xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการเงินสหรัฐกระหน่ำ ตลาดหุ้น"ไชน่า-อินเดีย"ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนในต่างประเทศถือเป็นทางเลือก เพื่อกระจายการลงทุนอีกช่องทางหนึ่ง และประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต หรือตลาดเกิดใหม่อย่าง ประเทศจีน และอินเดีย ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับความนิยมก็มีหลากหลายมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือสินค้าเกษตรที่ราคาทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการบริโภค และการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนในประเทศจีนและอินเดียไว้ว่า ดัชนีฮั่งเส็ง (HSCEI index) ซึ่งเป็น index ของหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Hong Kong ได้ปรับลดลงจากระดับ 11,909.75 จุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2551 มาปิดที่ 9,070.31 จุด เมื่อสิ้นไตรมาส 3/2551 ซึ่งคิดเป็นการปรับตัวลดลงกว่า 24% จากไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า MSCI Asia Pacific ex Japan index ที่มีการปรับตัวลดลง 25% จากไตรมาสก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย โดยในระหว่างไตรมาส HSCEI index ทำจุดสูงสุดที่ 13006.35 ก่อนที่จะลงมาจุดต่ำสุดที่ 7789.17 จุด

ทั้งนี้ การที่หุ้นจีนได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากปัญหาหนี้เสียในสหรัฐฯได้ลุกลามและส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ทำให้ภาคการเงินมีความอ่อนแอ ประสบปัญหาเงินกองทุนไม่เพียงพอ และปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์ในทุก ๆ ตลาด รวมทั้งหุ้น เพื่อต้องการลดความเสี่ยง และเพื่อสำรองสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าหุ้นจีนจะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินของจีนจากนโยบายเข้มงวด เป็นนโยบายผ่อนคลาย โดยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งแรกในรอบ 6 ปี จาก 7.47% เป็น 7.20% และได้ปรับลด Reserved Requirement Ratio ของภาคธนาคารพาณิชย์จาก 17.5% เป็น 16.5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินและช่วยชะลอการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับตลาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ผ่อนคลายลงอย่างมาก โดยเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนสิงหาคมอัตราเงินเฟ้อเพียง 4.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

รัฐบาลโรตีกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียในช่วงไตรมาส 3/2551 นั้น ปรากฎว่า MSCI India Index ปรับลดลงเช่นเดียวกันแต่คิดเป็นอัตราเพียง 6.57% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีร่วงลงจาก 544.61 จุด มาปิดที่ 508.84 จุด ซึ่งนับว่าปรับลดลงน้อยกว่าประเทศเอเชียอื่น ๆ อย่างมาก เห็นได้จากที่MSCI Asia Pacific ex Japan ปรับลดลงถึง 25.20% จากไตรมาสก่อนหน้า

สาเหตุที่ตลาดหุ้นอินเดียยังมีแนวโน้มสดใสมากกว่าตลาดหุ้นอื่น เนื่องมาจากตลาดหุ้นอินเดียได้ปรับลดลงแรงในช่วงไตรมาส 2/2551 ประกอบกับในช่วงเดือน กรกฎาคม ตลาดอินเดียได้มีการรับรู้ข่าวดีในเรื่องของการผ่านมติไม่ไว้วางใจของรัฐบาลอินเดีย ทำให้ตลาดคาดหมายว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจอินเดีย เริ่มที่จะผ่อนคลายลง และเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้ตลาดอินเดียไม่ปรับตัวลดลงแรงเท่าตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย

แนวโน้มสินค้าเกษตรยังดี
การลงทุนในสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ผ่านมาพบว่า ระดับราคาของสินค้าเกษตรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures Market) โดยรวมมีการปรับลดลงมาค่อนข้างมาก ทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ซึ่งการปรับลดลงของราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ปัจจัยทางด้านฤดูกาล (Seasonal Factor) โดยจากการศึกษาของ DB Markets Research ซึ่งใช้ข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1989 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2008 พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ของทุกปี อัตราผลตอบแทนของข้าวโพด และข้าวสาลี มักจะมีผลตอบแทนเป็นลบ โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2% - 3% เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมาก และหลังจากนั้น อัตราผลตอบแทนของข้าวโพด และข้าวสาลี จะเริ่มปรับดีขึ้นในช่วงเดือน ตุลาคม เป็นต้นไป

2.ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงส่งผลทางอ้อมต่อราคาสินค้าเกษตร โดยราคาน้ำมันได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากขึ้นไปแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราคาประมาณ 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าเกษตรจัดได้ว่าเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันได้ประเภทหนึ่ง โดยการนำไปทำเป็นพลังงานชีวภาพ (Bio-fuel) ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง จึงส่งผลทางอ้อมต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้ปรับลดตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

3.ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่น สกุล Euro ทำให้นักลงทุนบางส่วนหันกลับมาลงทุนในทรัพย์สินสกุลเงินดอลล่าร์มากขึ้น และลดการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ลง ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเงินดอลล่าร์สหรัฐมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาสถาบันการเงินประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินค้าเกษตรมากขึ้นเพื่อชดเชยการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามยังคาดว่าการแข็งค่าของสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐนี้จะเป็นเพียงช่วงสั้นเท่านั้น และแนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐจะกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งจากการคาดการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม บลจ.ทิสโก้มองว่าการปรับลดลงของระดับราคาสินค้าเกษตรนี้จะเป็นเพียงช่วงสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวแล้ว สินค้าเกษตรยังคงน่าสนใจลงทุน จากการที่อุปสงค์จากการบริโภคทั้งเป็นอาหารของมนุษย์โดยตรง และใช้เพื่อเป็นอาหารของสัตว์ยังคงมีอย่างสูง จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งแนวโน้มการนำสินค้าเกษตรมาใช้ผลิตพลังงานทดแทนที่จะยังคงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทางด้านอุปทานของผลผลิตสินค้าเกษตรจะเริ่มปรับลดลง ทั้งจาก พี้นที่เพาะปลูกที่ลดลง และจากปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย อันเกิดจากสภาวะโลกร้อน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น