การลงทุนในช่วงสุดท้ายปลายปีอย่างนี้ค่อนข้างเงียบเหงาเล็กน้อย แต่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษียังต้องมีการลงทุนในกองทุนทั้งสองรูปแบบอยู่เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบเข้าลงทุนในช่วงปลายปีเป็นพิเศษ และตอนนี้พฤติกรรมของนักลงทุนก็ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก นักลงทุนบางท่านอาจยังไม่ได้ตัดสินใจลงทุน หรือยังเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนในกองทุนอะไรดี
วันนี้ ทีมงาน “ASTVผู้จัดการกองทุนรวม” เลยรวมรวบกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพน้องใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งกองทุนไปหมาดๆ ในปี 2552 นี้ มาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนกัน เพราะว่ากองทุนเดิมๆ ที่มีอยู่ในตลาดแล้วบางทีอาจไม่สามารถตอบรับความต้องการ และแนวทางการลงทุนของนักลงทุนได้ดีนัก หรือไม่ก็ลงทุนจนมากมายแล้ว เชื่อว่าในบรรดากองทุนที่นำมาเสนอนี้น่าจะถูกอกถูกใจนักลงทุนบ้างไม่มากก็น้อย
รายแรกเป็นกองทุนที่ยังคงเข้ากระแสการลงทุนในช่วงนี้อยู่ไม่น้อย ได้แก่ กองทุนเปิดเคโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (KGOLDRMF) ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด โดย พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เล่าให้ฟังว่า กองทุนเปิดเคโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพมีนโยบายเดียวกันกับกองทุนเปิดเคโกลด์ (K-GOLD) ซึ่งมีนโยบายไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR Gold Trust ไม่น้อยกว่า 80% และจะมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยได้เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้ - 24 ธันวาคม2552
ส่วนที่ออกมาเป็นกองทุน RMF เสนอขายในช่วงนี้ เพราะมองว่าทองคำในระยะยาว ยังเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดี แต่บุคลิกของทองคำเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการที่เปิดเป็นกองทุน RMF จะช่วยให้นักลงทุนลงทุนในระยะยาวในทองคำได้ดีกว่ามาจับจังหวะการลงทุนในระยะสั้น ซึ่งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้
ขณะเดียวกัน กองทุน KGOLDRMF เป็นการตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนที่อยากลงทุนทองคำ และต้องการลงทุนระยะยาว พร้อมกับได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย โดยการบริหารจัดการกองทุนนั้น จะคล้ายกับกองทุนเปิด K-GOLD ที่ บลจ.กสิกรมีอยู่ และข้อดีของการมีกองทุนทองคำนั้น จะช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องเสี่ยงกับการลงทุนที่ผิดช่วงเวลา
"บริษัทมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ดีในการลงทุนประเภทหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลายประเทศมีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่ให้ลดลง ส่งผลให้ตอนนี้ค่าเงินทั่วโลกเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้ทองคำเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั้งรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ตาม ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงค่อนข้างสูง และมีความผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรจากราคาทองคำเป็นจำนวนมากเช่นกัน"
พัชระ ยังกล่าวอีกว่า กองทุน KGOLDRMF มีไว้เพื่อให้โปรดักท์กองทุน RMF มีความครบถ้วน เพื่อให้ลูกค้าจะได้สามารถจัดสรรเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่คงไม่ใช่สินทรัพย์หลัก ที่จะแนะนำให้มาลงทุนถ้านักลงทุนลงทุนผ่านกองทุน RMF 100 บาท ให้กระจายมาลงทุนในกองทุน KGOLDRMF 5-10 บาท ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว
กองทุนที่ 2 ได้แก่ กองทุนเปิดอยุธยาโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพ (AYFGOLDRMF) ของ บลจ.อยุธยา หรือ เอวายเอฟ ฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อยุธยา กล่าวว่า บริษัทจัดตั้งกองทุนเปิดอยุธยาโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนในทองคำพร้อมทั้งสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วยการจัดตั้งเป็นกองทุนRMF หลังจากก่อนหน้านี้กองทุนเปิดอยุธยาโกลด์ (AYFGOLD) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากกองทุนนี้เหมาะเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และการเคลื่อนไหวของราคาทองคำมีความสัมพันธ์ทางสถิติต่ำ (Low Correlation)เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทอื่น
สำหรับกองทุน AYFGOLDRMF มีนโยบายการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนAYFGOLDที่ลงทุนใน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบครองทองคำกว่า 80% ของกองทุนอีทีเอฟทองคำที่มีอยู่ในโลกกองทุนมุ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่งเพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำ
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังนำไปใช้สิทธิ์ในการหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่ากองทุนเปิดอยุธยาโกลด์เพื่อการเลี้ยงชีพเป็นกองทุนทองคำกองทุนแรกที่มีนโยบายเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นทางเลือกในการลงทุนระยะยาวเป็นอย่างมากตามนโยบายของกองทุนเพื่อการลี้ยงชีพ
ส่วนกองทุน RMFที่เหลือก็มีที่น่าสนใจอย่างกองทุนเปิดทิสโก้ เอเชีย แปซิฟิก เอ็กซ์ เจแปน เพื่อการเลี้ยงชีพ (TAP-RMF) ของ บลจ.ทิสโก้ ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Lyxor ETF MSCI AC Asia-Pacific ex Japan ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ ประเภทกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยกองทุนนี้มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี MSCI AC Asia-Pacific ex Japan ที่บริหารจัดการโดย Lyxor International AssetManagement โดยจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุน Lyxor ETF MSCI AC Asia-Pacific ex Japan โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ส่วนกองทุนเปิดซีมิโก้ตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (S-EQRMF) ของ บลจ.ซีมิโก้ ที่เน้นลงทุนในตราสารแห่งทุน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะมุ่งเน้นลงทุนในตราสารแห่งทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารหนี้ หรือเงินฝาก หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ตามที่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด
และกองทุนเปิดนครหลวงไทยตลาดเงินเพื่อการเลี้ยงชีพ (NKT MM RMF) ของ บลจ.นครหลวงไทย ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐไทย รวมทั้งเงินฝากและบัตรเงินฝากของสถาบันการเงิน หรือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีความเสี่ยงเทียบเคียงได้กับความเสี่ยงของตราสารภาครัฐไทย ซึ่งมีอายุคงเหลือ ณ วันลงทุนไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structure Note) และกองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) แต่กองทุนอาจทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) หรือธุรกรรมการขายที่มีโดยมีสัญญาซื้อคืน หรือ ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด หรือเห็นชอบให้ลงทุนได้