xs
xsm
sm
md
lg

MFCติดเครื่องไพรเวทฟันด์ประเดิม192ล้านบาทลุยนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - บลจ.เอ็มเอฟซี ติดเครื่องกองทุนส่วนบุคคลลุยต่างประเทศ เผยบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลยื่นขอลงทุนต่างประเทศแล้ว 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกันประมาณ 192 ล้านบาท เผยช่วงแรก จัดพอร์ตลงทุนง่ายๆ ตามความเสี่ยงสูง-ต่ำ ก่อนตั้งเป็นมาสเตอร์ฟันด์ รวมเงินเป็นก้อนส่งออกไปหาผลตอบแทน เตรียมเสนอทางเลือก 3-4 กอง พร้อมตั้งเป้าดึงเงินเข้าพอร์ตกองละ 10 ล้านเหรียญ

นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) แสดงความสนใจและเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศแล้วประมาณ 2 ราย แบ่งเป็นลูกค้าบุคคลธรรมดา 1 ราย และลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล 1 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกันประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 192 ล้านบาท โดยในส่วนของลูกค้านิติบุคคลสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่ลูกค้าบุคคลธรรมดาสนใจการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้สามารถจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภทมากกว่า

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศดังกล่าว บริษัทจะจัดพอร์ตการลงทุนให้กับลูกค้าตามความเสี่ยงที่สามารถรับได้ โดยในเบื้องต้นอาจจะจัดพอร์ตการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนที่ค่อนข้างครอบคลุมการลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด ส่วนลูกค้ารายใดที่ต้องการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ก็จะแนะนำการลงทุนในภูมิภาคแถบเอเชียก่อน เพราะเป็นภูมิภาคที่เราคุ้นเคยและมีข้อมูลการลงทุนที่ค่อนข้างดีกว่า แต่หากลูกค้าต้องการลงทุนในลักษณะโกลบอลหรือการลงทุนทั่วโลก ก็จะแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุน ETF

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเนื่องจากจำนวนผู้ลงทุนอาจจะไม่มาก ทำให้ต้องจัดพอร์ตตามความต้องการและตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถรับได้ โดยในช่วงเริ่มต้น อาจจะแยกพอร์ตการลงทุนง่ายๆ ออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทมีแผนจะจัดตั้งเป็นมาสเตอร์ฟันด์ หรือกองทุนหลักที่กำหนดกรอบการลงทุนและความเสี่ยงเอาไว้ในแต่ละระดับ โดยจะเป็นการรวบรวมเงินลงทุนของลูกค้าที่มีความต้องการลงทุนในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน แล้วค่อยนำเงินดังกล่าวออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านมาสเตอร์ฟันด์เพียงกองทุนเดียว ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะทำให้มีความน่าสนใจในแง่ของขนาดเงินลงทุน

โดยการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับกองมาสเตอร์ฟันด์นั้น จะกระจายการลงทุนออกไปตามความเสี่ยง เช่น การลงทุนในหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง และจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้สำหรับผู้ลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่มาก

"กองทุนส่วนบุคคลจะค่อนข้างแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป เพราะกองทุนส่วนบุคคลจะต้องเดินเข้าไปหาลูกค้า และต้องสกรีนว่าลูกค้าคนนั้นหรือกลุ่มนั้นต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด และสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ซึ่งการจัดพอร์ตการลงทุนให้ ต้องออกมาให้มีความแตกต่างไปจากกองทุนรวมด้วย"นายศุภกรกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้าที่เข้ามาปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศจำนวน 2 รายดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาและจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม ยังไม่ได้นำเงินออกไปลงทุนแต่อย่างใด แต่ในส่วนของบริษัทเองก็ได้ออกไปทำความรู้จักกับลูกค้าแล้ว ตามแนวทางในการจัดสรรเงินลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว น่าจะสามารถออกไปลงทุนได้

นายศุภกรกล่าวว่า เดิมทีบริษัทตั้งเป้าหมายมีเงินลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศจากกองทุนส่วนบุคคลไว้ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการตอบรับต่อการการจายความเสี่ยงออกไปลงทุนต่างประเทศมีมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าในปีนี้เองน่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยมาสเตอร์ฟันด์ที่บริษัทวางแผนจะจัดตั้ง 3-4 กองนั้น ตั้งเป้ามีจำนวนเงินลงทุนกองละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกอยากเห็นเงินลงทุนออกไป 10 ล้านเหรียญสหรัฐก่อน

"ตอนนี้กระแสการลงทุนในต่างประเทศมีมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนกองทุนที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายอีกด้วย แต่การลงทุนดังกล่าว เราไม่อยากให้ลูกค้าแต่ละคนออกไปลงทุนเดี่ยวๆ เพราะถ้ารวมได้จะดีกว่าทั้งในแง่ของขนาดเงินลงทุนและต้นทุนที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นคงต้องจัดพอร์ตให้ลูกค้าแต่ละรายก่อน หลังจากมีแกนให้เกาะแล้วการออกไปลงทุนในรูปของมาสเตอร์ฟันด์ น่าจะทำได้ง่ายขึ้น"นายศุภกรกล่าว

ผู้สือข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วนี้ๆ สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่าตั้งแต่ ก.ล.ต.เปิดให้กองทุนส่วนบุคคลออกไปลงทุนต่างประเทศได้เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ส่งรายชื่อลูกค้าบุคคลธรรมดาที่จัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 10-20 ราย เพื่อขอนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ก.ล.ต.ยื่นรายชื่อไปยังธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน ดูความเหมาะสมและความรู้ในการลงทุน

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีพอร์ตการลงทุนนั้นได้เริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 930-1,240 ล้านบาท ส่วนพอร์ตลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นั้นไม่ค่อยมี

ทั้งนี้ วงเงินที่ออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.10 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินลงทุนรวมทุกประเภททั้งผ่านกองทุนเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) และกองทุนตราสารหนี้ที่ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี,ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์

ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องภาษีสำหรับนักลงทุนบุคคลธรรมดาจะออกไปลงทุนต่างประเทศ กรมสรรพากรแจ้งว่า หากนักลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศและยังไม่ได้นำเงินกลับมาในปีนั้นๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แม้กฎหมายจะระบุว่าถ้าออกไปลงทุนต่างประเทศและได้กำไรก็ต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปี แต่หากนักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถือข้ามปีก็ไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตามในส่วนของนักลงทุนสถาบันที่เป็นนิติบุคคลนั้น จะต้องแจ้งสถานะการลงทุนเพื่อยื่นแบบแสดงการเสียภาษีทุกปีไม่ว่าในปีที่ไปลงทุนนั้นจะมีการนำเงินกำไรกลับมาในปีนั้นหรือไม่ก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น