xs
xsm
sm
md
lg

"ร่วมคิด-ชวนคุยกับ ก.ล.ต.":"เล่าสู่กันฟังเรื่องของ P/E"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลาที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับหุ้นหรือเวลาที่อ่านบทวิเคราะห์หุ้น คำว่า P/E Ratio น่าจะเคยผ่านตาท่านผู้อ่านมาบ้างไม่มากก็น้อย ค่า P/E Ratio คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ในวันนี้ "ร่วมคิด-ชวนคุยกับ ก.ล.ต." จะมาไขข้อข้องใจให้ทราบกัน

P/E ratio (Price/Earning Ratio) คือ อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วิเคราะห์ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นมีราคาตลาดเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ทำได้ ค่า P/E คำนวณได้จากอัตราส่วนของราคาตลาดของหุ้นเทียบกับผลกำไรสุทธิในรอบ 12 เดือนล่าสุด นอกจากคำนวณค่า P/E ของหุ้นตัวใดตัวหนึ่งได้แล้ว ค่า P/E ยังมาในรูปของ P/E ของกลุ่มอุตสาหกรรมใด ๆ หรือของทั้งตลาดโดยรวมก็ได้ โดยการ คำนวณค่า P/E ของหุ้นใด ๆ ใช้วิธีนำเอาราคาตลาด (market price) ของหุ้นนั้นมา และหารด้วยผลกำไรสุทธิ 12 เดือนล่าสุดต่อหุ้น (earning per share) เช่น ณ ปัจจุบันนี้ หุ้น A มีราคาตลาด 30 บาท และกำไรสุทธิต่อหุ้นเป็น 3 บาท ดังนั้น หุ้น A จึงมี P/E ratio อยู่ที่ 10 เท่า (30/3) หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่ซื้อหุ้น A จ่ายเงินไป 10 บาท สำหรับกำไรทุก ๆ 1 บาทที่บริษัท A ทำได้ (ราคาตลาดของหุ้น A สูงเป็น 10 เท่าของกำไรที่บริษัท A ทำได้)

โดยทั่วไปแล้ว ค่า P/E ของหุ้นรายบริษัทนี้ ผู้ลงทุนมักนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน โดยหากหุ้นใดที่มีค่า P/E ต่ำกว่าค่า P/E ของบริษัทอื่นที่มีธุรกิจและขนาดใกล้เคียงกัน อาจเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ราคาตลาด (P) ของหุ้นนั้นต่ำ หรือกำไร (E) ของหุ้นนั้นสูง ดังนั้น สมมติว่าหุ้น A มี P/E เป็น 10 เท่า ในขณะที่หุ้น B มี P/E เป็น 13 เท่า ผู้ลงทุนก็อาจวิเคราะห์ได้เป็น 2 แนว คือ (1) หุ้น A มีราคาถูกกว่าหุ้น B และคาดการณ์ว่าราคาของหุ้น A มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต หรือ (2) หุ้น A มีผลประกอบการดีกว่าหุ้น B ซึ่งหากเข้าไปดูไส้ในของค่า P และ E ของแต่ละหุ้น จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยผู้ลงทุนอาจใช้ข้อมูลนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนในหุ้น A ได้ ข้อควรระวังก็คือ ค่า P/E สูงหรือต่ำไม่ใช่ปัจจัยชี้บอกว่าหุ้นนี้ดีหรือไม่ดี ผู้ลงทุนยังจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลของหุ้นรายตัวและปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย

ส่วนการคำนวณค่า P/E ของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือของทั้งตลาดก็มีวิธีการคล้ายคลึงกับการคำนวณค่า P/E ของหุ้นรายตัว แต่จะรวมเอาหุ้นทั้งหมด (ในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือทั้งตลาด แล้วแต่กรณี) มาคำนวณ วิธีการก็คือ ใช้ราคาตลาดของหุ้นทั้งหมด (ซึ่งมาจากผลรวมของราคาหุ้นของแต่ละบริษัท x จำนวนหุ้นทั้งหมดของแต่ละบริษัท) หารด้วยผลรวมของกำไรสุทธิในรอบ 12 เดือนของบริษัททั้งหมด ค่าที่ได้คือ ค่า P/E ของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือทั้งตลาด ซึ่งวิธีนี้จะมีการถ่วงน้ำหนักโดยใช้จำนวนหุ้นทั้งหมดของแต่ละบริษัท ทำให้ค่า P/E ที่ได้มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ บางท่านอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่คำนวณค่า P/E ของทั้งตลาดโดยใช้วิธีนำค่า P/E ของหุ้นแต่ละตัวในตลาดมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ย เหตุผลคือ เนื่องจากหุ้นแต่ละหุ้นที่อยู่ในตลาดมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ดังนั้น การหาค่า P/E ของทั้งตลาดโดยใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยจากค่า P/E ของหุ้นแต่ละตัวจะส่งผลให้ค่าที่ได้บิดเบือนจากความเป็นจริงไป

สำหรับผู้ลงทุนระดับสถาบันที่มีการลงทุนทั่วโลกมักวิเคราะห์ค่า P/E ของทั้งตลาดแต่ละแห่งเปรียบเทียบกันในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ซึ่งหากตลาดใดมีค่า P/E ของทั้งตลาดต่ำก็อาจเป็นจุดสนใจให้ผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ สำหรับในส่วนของประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกข่าวว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณค่า P/E ของทั้งตลาดใหม่เพื่อให้สามารถเทียบเคียงได้กับวิธีการคำนวณของ World Federation of Exchanges หรือสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ โดยจะนำเอาผลการดำเนินงานของหุ้นทุกตัวมารวมคำนวณด้วยไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้คำนวณค่า P/E ของทั้งตลาดโดยคำนวณเฉพาะหุ้นที่มีผลกำไรจากการดำเนินงาน แต่ไม่รวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน และจะเริ่มใช้วิธีคำนวณค่า P/E แบบใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป

การคำนวณค่า P/E ด้วยวิธีใหม่นี้จะทำให้ตัวหาร (ผลกำไรสุทธิของหุ้นทั้งหมดในตลาด) ปรับลดลงจากการคำนวณด้วยวิธีเดิม (เนื่องจากบริษัทบางแห่งที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนจะทำให้มูลค่ากำไรโดยรวมทั้งตลาดลดลง) และส่งผลต่อเนื่องให้ค่า P/E ของตลาดเพิ่มสูงขึ้นกว่าวิธีเดิมพอสมควร (ค่า P/E ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 จากการคำนวณด้วยวิธีใหม่อยู่ที่ 14.96 เท่า ขณะที่

หากใช้วิธีเดิมอยู่ที่ 11.85 เท่า เมื่อเทียบกับ P/E ของตลาดต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้เป็น 14.23 เท่า มาเลเซียเป็น 13.65 เท่า ฮ่องกงเป็น 13.32 เท่า และฟิลิปปินส์เป็น 12.09 เท่า) อย่างไรก็ดี แม้วิธีการคำนวณแบบใหม่นี้จะทำให้ค่า P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทยสูงขึ้นก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณจะช่วยสะท้อนถึงพื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามความเป็นจริงได้มากขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล และน่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือรวมถึงเป็นแรงจูงใจให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นอันจะเป็นผลดีต่อตลาดทุนของบ้านเราในระยะยาวด้วย

****************

ก.ล.ต. ขอเชิญทัวร์ "สวัสดี...กองทุนรวม" ร่วมท่องไปตามเส้นทางการลงทุนและรับของที่ระลึกฟรีในงาน Money Expo 2008 ณ บูธ ก.ล.ต. (Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ )ตั้งแต่ 8-11 พ.ค. 2551 นี้

(พิเศษสำหรับท่านผู้อ่าน "ร่วมคิด-ชวนคุยกับ ก.ล.ต." ตัดชิ้นส่วนนี้มารับของที่ระลึกที่บูธ...ฟรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น