xs
xsm
sm
md
lg

ปรับเกณฑ์คำนวณพีอี ล่อใจ บจ.ใหม่ระดมทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลท.เอาใจบริษัทจดทะเบียนเตรียมปรับวิธีการคำนวณ “P/E-P/BV-Dividend Yield” ให้เทียบชั้นตลาดหุ้นชั้นนำ เชื่อทำให้ความสนใจ บจ.นอกตลาดเข้ามาระดมทุนมีมากขึ้น ขณะที่หลังการปรับเปลี่ยนคาด PE จะเปลี่ยนแปลงประมาณ 30% “ปกรณ์” คาดภายใน 2 สัปดาห์สรุปตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนเสร็จ เร่งถก 100 บจ.ใหม่เข้าระดมทุน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จะปรับวิธีการคำนวณค่าสถิติภาพรวมตลาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยเทียบเคียงของสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (World Federation of Exchanges : WFE) มาใช้คำนวณค่าสถิติภาพรวม ทั้งของตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)

ทั้งนี้ อัตราส่วนที่จะมีการปรับวิธีการคำนวณ ได้แก่ อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (Price/Earning หรือ P/E) อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (Price /Book Value หรือ P/BV) และอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ซึ่งจะนำค่าสถิติที่ใช้วิธีคำนวณใหม่มาเผยแพร่ควบคู่ไปกับค่าสถิติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมนี้ ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551

สำหรับวิธีการคำนวณค่าพีอีในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ คำนวณเฉพาะหุ้นสามัญที่จดทะเบียนที่มีผลกำไรจากการดำเนินงานงวด 12 เดือนล่าสุด ทำให้ค่าพีอี ของตลาดหลักทรัพย์ต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่น โดยปัจจุบันค่าพีอีของตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ประมาณ 11-12 เท่า (ณ ก.พ.2551) ซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณโดยนำผลการดำเนินงานของทุกหลักทรัพย์เข้าไปรวมคำนวณด้วย จะทำให้มีค่าพีอี อยู่ที่ประมาณ 15-17 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลี เป็นต้น นับเป็นการยกระดับความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ไทยให้เทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณในครั้งนี้เพื่อให้สะท้อนต่อความเป็นจริงตามพื้นฐานของตลาดหุ้นมากขึ้น ประกอบกับเป็นไปตามตลาดหุ้นชั้นนำในโลก ซึ่งหวังว่าการปรับเปลี่ยนจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI ซึ่งปรับลดจาก 10% มาอยู่ที่ 1.6% ในปัจจุบัน

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท.กล่าวว่า แนวทางในการเพิ่มน้ำหนักใน MSIC ที่ผ่านมาการตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทเข้ามาจดทะเบียนเพื่อเพิ่มมาร์เกตแคปให้กับตลาดทุนไทยแล้วคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนจะสามารถแต่งตั้งขึ้นมาได้ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเข้ามาร่วมกันร่างแผนในการพัฒนาตลาดทุนอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ การเร่งดำเนินการให้บริษัทที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีมากกว่า 100 บริษัทสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ในระดับที่มากกว่า 50% ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เร่งดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทเพียง 81 บริษัทขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับบริษัททั้งหมดในประเทศ

“คงไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขแต่ก็อยากให้น้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเท่าที่ทำได้ การสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนสนใจเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน” นายปกรณ์ กล่าว

ดร.สันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ดูแลงานฝ่ายธุรกิจข้อมูล สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลท.เปิดเผยว่า คณะทำงานด้านดัชนีราคาหลักทรัพย์และค่าสถิติภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาที่จะนำวิธีการคำนวณที่สามารถเทียบเคียงได้กับ WFE มาใช้ โดยจะเผยแพร่ค่าสถิติที่ใช้วิธีการคำนวณใหม่ คู่ขนานไปกับค่าสถิติที่ใช้วิธีการในปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถใช้ในการอ้างอิง พร้อมทั้งจะมีการทำข้อมูลสำหรับการอ้างอิงย้อนหลังไปอีก 5 ปีด้วย

สำหรับอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (Price / Book Value หรือ P/BV) ที่ใช้วิธีการคำนวณแบบใหม่ จะคำนวณจากหลักทรัพย์สามัญที่อยู่ในการคำนวณดัชนี และจะนำส่วนของผู้ถือหุ้น รวมทั้งหุ้นที่ถือโดยบริษัทย่อยของทุกหลักทรัพย์เข้าไปรวมคำนวณด้วย ส่วนการคำนวณอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) วิธีการใหม่ จะคำนวณจากหลักทรัพย์สามัญที่อยู่ในการคำนวณดัชนี จากปัจจุบันที่คำนวณจากหลักทรัพย์สามัญทั้งหมด

ในส่วนของข้อดีและข้อเสียของการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณพีอี คือ ข้อดีจะทำให้สามารถสะท้อนมูลค่าภาพรวมได้ตามมาตรฐานสากล ขณะที่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทออกทรัพย์ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และยังเป็นการทำให้ค่าพีอีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับเทียบเท่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน ส่วนข้อเสียหลังการปรับเปลี่ยนการคำนวณ ซึ่งจะทำให้ค่าพีอีปรับค่าขึ้นอาจเป็นการลดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในสายตานักลงทุนต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น