้จักการทยอยเฉลี่ยลงทุนในกองทุนทั้งสองอย่างต่อเนื่องรวมถึงรณรงค์ให้ผู้มีรายได้สูงลงทุนผ่านกองทุนทั้งสองเต็มวงเงินที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นโครงการจะเน้นไปที่กลุ่มพนักงานของธนาคารกรุงไทย , บริษัทในเครือ และลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident fund) ของบริษัทซึ่งคาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประมาณ 10,000 ราย จากปัจจุบันที่บลจ.กรุงไทยมีลูกค้าในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวจำนวน 4,000 ราย และมีลูกค้าในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพประมาณ 14,000 ราย

นางสาวดวงกมล พิศาล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AIMC) กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนผ่าน 2 กองทุนจากที่กำหนดเงื่อนไขว่านักลงทุนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้นั้น ปัจจุบันสมาคมยังไม่มีการหารือกันในประเด็นดังกล่าว เนื่องมาจากต้องรอให้มีการสมาชิกร้องขอเรื่องที่จะพิจารณาก่อน โดยในขณะนี้ยังไม่มีสมาชิกผู้ใดร้องขอในประเด็นดังกล่าวมายังสมาคม แต่ถ้าหลังจากนี้มีการร้องในเรื่องดังกล่าวมา ทางสมาคมก็พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวการพิจารณาที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐเพิ่มวงเงินลดหย่อนจากเดิม ปัจจุบันยังเป็นเพียงมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ซึ่งจะต้องรอให้กรมสรรพกรออกประกาศรับรองด้วย แต่คาดว่ากรมสรรพกรน่าจะออกประกาศดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมีนาคม ปี 2552

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ครม.ได้มีมติเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีทำให้เงื่อนไขของการลงทุนใน 2 กองทุนเป็นดังต่อไปนี้ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งไม่ต้องนับรวมกับการลงทุนหรือเงิน สะสมใดๆ ในแต่ละปี โดยไม่มีเงื่อนไขให้ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ เมื่อลงทุนแล้วต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาจากเงินลงทุนที่ขายคืนนั้น

ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ผู้ลงทุนต้องต้องซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และเมื่อ รวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้นๆ ด้วย โดยต้องมีการลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี แต่สามารถระงับการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้จะต้องมีปีในการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสีย ภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาย้อนหลัง 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น