xs
xsm
sm
md
lg

BBL หนุนแบงก์ชาติลด ดบ. สกัดบาทแข็ง-เงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มวูบต่อ คาดเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องทั้งปีเหลือแค่ 1% และส่งผลให้เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นอีก แนะธปท.ลดดอกเบี้ยตาม เพื่อลดผลกระทบ ยันไม่ส่งผลต่อเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมากนัก ระบุสาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากด้านต้นทุนไม่ใช่ด้านอุปสงค์

รายงานจากฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ระบุว่า จากความตระหนกที่มีเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีสัญญานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทรุดลงหนักกว่าที่คาด เมื่อการผิดนัดชำระคืนหนี้พุ่งสูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่คาดกันว่าเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกประมาณร้อยละ 1.25 ทำให้ตลอดทั้งปี เหลือเพียงร้อยละ 1.0 และต้องทำการเพิ่มทุนใหม่ให้กับธนาคารเป็นการด่วน เพื่อป้องกันมิให้สถาบันการเงินล้มครืนแบบโดมิโน

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมายังมีเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเซีย รวมทั้งประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แต่ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง และยังคงเติบโตดี ตลอดจนรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวลง จึงทำให้ยังคงเป็นภูมิภาคที่น่าลงทุน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นจากเงินทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศในวันที่ 14 มีนาคม ศกนี้ พุ่งสูงเป็น 105.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์และมกราคมที่มีจำนวน 97.82 และ 90.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 31.39, 31.85 และ 32.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การป้องกันค่าเงินแข็ง โดยใช้กลไกตลาดในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะสั้นและปานกลาง จะสามารถดำเนินการได้โดยการระบายเงินไหลออกนอกประเทศให้มากขึ้น โดยการนำเข้าที่มากขึ้น แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อาจทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนค่อนข้างต่ำมาก โดยในปีที่แล้วแทบไม่ขยายตัว มีอัตราเพียงร้อยละ 0.5 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 76.9 ใกล้เคียงกับช่วงระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าบางส่วนยังยืดการนำเข้าออกไป เพื่อรอให้ค่าเงินแข็งค่ามากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้า

ด้านการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศที่ผ่านมา อาจมีการลงทุนไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงทั่วโลก และแม้จะมีการส่งเสริมให้กองทุนออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น แต่จากสถานการณ์การเงินโลกยังมีความเสี่ยงสูง จึงไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ขณะที่การเร่งชำระหนี้เงินกู้ อาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จึงขาดแรงจูงใจในการเร่งคืนเงินกู้ต่างประเทศ ประกอบกับการคืนเงินกู้ก่อนกำหนดของทางการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสัญญาการกู้เงิน ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนในการชำระคืนเงินกู้เพิ่มขึ้นเนื่องจากอาจต้องชำระค่าปรับจากการเสียโอกาสในการให้กู้ตามข้อตกลง

และอีกแนวทางคือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที และส่งผลดี 2 ประการ คือ เป็นการลดต้นทุนการแทรกแซงค่าเงินในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งสามารถป้องกันการเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ จากการแสวงหาประโยชน์จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมากอย่างที่เป็นกังวล เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยในขณะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากด้านต้นทุน ขณะที่ความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ในปี 2550 ชะลอตัวลงอย่างมากจากร้อยละ 4.2 ในปี 2549 แม้จะมีสัญญานปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในระยะสั้นของรัฐบาล แต่เนื่องจากราคาสินคาที่มีราคาแพงขึ้นมาเกือบทุกประเภทหมวดสินค้า จะลดทอนความสามารถในการใช้จ่ายลง ยังผลให้การอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ได้มากนัก ประกอบกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่จะยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้ อีกทั้ง เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซาลงมาก จึงอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ

นอกจากนี้ แม้ทางการจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่เมื่อมีความต้องการซื้อพันธบัตรเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาว (Yield curve) ปรับตัวลดลง ทำให้การตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงเกินไปจะไม่มีประสิทธิภาพในการลดเงินเฟ้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น