ผู้จัดการรายวัน-- อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปีนี้อาจจะไม่ถึง 7% ซึ่งนับเป็นการถดถอยอย่างรุนแรงในรอบหลายปี อันเนื่องมาจากเงินเฟ้อรุนแรง และเชื่อว่าอัตราเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงต้นปีหน้า
กระทรวงวางแผนและการลงทุนได้ออกตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจล่าสุดประจำเดือน ส.ค. ระบุว่าเงินเฟ้ออาจจะลดลงฮวบในปีหน้า ซึ่งจะหนุนส่งให้เศรษฐกิจเวียดนามสามารถฟื้นตัวขึ้นมาและขยายตัวในอัตราสูงได้ต่อไป ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien Phong)
รัฐสภาเวียดนามได้มีมติในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมารับรองการขอลดเป้าการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี จาก 8.5-9.0% ลงเหลือเพียง 7% หลังจากเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นสูงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่กระทรวงวางแผนฯ กล่าวว่า ตัวเลข 7% ก็อาจจะไม่สามารถทำได้
มองในแง่ดีก็คือ การผลิตอุตสาหกรรมของเวียดนามจะยายตัวต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ และเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้นมาในไตรมาสที่สามและสี่จะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งหากรูปการเป็นเช่นนี้การขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ระหว่าง 6.6-6.8%
แต่ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกคือ จะให้ได้ตัวเลข 6.6-6.8% อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะต้องไม่เกิน 30% จาก 28% ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา
มองในแง่ร้ายยิ่งขึ้น การขยายตัวของจีดีพีอาจจะทำได้เพียง 6.2-6.5% เท่านั้น เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอาจจะลดลงในช่วงเดือนที่เหลืออยู่ อันเนื่องมาจากขาดเงินทุน วัตถุดิบราคาสูงขึ้น ไฟฟ้าไม่พอใช้และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจจะผันผวนอย่างหนักในช่วงปลายปี
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งยังมีความวิตกว่า เงินเฟ้อปลายปีอาจจะพุ่งขึ้นอีกเช่นเดียวกันกับทุกปี อันเนื่องมาจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ที่ไหลเข้าจำนวนมาก เช่นเดียวกับเงินที่ชาวเวียดนามโพ้นทะเลส่งกลับบ้านจำนวนมหาศาล
ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดประจำทุกปี สื่อของทางการกล่าว
ช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้เวียดนามได้ตั้งอนุมัติโครงการ FDI มูลค่าเกือบ 44,000 ล้านดอลลาร์ และ ตั้งเป้าให้มีการใช้จ่ายเงินเข้าในโครงการจริงทั้งปีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
ภายใต้สถานการณ์ที่มีเงินสะพัดในตลาด เงินเฟ้อระหว่างเดือนอาจจะพุ่งขึ้นเป็นระหว่าง 1.7-2.2% ซึ่งอาจจะทำให้อัตราเฟ้อสะสมตลอดปีพุ่งขึ้นเป็น 31.5-33% แทนที่จะเป็น 29-30% ตามที่คาดหมาย
**ปีหน้าโตหรือหดตัวต่อไป?**
ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงวางแผนฯ มองสถานการณ์เงินเฟ้อเวียดนามเป็นสองทิศทางสำหรับปี 2552 นี้
ความเป็นไปได้ประการแรกก็คือ หากสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในระดับที่ยอมรับได้ เงินลงทุนต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับ 110-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาเหล็กก่อสร้างลดลงเพียงเล็กน้อย เศรษฐกิจเวียดนามจะยังเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง
ถ้าหากพื้นฐานต่างๆ เป็นไปดังคาด จีดีพีจะขยายตัว 7-7.5% อัตราเฟ้อของเงินจะลดลงเหลือ 13-15% ขณะที่การขาดดุลการค้าจะอยู่ประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์ การลงทุนภายในประเทศในปี 2552 ก็จะสูงขึ้นกว่าในปี 2551 โดยคิดเป็นประมาณ 41.06% ของจีดีพี และการขาดดุลงบประมาณจะเป็นประมาณ 5.11% ของจีดีพี
เมื่อมองในทางที่เป็นลบมากกว่า หากเวียดนามไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้การผลิตแขนงต่างๆ ตกอยู่ในความยากลำบาก ขาดแคลนเงินทุนและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก
หากสภาพการณ์เป็นเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องลดการลงทุนของภาครัฐและต่อสู้กับการขาดดุลการค้าต่อไป
ภายใต้การคาดการณ์ในทางที่เลวร้ายลงนี้ จีดีพีปี 2552 จะขยายตัว 6-6.5% เงินเฟ้อจะอยู่ระหว่าง 10-12% ตัวเลขขาดดุลจะอยู่น้อยกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ การลงทุนภายในประเทศอยู่ในระดับเดียวกับปี 2551 และการขาดดุลงบประมาณก็จะลดลงเหลือต่ำกว่า 4.8% ของจีดีพี
ถึงแม้จะมีความพยายามยิ่งยวดและอย่างต่อเนื่องก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อในเวียดนามยังคงรุนแรง อัตราเฟ้อปีต่อปีในเดือน ส.ค.นี้ พุ่งขึ้นสูงถึง 28.3% เช่นเดียวกันกับตัวเลขขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 16,000 ล้านดอลลาร์
แต่ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อระหว่างเดือนเพิ่มขึ้น 1.56% จากเดือน ก.ค. ลดลงจาก 2.4% ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. ทำให้อัตราเฟ้อตั้งแต่ต้นปีกลายเป็น 21.7% ทั้งนี้เป็นตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นของสำนักงานใหญ่สถิติเวียดนาม (Vietnam's General Statistics Office)
เศรษฐกิจเวียดนามเจอปัญหาเงินเฟ้อที่แก้ไม่ตก โดยมีอัตราเป็นตัวเลข 2 หลักมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและรุนแรงยิ่งขึ้นในต้นปีนี้ ขณะที่ราคาข้าวและอาหารในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง ฉุดราคาขายในประเทศพุ่งขึ้นตาม จนเกิดความปั่นป่วนขึ้นในสังคมในเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา.