xs
xsm
sm
md
lg

เสนอรัฐลดดอกเบี้ยกระตุ้นจีดีพี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเศรษฐศาสตร์จากสแตนชาร์ตฯ ระบุหากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ 5 % ตามเป้าหมายต้องใช้นโยบายการเงินเข้าช่วยด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเรียกความเชื่อมั่น ส่วนประเด็นเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาหลัก ด้านทุนสำรองของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องล่าสุด 11 ม.ค.รวม 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.7 แสนล้าน เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ผลจากแทรกแซงบาทอย่างหนักของแบงก์ชาติช่วงที่ผ่านมา

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความท้าทายมากขึ้นโดยน่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 4% เนื่องจากปัจจัยทางด้านการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะทำการภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่เดิมคาดว่าจะมีการฟื้นตัวนั้นต้องมีความล่าช้าออกไปอีก รวมถึงภาคการส่งออกที่จะมีการชะลอตัวลงจากการที่เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการจะให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 5% จำเป็นต้องมีการใช้นโยบายทางคลังและการเงินควบคู่กันไปเพื่อช่วยผ่อนคลายปัจจัยลบและช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย แต่ขณะนี้นโยบายภาคการคลังยังไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินก่อน อย่างไรก็ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลังสามารถทำได้โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

โดยนโยบายการเงินที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าหลายฝ่ายจะให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อและเห็นว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาดังกล่าว แต่มองว่าปัญหาเงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นหลักที่ต้องกังวล เพราะปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากราคาน้ำมันในต่างประเทศเป็นปัญหาที่ประสบกันในทุกประเทศและเป็นปัจจัยภายนอกซึ่งเชื่อว่าในช่วงกลางปีราคาน้ำมันน่าจะมีการปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้นประเด็นสำคัญของประเทศไทยในตอนนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีการพิจารณาปรับลดลงในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 โดยน่าจะปรับลดลงครั้งละ 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยทั้งปีลงมาอยู่ที่ 2.75% ส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 3% ภายในกลางปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.25% ซึ่งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยและรักษาระดับความห่างจากอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นมีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นการลดภาระของเอกชนรวมถึงเป็นการลดแรงกดดันของค่าเงินบาท

ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการอ่อนค่าลง เป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เริ่มมีการชะลอตัว รวมถึงปัญหาซับไพรม์ที่จะยังมีความรุนแรงไปจนถึงกลางปีนี้ โดยคาดว่าค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีน่าจะมีการปรับตัวขึ้นไปแข็งค่าที่สุดที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจากทิศทางว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้ค่าอ่อนบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ถ้าปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐสามารถจบลงในครึ่งปีหลังนี้จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีการแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง เงินบาทก็คงรีบาวน์ขึ้นมารวมถึงค่าเงินในภูมิภาคด้วย นอกจากนี้คาดว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีนี้จะลดลง จากการการส่งออกที่เติบโตช้าลง เพราะภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่การนำเข้ามีโอกาสขยายตัวมากขึ้น" นางสาวอุสรากล่าว

วานนี้ (18 ม.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 11 ม.ค.2551 อยู่ที่
89.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 4 ม.ค.2551 ที่ 89.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย วันที่ 11 ม.ค.2551 อยู่ที่ 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2551 ซึ่งอยู่ที่ 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ยอดรวมทุนสำรองฯ รวมฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิล่าสุดอยู่ที่ 110.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

วานนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.04/05 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากระดับเปิดตลาดเช้าที่ 33.10/12 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.01 บาท/ดอลลาร์ สาเหตุจากแรงเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกต่อเนื่อง และแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังเมอร์ริล ลินซ์ ประกาศตัวเลขขาดทุนถึง 9.8 พันล้านดอลลาร์ ที่ทำให้ตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ปรับลดลงมากว่า 300 จุด คาดว่าในสัปดาห์หน้า เงินบาทมีโอกาสหลุด 33 บาท/ดอลลาร์ โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.10 บาท

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์หน้าจะยังแรงกดดันก่อนที่จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปลายเดือนม.ค. ที่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50%

"ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ส่งออกกลัวว่าจะหลุด 33 บาท/ดอลลาร์ หลังหลุดแนวรับที่ 33.10 บาท/ดอลลาร์ ก็ต้องลุ้นว่าสัปดาห์หน้าจะหลุด 33 บาท/ดอลลาร์หรือเปล่า แต่คิดว่าคงหลุด เพียงแต่ว่าจะหลุดช้าหลุดเร็ววันไหนท่านั้น" นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพกล่าวและคาดว่าก็ยังมีแรงขายดอลลาร์จากผู้ส่งออก ขณะที่ผู้นำเข้าก็ยังไม่ทำรายการเพราะรอให้เงินบาทหลุด 33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งหากทางการเข้ามาดูแลก็อาจรีบาวน์ได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น