xs
xsm
sm
md
lg

จี้แปรรูป ตลท.แข่งตลาดโลก แก้ปัญหาผู้ถือหุ้น-ลดต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทำงานฯ เผยผลการศึกษาตลาดหุ้นไทยจำเป็นต้องแปรรูป เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลก ก่อนจะถูกลดบทบาทจนหมดความหมายไปในที่สุด ระบุปัญหาโครงสร้างที่ยังไม่มีเจ้าของที่ชัดเจนเป็นเรื่องแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ พร้อมตีกันภาครัฐถือหุ้นใหญ่ หวั่นกลายสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชนถือได้ไม่เกิน 5% เลี่ยงถูกครอบงำกิจการ พร้อมแนะตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตลาดหลักทรัพย์มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวตามแนวโน้มตลาดทุนโลก ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน ขยายสิทธิในการทำการซื้อขายให้แก่กลุ่มที่ไม่ใช่สมาชิก เพื่อให้มีการเข้าถึงระบบซื้อขายได้มากขึ้น รวมถึงการรวมตัวเป็นพันธมิตรหรือสร้างเครือข่ายเพื่อทำให้มีการประหยัดต่อขนาดในการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ทั้งนี้ หากตลาดหลักทรัพย์ไม่มีการปรับตัวอาจจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงอาจจะลดความน่าสนใจในสายตาผู้ลงทุนและผู้ระดมทุน หรือถูกตลาดที่ใหญ่กว่าดึงสภาพคล่องไป จนในที่สุดอาจถูกลดบทบาทลงไปจนหมดความหมายในเวทีโลก (risk of marginalization) ได้

สำหรับเป้าหมายของการพัฒนาตลาดทุนนั้น หลายประเทศส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้การแปรรูป (demutualization) เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยเหตุผล เช่น แปรรูปไปเป็นรูปแบบของบริษัททำให้มีการเปลี่ยนแปลง owner shipstructure อย่างแท้จริง มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้หลายประเภทและในวงที่กว้างขึ้น ต่างจากรูปแบบเดิมที่สมาชิกเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการบริหาร (mutual structure) ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มตนเอง

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงสร้างที่มีเจ้าของอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นจะทำให้มีแรงผลักดันให้ตลาดต้องมีการตัดสินใจในเชิงพาณิชย์ จัดให้มีกลไกบรรษัทภิบาลที่ดีบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ การแปรรูปยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้การเข้าเป็นพันธมิตรกับตลาดอื่นสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการมีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของทำให้เกิดการควบรวมหรือแลกเปลี่ยนหุ้นกับตลาดอื่นได้

ส่วนผลการดำเนินงานหลังแปรรูปจากการสำรวจของ International Federation of Stock Exchanges (FIBV) พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ที่แปรรูปแล้วจะมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูงขึ้น อาทิ ตลาดที่แปรรูปแล้วมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้เพียง 58% ต่างจากตลาดหลักทรัพย์ที่มิได้แปรรูปที่อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้สูงถึง 91% รวมทั้งตลาดหุ้นที่แปรรูปแล้วยังมีความสามารถในการทำกำไรมากกว่าตลาดหุ้นที่ยังไม่ได้แปรรูป ทั้งกำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และ ฮ่องกง

พร้อมกันนี้ คณะทำงานได้สรุปผลการศึกษาถึงปัญหาด้านประสิทธิภาพของตลาดหุ้นไทยเกิดจากตลาดหุ้นไทยมีโครงสร้างการบริหารจัดการไม่ชัดเจน ไม่มีผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจน จึงเป็นข้อจำกัดในการสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานได้เต็มที่ เนื่องจากการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญยังต้องอาศัยการประนีประนอม

นอกจากนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กำหนดให้ SET มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์โดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งกัน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะให้ SET ใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพการที่ SET ได้รับการคาดหวังให้ทำงานต่างๆ ซึ่งไม่ใช่งานในความรับผิดชอบหลัก เช่น งาน market education หรืองานสร้างเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ยังนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ให้ความสำคัญต่อ non-commercial functions ในสัดส่วนที่สูง เช่น มีจำนวนพนักงานในสาย market education ถึง 170 คน จากพนักงานทั้งหมด 950 คน หรือมีการให้เงินบริจาคในจำนวนที่สูงกว่ากำไรจากการดำเนินงาน เป็นต้น ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงเกินกว่าที่ควรเป็น

“คณะทำงานเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดหุ้นไทยให้มีเจ้าของที่แท้จริง จะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ (key success factor) ดังนั้น การแปรรูปจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากยังต้องการรักษาสถานะและบทบาทในเวทีโลก”

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ เห็นว่า การแปรรูปเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SET ได้ เนื่องจากการแปรรูปจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นในการพัฒนาตลาดให้เท่าทันประเทศอื่นๆ โดย SET จะต้องดำเนินการด้านอื่นด้วย เช่นการสร้างนโยบายที่ชัดเจนสอดคล้องกับแนวทางสากลโดยครอบคลุม, การวางยุทธศาสตร์การแข่งขัน, การสร้างสินค้าใหม่ๆ, การกำหนดราคาบริการต่างๆ, การพัฒนาเทคโนโลยี และการควบคุมต้นทุน หรือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลังการแปรรูป เป็นต้น

สำหรับข้อควรพิจารณาในการแปรรูป การแบ่งสัดส่วนการเป็นเจ้าของ โดยสมาชิกควรได้รับการแบ่งสัดส่วนที่เป็นธรรมโดยหุ้นที่ได้รับนี้อาจเพิ่มมูลค่าขึ้นได้เมื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเรื่องดังกล่าวภาครัฐไม่ควรเข้าไปถือหุ้นเป็นจำนวนมากเพราะอาจทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมีสิทธิในการกำหนดหรือให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญระดับนโยบายของชาติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม รวมทั้งเพื่อรักษาบทบาทการพัฒนาตลาดทุนไว้ควรแยกหน่วยงานบางส่วนออกจากการดำเนินงานของ SET โดยจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาตลาดทุน โดยแบ่งทรัพย์สินจำนวนหนึ่งออกจาก SET ให้ชัดเจน และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากกำไรของ SET เพื่อส่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปีด้วย ตามอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ส่วนการจัดการกับข้อกังวล SET จะต้องรักษาความเข้มข้นของการกำกับดูแลและการตรวจสอบโดยทั่วไป เพื่อให้การกำกับตรวจสอบมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง SET และบริษัทที่ SET กำกับดูแล ก.ล.ต.ต้องดูแลไม่ให้ SET แสวงหากำไรจากกิจกรรมด้านการกำกับดูแลมากจนเกินไป เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงจากสมาชิกหรือบริษัทจดทะเบียน หรือ กรณีที่ SET เป็นบริษัทจดทะเบียนก็ต้องดูแลไม่ให้คู่แข่งที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกับ SET อยู่ในภาวะเสียเปรียบ

นอกจากนี้ การจัดการกับความเสี่ยงจากการถูกครอบงำกิจการ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของตลาดทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังมิให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ที่ไม่เหมาะสมหรือตกเป็นของต่างชาติแนวทางป้องกันจึงควรกำหนดคุณสมบัติด้านการควบคุม และจำกัดสัดส่วนของหุ้นที่ให้ถือได้ (หลายประเทศกำหนดไว้ที่ร้อยละ 5)

สำหรับคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวประกอบด้วย นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้แทนจากสำนักเศรษฐกิจการคลัง ประธานคณะทำงาน, นายสมชัย จิตสุชน ผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย, นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้แทนจากตลท., นายศักรินทร์ ร่วมรังสี ผู้แทนจาก ตลท., นายจงรัก ระรวยทรง ผู้แทนจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์

นางสุพรรณ โปษยานนท์ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต., นางทิพยสุดา ถาวรามร ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต., นางพราวพร เสนาณรงค์ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.เลขานุการ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. ได้มีการแต่งตั้ง นายชาลี จันทนยิ่งยง และ นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส เป็นที่ปรึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น