xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรช่วยดันส่งออกก.ค.ทำสถิติสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยในเดือนก.ค.2551 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีการทำสถิติใหม่เกิดขึ้น โดยเป็นการทำสถิติส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ไทยมีการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ได้ทำสถิติส่งออกสูงสุดไปแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ในเดือนพ.ค. และเดือนมิ.ย.
โดยในเดือนก.ค. ไทยส่งออกได้เป็นมูลค่า 16,957.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.9% เป็นการส่งออกที่มีมูลค่าเกิน 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และทำสถิติส่งออกสูงสุดเป็นเดือนที่ 3 โดยตัวเลขที่ทำได้ในเดือนพ.ค. คือ ส่งออกได้มูลค่า 15,463.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.39% และเดือนมิ.ย.ส่งออกได้มูลค่า 16,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.44%
ขณะที่การนำเข้าในเดือนก.ค.นี้ มีมูลค่า 17,984.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55.1% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยขาดดุลการค้า 1,026.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
การส่งออกในเดือนก.ค.ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนั้น เป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การส่งออกมีมูลค่า 3,063 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 71.8% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มูลค่า 756 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 212.1% ยางพารา มูลค่า 720 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 51.9% อาหารทะเลกระป๋องแช่แข็งและแปรรูป มูลค่า 614 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.7% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 221 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.8% ไก่แช่แข็งและแปรรูป มูลค่า 138 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 103.1%
“จะเห็นได้ว่าเดือนนี้ สินค้าเกษตรเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันให้การส่งออกขยายตัว โดยภาคเกษตรโดยรวมส่งออกขยายตัวได้สูงถึง 71.8% ทำให้เกษตรกรของประเทศมีรายได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย”นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกกล่าว
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญรวมเชื้อเพลิง มีการส่งออกเป็นมูลค่า 12,756 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.4% โดยมีสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อัญมณี เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์และกระดาษ และเครื่องสำอาง
ทางด้านการนำเข้าในเดือนก.ค. ที่ดูเหมือนว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปแล้ว พบว่าสาเหตุที่ทำให้มีการนำเข้าเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเชื้อเพลิงนำเข้ามูลค่า 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 98.24% และยังมีการนำเข้าแท่งขุดเจาะ มูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และก๊าซแอลพีจี 200 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ไม่มีการนำเข้า
นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าทุน มีการนำเข้าสูงถึง 4,042.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.3% เป็นการนำเข้าเพิ่มตามการขยายตัวของการขยายการลงทุนและการขยายตัวของการส่งออก สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 7,829.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.9% เพื่อรองรับการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้า 1,362.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 48.3% สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง นำเข้า 523.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.5% ตามการขยายตัวเพิ่มของยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ และการขยายตัวของการส่งออกในหมวดยานยนต์
ลองไปดูด้านตลาดส่งออก ก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดใหม่ขยายตัวสูง 56.1% โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย 109% อินโดจีนและพม่า 90.8% แอฟริกา 88.3% ตะวันออกกลาง 67.2% เกาหลีใต้ 66.1% ยุโรปตะวันออก 45.6% ฮ่องกง 41.5% ลาตินอเมริกา 39% จีน 37.2% อินเดีย 13.8% และแคนาดา 13.2% ส่วนตลาดหลัก ขยายตัว 33.2% ได้แก่ อาเซียน 5 ประเทศ 61.7% ญี่ปุ่น 27.6% สหรัฐฯ 20% สหภาพยุโรป 15.1%
ทำให้จนถึงขณะนี้ สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเหลือ 51.6% ตลาดใหม่เพิ่มเป็น 48.4% และคาดว่าสัดส่วนระหว่างตลาดหลักกับตลาดใหม่จะเป็นสัดส่วน 50/50 ได้ในไม่ช้านี้
สำหรับยอดรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ประเทศไทยสามารถส่งออกได้แล้วมูลค่า 104,170 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.1% คิดเป็น 60.9% ของเป้าหมายการส่งออกรวม ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 106,264.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.8% ขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 2,094.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากตัวเลขข้างต้น เหลือเพียง 39.1% ไทยจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย โดยมีสมมติฐานว่า หากในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ไทยส่งออกได้เดือนละ 13,887 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 12.5% มีมูลค่ารวม 171,107 ล้านเหรียญสหรัฐ หากส่งออกได้เดือนละ 14,148 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 15% มีมูลค่ารวม 174,910 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากส่งออกได้เดือนละ 15,668 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 20% มีมูลค่ารวม 182,514 ล้านเหรียญ
“โอกาสทำได้ตามเป้า 12.5% เป็นไปได้ และไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเป้า 15% ที่เป็นเป้าพยายามในการทำงาน ก็คงทำได้ไม่ยาก ส่วนเป้าพยายามพิเศษตามนโยบายของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งไว้ 20% หากการส่งออกยังมีทิศทางเช่นนี้ ก็คงทำได้เช่น โดยจะพยายามทำอย่างเต็มที่ เพราะในช่วงที่เหลือ ยังมีเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลาดเวลา”นายราเชนทร์กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น