xs
xsm
sm
md
lg

สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้-ตราสารทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบี

ตลาดตราสารหนี้

สถานการณ์ในเดือนมกราคม

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนมกราคม 2551 ของตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 110.78 พันล้านบาทจาก 101.26 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 4.91 และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.81 ณ สิ้นเดือนมกราคม ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.02 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.53 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.31 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.88 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลงทั้งเส้น โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1-6 เดือนปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 0.08 ถึง 0.26 พันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 ปีปรับตัวลดลงร้อยละ 0.52 ถึง 0.84 พันธบัตรระยะกลางอายุ 4-10 ปีปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.82 ถึง 0.90 และพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 0.76 ถึง 0.89

แนวโน้ม

สภาวะตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเดือนมกราคม เนื่องมาจากภาวะดอกเบี้ยของโลก แต่คาดว่า จะมีการขายทำกำไรในตราสารหนี้ของนักลงทุนกันบ้าง เพราะผลตอบแทนลดลงมาค่อนข้างมากแล้วในเดือนมกราคม ซึ่งจะส่งผลให้ อัตราผลตอบแทนขยับขึ้นมาบ้าง ปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ในเดือนนี้ น่าจะเป็นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ในช่วงนี้นักลงทุนยังสนใจลงทุนตราสารในช่วง 3 – 7 ปี

กลยุทธ์ประจำเดือน

กลยุทธ์การลงทุนคือ ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เปลี่ยนเป็นตราสารหนี้ระยะกลาง

ตลาดตราสารทุน

ตัวเลขเศรษฐกิจ

- อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 19.9เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.0% ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงที่ร้อยละ 0.9 เทียบปีต่อปี ลดลงจากร้อยละ 3.7 รายได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เทียบปีต่อปี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ลดลงจากระดับร้อยละ 29.2 รายได้เกษตรกรขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งที่ร้อยละ 27.1 เทียบปีต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2

- การขยายตัวที่ดีของผลผลิตอุตสาหกรรมได้รับแรงกระตุ้นจากการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เทียบปีต่อปีในเดือนธันวาคม ลดลงเล็กน้อยจากระดับร้อยละ 12 ในเดือนก่อนหน้า ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือหมวดอิเลคทรอนิคส์ (เพิ่มขี้นร้อยละ 33.6 เทียบปีต่อปี) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 15.0) อาหาร (ร้อยละ12.6) และเหล็กกับเหล็กกล้า (ร้อยละ 10.9) อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับร้อยละ 78.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 77.2

- เกินดุลการชำระเงินและเกินดุลบัญชีสะพัดจำนวนมากบ่งชี้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกินดุลการชำระเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่จำนวน 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังมียอดเกินดุลจำนวนมากถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการขยายตัวของการส่งออกในสกุลดอลลาร์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้นลดลงร้อยละ 19.5 เทียบปีต่อปี จากร้อยละ 24.5 นอกจากนี้อัตราการขยายตัวของการนำเข้าในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10.6% เทียบปีต่อปี จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เงินสำรองระหว่างประเทศ และยอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการแทรกแซงของ ธปท.

สรุปภาวะตลาด

ปัญหาต่อเนื่องเกี่ยวกับซับไพรม์และความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยเป็นสาเหตุทำให้ SET ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.57 ใน 3 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ทั้งๆที่แนวโน้มทางการเมืองภายในประเทศที่ดีขึ้นและธนาคารกลางสหรัฐฯสร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 0.75 หลังจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.50 อีกครั้ง และเมื่อมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯก็หนุนให้ตลาดดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำของเดือนที่ระดับ 728.58 จุด สู่ระดับ 784.23 จุด ทำให้ทั้งเดือนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ติดลบเพียงร้อยละ 8.6

แนวโน้มตลาดเดือนกุมภาพันธ์

การพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยรวมเป็นปัจจัยบวกต่อดัชนีในระยะสั้น เราคาดว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นในระยะสั้นเพราะความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นซึ่งน่าจะได้อานิสงค์จากแนวโน้มของนโยบายที่ชัดเจนขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน (พปช.) รวมกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคจะมีจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาประมาณ 316 คนจาก ส.ส.ทั้งหมด 480 คนซึ่งกุมเสียงค่อนข้างมากในสภา ดังนั้นถึงแม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงหลงเหลืออยู่อีกมากแต่รัฐบาลร่วมชุดนี้อาจจะสามารถอยู่ดำเนินนโยบายได้นานกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้

แต่ปัจจัยภายนอกจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระยะสั้นผันผวนต่อไป ทั้งๆที่สหรัฐฯประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเฉพาะการลดมูลค่าสินทรัพย์สืบเนื่องจากปัญหาสินเชื่อในสหรัฐฯยังอยู่เป็นปัญหาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

กลยุทธ์ประจำเดือนกุมภาพันธ์

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวดธนาคารขนาดใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และโทรคมนาคม

ให้น้ำหนักเท่ากับตลาดในหมวดพลังงาน และอสังหาริมทรัพย์

กำลังโหลดความคิดเห็น