xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเสี่ยงวิกฤตเงินไหลออก "ซอคเจน"ช็อกหุ้นไทยซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดตลาดหุ้น "ซอคเจน" แบงก์อันดับ 2 ของฝรั่งเศสเจอโกง 4.9 พันล้านยูโร ส่งผลฝรั่งกระหน่ำขาย ตลาดหุ้นไทยใกล้หลุด 700 จุด "ปกรณ์" ฟันธงผันผวนยาวถึงกลางปีหน้า หวั่นกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเงินนอกไหลออก ขณะที่หุ้นเอเชีย-ยุโรปเงยขึ้นตามวอลล์สตรีท “ปรีดิยาธร เทวกุล” เตือนอย่าเพิ่งยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% “พาณิชย์” ถกทูตพาณิชย์ทั่วโลก หวั่นส่งออกพลาดเป้า

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (24 ม.ค.) ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าในช่วงเช้าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 750 จุด โดยในช่วงบ่ายมีแรงขายออกมาอย่างหนักในหุ้นขนาดใหญ่จากข่าวตลาดหุ้นปารีสสั่งพักการซื้อขายหุ้นโซซิเอเต้ เจเนอราล (ซอคเจน) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดอันดับ2 ของฝรั่งเศส เนื่องจากตรวจพบว่ามีการฉ้อโกงซึ่งมูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 4.9 พันล้านยูโร (7.16 พันล้านดอลลาร์) ส่งผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ 728.58 จุด ลดลง 12.07 จุด หรือ 1.63% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวัน โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 750.01 จุด มูลค่าการซื้อขาย 16,508.98 ล้านบาท

ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,217.77 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 764.91 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,452.86 ล้านบาท

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ถึงกลางปี 2552 จะยังคงผันผวนและเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศมีการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ จากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์)ซึ่งนักลงทุนจะต้องระมัดระวังในการลงทุน โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 13.69% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าตลาดในแถบภูมิภาคโดยมีเพียง 3 ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าตลาดหุ้นไทยนั้น

ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายต่างๆได้ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็ง ก็จะเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินทุนต่างประเทศไหลกลับมาทุนประเทศไทย ดังนั้นจึงมองว่ายังจะไม่มีการออกมาตรการใดๆเพื่อออกมารองรับจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลง

สำหรับปัญหาซับไพรม์เชื่อว่าจะใช้เวลานานในการแก้ไขซึ่งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งเดียว 0.75% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี และยังเป็นการประชุมลดอัตราดอกเบี้ยทางโทรศัพท์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ตลท.ยันดูแลหุ้นทั้งขึ้น-ลง

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวถึงการดูแลหุ้นขนาดเล็กที่มีการเข้ามาเก็งกำไรสูงว่า มาตรการการสั่งห้ามเน็ทเซ็ทเทิลเม้นต์และมาร์จิ้นเทรดดิ้งของตลท.ไม่ได้พิจารณาแค่ช่วงราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนผิดปกติเท่านั้น แต่ตลท.จะพิจารณารวมถึงกรณีที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงผิดปกติด้วย

ทั้งนี้ หากการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาหุ้นมีคำอธิบาย สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้ก็ไม่ถือว่ามีความผิดปกติ แต่หากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไม่สะท้อนถึงเหตุและผลรวมถึงสภาวะการลงทุนของตลท.ก็อาจจะพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวเข้ามาเพื่อปกป้องนักลงทุน

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีซอคเจน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากเนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่ของซอคเจนในประเทศไทยมีไม่มาก เมื่อเทียบกับฮ่องกงที่มีการลงทุนมากกว่าซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสร้างความวิตกให้กับนักลงทุนแต่หากติดตามข้อมูลซึ่งในขณะนี้ยังไม่ทราบว่าความเสียหายจากเรื่องดังกล่าวมีมากเพียงใดและจะส่งผลกระทบต่อไปยังธนาคารอื่นๆหรือไม่ นักลงทุนจึงยังไม่ควรจะตกใจกับเรื่องดังกล่าวจนเกิดเหตุ

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะทำสถิติต่ำที่สุดรอบใหม่อีกครั้งโดยประเมินว่าดัชนีอาจจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยประเมินแนวรับที่ 720 จุด และแนวต้าน 740 จุด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลท.กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยเฉพาะผลจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งจนพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน หากได้ทีมเศรษฐกิจที่ดีเข้ามาบริหารประเทศด้วยแล้ว จะช่วยหนุนให้ทุกอย่างดีมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 4.5-6%
 
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจออกมาไม่ดี ก็ต้องใช้ปัจจัยในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ต้องเดินหน้าต่อหลังจากหยุดพักมากว่า 2 ปี รวมทั้งจะต้องผลักดันกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชนให้ชัดเจนโดยเร็ว เพราะจะเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน

หุ้นเอเชีย-ยุโรปเงยขึ้นตามวอลล์สตรีท

นักลงทุนแถบเอเชียและยุโรปพากันหวนกลับเข้าตลาดล่าหาซื้อหุ้นที่ราคาถูกลงเยอะแล้วเมื่อวานนี้(24) ภายหลังวอลล์สตรีทในคืนวันพุธ(23) ปิดสูงพุ่งแรง ด้วยความหวังที่จะได้เห็นแผนการกู้ชีวิตพวกบริษัทประกันภัยตราสารหนี้ อันจะหยุดยั้งความเสียหายจากตลาดสินเชื่อรอบใหม่ที่กำลังตั้งเค้าได้ อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่เพิ่งเปิดเผยออกมา เกี่ยวกับการทุจริตของเทรดเดอร์รายเดียวแต่สร้างความสูญเสียมหาศาลให้แก่แบงก์ยักษ์สัญชาติฝรั่งเศส ก็เพิ่มความหวั่นไหวให้แก่ภาคการเงินที่ยังคงอยู่ในอาการหวั่นผวาอยู่มาก

ตลาดวอลล์สตรีทในวันพุธ ซึ่งเปิดด้วยอาการใกล้ตื่นตระหนกต่อเนื่องจากวันก่อนๆ โดยที่ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์หล่นลงมากว่า 300 จุด กลับสามารถผงาดกลับขึ้นไปในช่วงบ่าย และปิดโดยบวกเพิ่มขึ้น 298.98 จุด หรือ 2.50% ส่วนดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์500 ปิดสูงขึ้น 2.14% และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดค ปิดบวก 1.05 %

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกนักลงทุนตัดสินใจกล้าออกมาลุยซื้อของถูกในตอนบ่ายวันพุธ หลังวอลล์สตรีทตกต่อเนื่องกันมา 5 วัน ก็คือรายงานข่าวที่ว่า ในวันดังกล่าว หน่วยงานกำกับตรวจสอบการประกันภัยของนิวยอร์ก ได้กดดันพวกแบงก์ยักษ์ใหญ่ ให้ปล่อยเงินหลายพันล้านดอลลาร์ออกมาช่วยเหลือสนับสนุนพวกบริษัทประกันภัยตราสารหนี้ที่กำลังย่ำแย่เต็มที

บริษัทประกันภัยตราสารหนี้ หรือที่เรียกกันว่า บริษัทประกันภัย "โมโนไลน์" กลายเป็นกิจการล่าสุดในภาคการเงินที่สร้างความหวั่นวิตกให้แก่พวกนักลงทุน ในวิกฤตสินเชื่อที่กำลังแผ่ลามไปทั่วโลกคราวนี้ บริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่เข้าไปรับประกันบรรดาตราสารหนี้ต่างๆ นานา ทั้งตราสารหนี้เทศบาลของพวกเมืองหรือนครต่างๆ ตลอดจนพวกตราสารหนี้ที่นำเอาหนี้สินต่างๆ มารีแพกเกจกันใหม่ อย่างเช่นพวก collateralized debt obligation หรือ CDOs (ตราสารการเงินที่มีหนี้เป็นหลักประกัน) ซึ่งพวกแบงก์นิยมออกกันมากในช่วงสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทลูกค้าด้อยคุณภาพ หรือ ซับไพรม์ กำลังบูม

พวกบริษัทโมโนไลน์ใช้เครดิตของตัวเอง ในการไปรับประกันตราสารหนี้เหล่านี้ เพื่อทำให้บริษัทเครดิตเรตติ้งทั้งหลายยอมปรับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารเหล่านี้ให้สูงขึ้น ดังนั้น ถ้าหากบริษัทประกันภัยตราสารหนี้เกิดถูกลดเรตติ้งเสียเอง ตราสารที่พวกเขาไปประกันไว้ก็จะต้องเสียความน่าเชื่อถือไปด้วย

สภาพเช่นนี้ย่อมจะบังคับให้นักลงทุนหลายราย เทกระหน่ำขายตราสารหนี้พวกนี้กันยกใหญ่ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้น และนักลงทุนที่ยังถือตราสารหนี้เหล่านี้อยู่ ก็ต้องลดมูลค่าของมันตามลงมา

"ถ้าคนเหล่านี้ (บริษัทโมโนไลน์) เกิดล้มขึ้นมา ก็จะก่อให้เกิดความหายนะเพิ่มขึ้นอีกมากสำหรับงบดุลของบรรดาแบงก์ และเราก็จะเห็นการตัดลดมูลค่าสินทรัพย์กันอีกรอบหนึ่ง" เอดมุนด์ ชิง นักยุทธศาสตร์แห่งธนาคาร บีเอ็นพี ปาริบาส์ ในกรุงปารีส อธิบาย

ทั้งนี้ ปัญหาที่กระทบถึงอนาคตของพวกบริษัทประกันภัยตราสารหนี้ปรากฏให้เห็นชัดในวันศุกร์ที่แล้ว(18) เมื่อบริษัทเครดิตเรตติ้ง ฟิตช์ ประกาศลดเรตติ้งของ แอมแบค บริษัทประกันภัยตราสารหนี้รายใหญ่ ลงมาจากระดับ AAA

หลังจากการเงยหน้าขึ้นมาได้ของวอลล์สตรีท เมื่อถึงช่วงซื้อขายของทางเอเชียวานนี้ ราคาหุ้นก็เคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกกันเป็นแถว ถึงแม้จะยังคงอยู่ในอาการระวังตัว และนักวิเคราะห์ต่างเตือนว่า ตลาดยังน่าจะอยู่ในภาวะผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง

ตอนปิดตลาด โตเกียวเพิ่มสูงขึ้น 2.06%, สิงคโปร์ บวก 2.23%, เซี่ยงไฮ้ บวก 0.31%, ซิดนีย์บวก 3.1%

ทว่า ฮ่องกงกลับติดลบ 2.3% เนื่องจากตอนใกล้ปิดตลาดได้ทราบข่าวเรื่อง โซซิเยเต้ เจเนราล ธนาคารใหญ่ของฝรั่งเศส แถลงว่าจากการซื้อขายอย่างทุจริตของเทรดเดอร์รายหนึ่ง ทำให้ทางแบงก์เสียหายไป 4,900 ล้านยูโร (7,150 ล้านดอลลาร์)

อย่างไรก็ตาม ข่าวนี้กลับไม่ค่อยมีผลต่อตลาดยุโรปวานนี้นัก โดยในตอนใกล้เที่ยง ลอนดอนบวกอยู่ 4.39%, ปารีส บวก 4.87%, และ แฟรงเฟิร์ต บวก 5.70 %

"อุ๋ย"ขวางเลิกมาตรการ 30%

วานนี้ (24 ม.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกาพิเศษในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ”รัฐบาลใหม่ต้องทำอะไร...ต่อไป ?” ว่า การที่สหรัฐซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อสุดท้ายของโลกลดการใช้จ่าย ยอดนำเข้าสินค้าย่อมลดลง ส่งผลกระทบยอดส่งออกทั่วโลกลดลงตามไปด้วย เราจึงไม่ควรนิ่งนอนใจในปัญหาซับไพรม์ รัฐบาลใหม่ต้องเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์ ซึ่งจะส่งผ่านผลกระทบมาทางตลาดการเงิน จนทำให้คู่ค้าทางการเงินมีปัญหา ไม่สามารถส่งมอบเงินตามข้อตกลงต่างๆ ได้ ปัญหาการส่งเงินไม่ได้ จะลามข้ามประเทศ

"จะกระทบตลาดการเงิน คู่ค้าที่เซ็นสัญญาไว้แล้วจะมีปัญหาแน่นอน รัฐบาลใหม่ต้องเตรียมคนที่เป็นผู้รู้ด้านนี้ไว้ที่จะมาช่วยแก้ปัญหา โดยไม่ใช่แค่แสดงความคิดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจากความไม่ชอบคนนั้นคนนี้ เพราะไม่ว่าใครเข้ามาทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ก็น่าจะเป็นเรื่องดี"

สำหรับผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐต่อตลาดหุ้นไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่ามีไม่มากนัก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีกลไกปกป้องตัวเอง โดยหากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังเดินหน้าต่อไปได้ ตลาดหุ้นไทยก็ยังเดินหน้าไปได้เช่นกันต่างจากตลาดหุ้นอื่นที่ได้รับผลกระทบมากกว่า และเชื่อว่าผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวที่ผ่านทางตลาดการเงินจะกระทบเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าประเทศอื่น

การส่งออกปีนี้จะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-9 ต่างจาก 4-5 ปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไทยอยู่รอดได้ เพราะรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จึงไม่หวังว่าปีนี้การบริโภคเอกชนจะดีขึ้นมากนัก แต่หวังว่าการใช้จ่ายของเอกชนในส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปิโตรเคมี 11 โครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่า หากเริ่มต้นทุนได้แม้ 1 ใน 3 และการเป็นโครงการต้นน้ำจะทำให้โครวงการปลายน้ำอีก 34 โครงการที่รออยู่ เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รอการลงทุนมาปีเศษแล้ว เชื่อว่าเดือน มี.ค.นี้ หากมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการดังกล่าวได้ทั้งหมด จะทำให้การลงทุนปีนี้เติบโตในระดับตัวเลข 2 หลักและอาจจะถึงร้อยละ 20 พร้อมเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ขวางโครงการเหล่านี้ที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ

“สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการคือ เร่งเปิดประมูลโครงการระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เร่งการลงทุนภาครัฐในโครงการต่างๆ ที่รออยู่ ผลักดันโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ที่เริ่มไว้แล้วต่อไป นอกจากนี้ อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่พัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบรถไฟและทางน้ำ เดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) และการจัดสรรทรัพยากรทางน้ำ ขณะที่สิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก ได้แก่ การรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดเหมือนในอดีต การดำเนินโครงการที่เกินกำลังและหมกหนี้ไว้ตามหน่วยงานต่างๆ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

อดีต รมว.คลัง ยังกล่าวเตือนรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ไม่ควรรีบเร่งยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าร้อยละ 13.3 เงินริงกิตของมาเลเซีย ร้อยละ 14 และดอลลาร์สิงคโปร์ร้อยละ 13 ซึ่งกำลังแข็งค่าใกล้เคียงกับเงินบาทซึ่งแข็งค่าที่ร้อยละ 15.7 หากค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าใกล้เคียงค่าเงินบาท จึงจะเป็นช่วงเวลาที่สมควรคิดยกเลิกมาตรการกันสำรองได้ดีที่สุด

การส่งสัญญาณครั้งนี้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลใหม่บุ่มบ่ามยกเลิกมาตรการ 30% เพราะไม่ควรพิจารณาเฉพาะด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาทางปฏิบัติด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังคือการวางตัวผู้ที่จะมาแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พาณิชย์ถกทูตพาณิชย์ทั่วโลก

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ปลายเดือนก.พ.นี้ กรมฯ จะเรียกประชุมหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 53 แห่งทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ รวมทั้งรับนโยบายและทบทวนแผนการส่งเสริมการส่งออกในแต่ละประเทศ และหากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จ ก็จะใช้โอกาสนี้รับฟังนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ด้วย

“ได้มอบการบ้านให้ทูตพาณิชย์มุ่งเรื่องการเข้าถึงตลาดใหม่และผลักดันตัวเลขการขยายตัวทั้งตัวสินค้าและบริการ โดยต้องเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีนักและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ”นายราเชนทร์ กล่าว

ส่วนกรณีที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 2551 น่าจะถดถอยและขยายตัวเพียง 7-8% นั้น นายราเชนทร์กล่าวว่า ไม่ขอออกความคิดเห็น คงต้องไปถามทีดีอาร์ไอเองว่ามองจากอะไร แต่ในส่วนของกรมฯ ยังคงคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกปี 2551 เพิ่มขึ้น 10-12.5%

สหพัฒน์มอง ศก.ไทยปี’51 ยังอึมครึม

นายบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยอมรับว่าแรงซื้อของคนไทยต้นปีมายังไม่ดีขึ้นนัก โดยยังอยู่ในภาวะทรงตัว ดังนั้นรัฐบาลใหม่มาจะเป็นอย่างไรคงไม่สามารถตอบได้ เพราะจำเป็นต้องรอดูว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองบ้าง และนโยบายจะออกมาเช่นใดก่อนแต่รัฐบาลผสมที่มาจาก 6 พรรคทิศทางการทำงานก็คงจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ได้

“ปีที่แล้วมองว่าเศรษฐกิจน่าจะดีก็ไม่ดีเพราะต่างประเทศดีแต่ในประเทศไม่ดีนัก ปีนี้ต่างประเทศแย่แต่ในประเทศเองก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะดีไหมขอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อน แต่เฉลี่ยแล้วปีนี้ก็คงไม่ดีนักจีดีพีน่าจะอยู่ 4-5% เพราะเศรษฐกิจไทยแย่ตั้งแต่ปฏิวัติแล้ว ส่วนซับไพร์มที่เกิดขึ้นขณะนี้คงจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2551 พอสมควร”นายบุญสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สหพัฒน์ได้มีการปรับตัวนับตั้งแต่ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วด้วยการประคองการผลิตให้อยู่ในระดับ เดิมให้ได้ และลดการส่งออกไปในสหรัฐให้น้อยลง แต่หันมาตลาดใหม่อย่างในเอเชีย และยุโรปให้มากขึ้น ส่วนในเรื่องการผลิตสินค้ามีต้นทุนปรับสูงขึ้นมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ควรที่จะกดราคาสินค้าให้ต่ำ เพราะหากกดราคาสินค้าให้ต่ำมากๆ อาจไม่มีสินค้าผลิตออกมาขาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด โดยขณะนี้เชื่อว่าประชาชนยอมรับได้กับราคาสินค้าที่กำลังปรับขึ้น ดังนั้นควรปล่อยให้สินค้าทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาด แล้วรัฐบาลใหม่ควรมองหาแนวทางที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น