xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มตลาดการลงทุนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ไทย) จำกัด

 ตลาดตราสารหนี้

สถานการณ์ในเดือนกันยายน

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยแบบ Outright ต่อวันในเดือนกันยายน 2551 ของตลาดตราสารหนี้ลดลงเป็น 70.780 พันล้านบาทจาก 76.90 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.60 และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร?อยละ 0.62 ณ สิ้นเดือนกันยายน ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.52 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.41 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.00 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.85 ปี อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1 - 6 เดือน ไม่เปลี่ยนแปลง พันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 ปีปรับตัวลดลงร้อยละ 0.06 ถึง 0.11 พันธบัตรระยะกลางอายุ 5-10 ปี ปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.04 ถึง 0.14 และพันธบัตรระยะยาว 10-19 ปี ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.06 ถึง 0.14 ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.14 ถึง 0.20

แนวโน้ม

สภาวะตลาดในเดือนตุลาคม คาดว่าตลาดตราสารหนี้ไทย จะเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ การลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศยังไม่แนนอน โดยนักลงทุนบางกลุ่มยังคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนอุปทานใหม่ของตราสารหนี้ภาครัฐในปีหน้า คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนของอัตราผลตอบแทนน่าจะแกว่งตัวและผันผวน เนื่องจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แต่ปัจจัยหลักน่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ของสถาบันการเงินทั่วโลก


กลยุทธ์ประจำเดือน
กลยุทธ์การลงทุนคือ เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และระยะกลาง


ตลาดตราสารทุน เดือนตุลาคม 2551

สรุปภาวะและแนวโน้มตลาดหุ้น

สรุปตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายน 2551


- การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือน สิงหาคม ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ในเดือน กรกฎาคม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 20.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 27.8 และร้อยละ 26.0 ในเดือนกรกฎาคม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 23.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 28.1 ในเดือนกรกฎาคมดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ในเดือนกรกฎาคม การนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.1ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่อัตราการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวลงอีกร้อยละ 17.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวลงร้อยละ 15.0 ในเดือน กรกฎาคม

- ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ช่วยลดการขาดดุลการค้า แต่รายได้ภาคบริการอาจยังคงอ่อนตัวต่อในเดือนกันยายน

การนำเข้ายังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มากกว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงขาดดุลที่ระดับ 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่รายได้จากภาคบริการ (177 ล้านเหรียญฯ) ลดต่ำลง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนสิงหาคมเทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนกรกฎาคม) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ดังนั้นเราคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายนยังคงอ่อนตัวลง แต่อัตราการจองห้องพักของโรงแรมเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551

สรุปภาวะตลาดเดือนกันยายน

SET ปรับตัวลดลงตลอดเดือนกันยายน โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตการเงินทั่วโลก ทั้งๆที่ภาพรวมทางการเมืองภายในประเทศปรับตัวขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกันยายนความสนใจมุ่งไปที่การเมืองภายในประเทศเพราะมีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้นายกฯสมัครลาออก ซึ่งในที่สุดก็เกิดขึ้นตอนกลางเดือน ภาพรวมทั่วโลกได้เลวร้ายลงในช่วงครึ่งเดือนหลังหักล้างภาพที่เป็นบวกจากสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายลง SET ร่วงลงแรงมากตามตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นภูมิภาคที่มีอาการตอบรับในด้านลบต่อการยื่นล้มละลายของบริษัทเลห์แมนและปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นกับ AIG ในสหรัฐฯ แม้รายละเอียดของแผนกู้วิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯจะปรากฏให้เห็นในช่วงปลายเดือนกันยายน แต่การที่สภาคองเกรสปฏิเสธแผนดังกล่าว และการเจรจาที่ยังไม่สิ้นสุดลง เป็นสาเหตุทำให้ SET ปรับตัวลงมาต่ำกว่าระดับ 600 จุด มาอยู่ที่ 596.54 จุดตอนสิ้นเดือนกันยายน

แนวโน้มตลาดเดือนตุลาคม

เดือนตุลาคมน่าจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นผันผวนอีก 1 เดือน แม้รัฐบาลสหรัฐฯจะผ่านแผนกู้วิกฤตภาคการเงินออกมาได้สำเร็จภายในสัปดาห์แรกของเดือน แต่ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดการเงินในได้อย่างเบ็ดเสร็จ และความกังวลเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่อาจจะลุกลามไปในภูมิภาคอื่นจะเป็นตัวกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่อาจจะทำให้ SET ทรงตัวอยู่ได้ คือ 1) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯเร็วขึ้นและมากขึ้น โดยปัจจุบันคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 ในวันที่ 29 ตุลาคม และ 2) การผ่านงบประมาณปี 2552 ของไทย ซึ่งมีงบลงทุนในโครงการใหญ่ๆ

กลยุทธ์ประจำเดือนตุลาคม

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวด ธนาคารขนาดใหญ่ สื่อสาร บริษัทที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ และอสังหาริมทรัพย์ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหมวดพลังงาน ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง

กำลังโหลดความคิดเห็น