xs
xsm
sm
md
lg

ฝรั่งจ่อทิ้งหุ้นอีก 5 หมื่นล.เมินข่าวเฟดหั่นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยเมินข่าวเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.75% ระหว่างวันเทรดสุดสวิง เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์ คาด ฝรั่งรอทิ้งอีก 5 หมื่นล้าน ขณะที่ระยะเวลาแค่ 7 เดือนขายไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ระบุยังไม่ถึง 1 ใน 3 ของยอดที่ซื้อสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บล.ยูบีเอส เผย ต่างชาติยังมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นไทย เหตุผลตอบแทนสูง รอรีเทิร์นรอบใหม่หลังปรับพอร์ตทั่วโลก โบรกเกอร์คาดเฟดพร้อมหั่นดอกเบี้ยอีก 1% พยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (23 ม.ค.) นักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับนักลงทุนสถาบันที่ฉวยจังหวะราคาหุ้นปรับตัวลดลงเก็บของเข้าพอร์ต ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นลงอย่างผันผวน โดยปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดของวันที่ 759.82 จุด และจุดต่ำสุดที่ 739.47 จุด ก่อนจะปิดที่ 740.65 จุด ลดลง 0.89 จุด หรือ 0.12% มูลค่าการซื้อขาย 22,233.33 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,915.32 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,488.59 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 426.73 ล้านบาท

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่า นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 คาดว่า นักลงทุนต่างประเทศจะยังคงขายหุ้นออกมาอีกประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 2,000 ล้านบาท โดยจากปัญหาซับไพรม์ทำให้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นไทยแล้วจำนวน 1.1 แสนล้านบาท

โดยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะปรับตัวลดลงเหลือ 710 จุดได้ ซึ่งจะทำให้มีค่า P/E ประมาณ 8 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก โดยการที่ราคาหุ้นไทยถูกนั้นจะมีส่วนช่วยดึงดูดเม็ดเงิน เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลงต่ำ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรจะอยู่ในอัตราต่ำ ทำให้นักลงทุนต้องหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยเกือบ 4 แสนล้านบาท การขายออกมาจากปัญหาซับไพรม์ถึงปัจจุบันจำนวน 1.1 แสนล้านบาท ยังไม่ถึง 1 ใน 3 ถือว่ายังมีเม็ดเงินเหลืออีกเยอะ หากจะมีการขายหุ้นออกมา โดยหุ้นที่จะขายก็มีประมาณ 10 ตัว ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ในกลุ่มพลังงาน ธนาคาร อาจทำให้ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ 710 จุด แต่คงจะไม่ถึง 680 จุด เพราะหากลดลงจริงจะแสดงถึงว่าเศรษฐกิจจะล่มสลาย”

นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสัปดาห์หน้าสมาคมนักวิเคราะห์จะมีการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ในเรื่องเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ ซึ่งคาดว่า นักวิเคราะห์ต่างๆ จะปรับเป้าดัชนีลดลง ซึ่งอาจจะไม่ถึงประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ 1,000 จุด โดยส่วนตัวมองว่าดัชนีปีนี้จะอยู่ที่ 858-900 จุด ได้ และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/51 ในอัตรา 0.25-0.5%

**ลุ้นดาวโจนส์ชี้นำดัชนีโลก

นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลอดทั้งวันดัชนีเคลื่อนไหวอย่างผันผวนตอบรับข่าวการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดถึง 0.75% มาอยู่ที่ 3.50% เพื่อบรรเทาปัญหาทางซับไพรม์ แต่นักลงทุนเองยังมีความกังวลต่อเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ช่วงท้ายตลาดมีแรงขายออกมาอย่างหนักจนส่งผลทำให้ดัชนีพลิกกลับมาปิดในแดนลบ
ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น PTT, TOP, PTTEP, PTTAR ช่วยประคองไม่ให้ดัชนีปรับตัวลดลงไปมาก แต่ในวันนี้ (24 ม.ค.) ทิศทางของดัชนีจะต้องดีตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ เนื่องจากถือว่าเป็นดัชนีที่ชี้นำดัชนีตลาดหุ้นมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเรื่องการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลต่อจิตวิทยาในการลงทุน เนื่องจากเป็นเรื่องที่นักลงทุนรับทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 735-730 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 750-755 จุด

**เชื่อเฟดหั่นดอกเบี้ยเพิ่มอีก

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบของซับไพรม์มี 2 ด้าน คือ กระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ให้ปรับตัวลดลงและเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหุ้นในย่านเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพราะยังมีผลกระทบปัญหาซับไพรม์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก 2-3% จากล่าสุดปรับลดลงไปแล้ว 0.75% ทำให้เป้าหมายดัชนีหลักทรัพย์ปีนี้ลดลงเหลือ 915 จุด

ทั้งนี้ คาดผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนคงจะมีการปรับลดลงเช่นกัน ขณะที่ผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอาจทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินไว้ที่ 4.5-5% ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก

Mr.Keith Neruda Head of Research บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อประเทศไทยจากที่เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี และให้ผลตอบแทนการลงทนุที่สูง แต่การขายหุ้นออกมาต่อเนื่องเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่กดดัน ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีการขายหุ้นในตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลก โดยบริษัทได้ปรับลดประมาณการดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้เหลือ 950 จุด จากเดิม 1,080 จุด

**ขายหุ้นชดเชยผลขาดทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากซับไพรม์กระทบไปยังวงกว้างและกระทบถึงสถาบันทางการเงิน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องขายหุ้น เพื่อนำกำไรเพื่อชดเชยผลขาดทุน จึงทำให้มีแรงขายหุ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในตลาดหุ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ดีดขึ้นจากปรับตัวลดลงกว่า 500 จุด มาปิดลดลงเพียง 200 จุด ขณะที่เฟดยังได้ส่งสัญญาณพร้อมที่จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยการประชุมครั้งต่อไปเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกประมาณ 1%

“ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี แต่ตลาดหุ้นไทยตอบรับปัญหาซับไพรม์นั้นเกินความเป็นจริง จึงทำให้หุ้นขึ้นและลงเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้นพร้อมรับปัญหาที่เกิดเนื่องจากธนาคารและบริษัทจดทะเบียนไม่ได้ประสบปัญหา ทำให้รองรับปัญหาเศรษฐกิจโลกได้”
สำหรับประเด็นที่น่าจับตามอง คือ เมื่อราคาหุ้นของสถาบันทางการเงินในสหรัฐฯปรับลดลง มีคนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน เพราะสหรัฐฯมีตัวกลางทางการเงินที่หลากหลาย และอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันทางการเงินเหล่านั้นได้ปรับลดลงมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงสภาพคล่องทั่วโลกที่เข้ามาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับค่าเงินสหรัฐฯที่อ่อนค่ารวมถึงปัญหาซับไพรม์ จึงเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอีกมาก และใช้เวลานาน
กำลังโหลดความคิดเห็น