โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานาธิบดี บุช แห่งสหรัฐ ได้ยื่นขออนุมัติแผนกอบกู้วิกฤติสถาบันการเงินแก่สภาคองเกรส เมื่อวันที่ 20 กันยายน ไปแล้ว
บุช ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า สหรัฐจำเป็นต้องทำตามแผนนี้แม้จะต้องใช้เงินภาษีจำนวนมากมหาศาล เพราะว่าปัญหามันใหญ่มหึมาที่สุดในรอบหลายสิบปีทีเดียว และภาระต่อผู้เสียภาษีตามแผนกอบกู้นี้ก็ยังดีกว่าจะปล่อยไปตามสภาพซึ่งไม่นานเลยก็จะเกิดหายนะในระบบการเงิน ทำให้บริษัทปิด มำให้ทุกคนตกงาน ทำให้รายได้ในวัยเกษียณที่ออมหดหายไป ทำให้ราคาบ้านตกลงไปอีก และทำให้กู้ซื้อบ้าน รถ หรือกู้เพื่อการศึกษาไม่ได้อีกเลย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สหรัฐยอมรับไม่ได้
ตามแผนนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐ ได้เสนอขออนุมัติจำนวนเงิน 7 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 23.4 ล้านล้านบาท ... มากกว่า GDP ประเทศไทยถึงสามเท่าทีเดียว) มาจัดตั้งกองทุนของรัฐ เงินจำนวนนี้จะใช้ในการซื้อหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่กำลังประสบปัญหากลายเป็นหนี้เสีย กล่าวคือจะแยกสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐ ออกเป็น หนี้ดี กับ หนี้เสีย แล้วทางการจะไปซื้อหนี้เสียในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถลอยตัวพ้นวิกฤติการณ์ไปได้เพราะไม่มีหนี้ที่เป็นปัญหาแล้ว (คล้ายๆ ตอนเราตั้ง ปรส. เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540) และกองทุนจะขายสินทรัพย์ที่ซื้อมาในจังหวะที่เหมาะสมในอนาคต (ไม่ถูกบังคับขายในราคาถูกมากให้ต่างประเทศเหมือนตอนเราตั้ง ปรส !!)
สภาคองเกรส และ กระทรวงการคลังสหรัฐ จะประชุมร่วมกันในสัปดห์นี้เพื่อหารือในรายละเอียดต่อไป เพื่อให้มีผลตามกฏหมายโดยเร็วที่สุดในไม่กี่วันนี้
ก่อนหน้านี้ บุช บอกว่า สหรัฐต้องการแผนกอบกู้ครั้งใหญ่ที่สุดและต้องมีผลกระทบแรงๆ เพื่อหยุดปัญหาให้ได้
และหลังจากแก้รากปัญหานี้ได้แล้ว สหรัฐก็ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฏเกณฑ์ในการควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทาง FED และ กระทรวงการคลังสหรัฐ เรียกว่าเป็น Systematic Crisis คือเกิดขึ้นทั้งระบบ
การแก้ปัญหาล่าสุด ก่อนหน้าจะเสนอแผนกอบกู้วิกฤติฯ
- เช้าวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ รัฐบาลประกาศให้ความคุ้มครองกองทุนรวมที่เป็น Money Market Fund ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ในวงเงินคุ้มครอง 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท)
- กลต สหรัฐ สั่งห้าม Short Sell หุ้น 799 บริษัท
- รัฐบาลสหรัฐ ตัดสินใจช่วยเหลือ AIG โดยใช้เงิน 85,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 2.84 ล้านล้านบาท)
- รัฐบาลสหรัฐ เข้าอุ้ม Fanny Mae กับ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้เคหะ ที่มีรัฐสนับสนุน
ต้นทุนที่แท้จริงในการกอบกู้วิกฤติ
แผนกอบกู้วิฤติที่ Henry Paulson เลขาธิการกระทรวงการคลังสหรํฐ เสนอในครั้งนี้ เป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันในวงกว้างว่า ทำไมทุกครั้ง นักธุรกิจได้ล้มบนฟูก ผู้บริหารที่ผิดพลาดได้รับการปกป้อง แต่ผู้รับความเสียหายที่ตนเองไม่ได้ก่อคือประชาชนผู้เสียภาษี
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ รัฐจะรับซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพในราคาเท่าไร ใช้อะไรเป็นบันทัดฐาน ราคาตลาดในปัจจุบัน ที่ลดลงไปมากแล้ว หรือว่าจะมีส่วนลดจากราคาตลาดอีกนี่คือความขัดแย้งในเรื่องเดียวกัน หากซื้อในราคาที่มีส่วนลดจากราคาตลาดไปอีก มันก็ดีต่อผู้เสียภาษี และเป็นการลงโทษธนาคารที่มีปัญหาไปในตัว
แต่หากทำอย่างนั้น ธนาคารที่กำลังมีปัญหาอยู่แล้ว ทุนของธนาคารก็จะลดลงไปอีกเพราะขายสินทรัพย์ในราคาต่ำกว่าตลาด (ธนาคารใช้ราคาตลาด mark to market สินทรัพย์เหมือนกองทุนบ้านเรา) ซึ่งทำให้ธนาคารปล่อยกู้ให้ประชาชนไม่ได้ เพราะเงินกองทุนไม่พอที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่ม (ธนาคารไทยก็มีกฏข้อนี้ กำหนดว่าการปล่อยสินเชื่อต้องไม่เกิน ...% ของเงินกองทุน)
และหากซื้อในราคาตลาด หรือซื้อที่ Book Value ของธนาคาร หรือสูงกว่า นายธนาคารยุคนี้ต้องถูกจดจำชั่วลูกชั่วหลานว่าเป็นผู้ไร้ความรับผิดชอบในการปล่อยกู้ที่หละหลวมในอดีต จนเกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วยการเอาเปรียบประชาชนผู้จ่ายภาษีในปัจจุบันและอนาคต จ่อให้ไล่ออกจากงานและหางานทำไม่ได้อีกเลย มันก็ยังไม่พอเพียงต่อความเสียหายที่เกิดกับทั้งระบบเศรษฐกิจ
สมมติว่า Henry Paulson สามารถหาทางสร้างสมดุลย์ในฝั่งผู้ซื้อ/ผู้ขายได้ ปัญหาก็ยังไม่จบ
เพราะว่าธนาคาร ผู้จัดการกองทุน ผู้ที่ควบคุมการบริหารจัดการเงินในเอเชีย และตะวันออกกลาง ต่างก็เจ็บตัวจากบทเรียนนี้กันไปมากบ้างน้อยบ้าง เขาคงไม่กล้าซื้อตราสารหนี้ในสหรัฐไปเป็นปีๆ และหากจะให้ธนาคารในสหรัฐกู้เงิน เขาก็ต้องการผลตอบแทนสูงมากพอที่จะคุ้มกับความเสี่ยงและบทเรียนที่ได้รับ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เพิ่มต้นทุนทางการเงินของพลเมืองและธุรกิจของสหรัฐ และทำให้ผู้กู้จนไปอีกนาน
ต่อจากนี้ไปธุรกิจธนาคาร และ วานิชธนกิจของสหรัฐที่ชอบประดิษฐ์สินค้าแปลกๆ ทางการเงินที่คนยกย่องว่าเลิศหรู (ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ไม่กล้าบอก) คงจะต้องมีกฏเหล็กมาควบคุม ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจให้ได้กำไรสูงๆ เหมือนอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจนี้
ที่สำคัญก็คือ ธุรกิจเหล่านี้นี่แหละ ที่เป็นกลจักรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในหลายๆ ปีที่ผ่านมา และปีหน้า GDP จะหดลงประมาณ 1% จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Sector การเงิน โดยจะเป็นไปอีกหลายๆ ปี และยากที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเฟื่องฟูได้อีก
แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีต่อ Goldman Sachs และอาจจะทันสำหรับ Morgan Stanley ด้วย
อย่างไรก็ตามต่อจากนี้ไป ธุรกิจ Private Equity Industry และ Hedge Fund ซึ่งขาดทุนกันไปมาก จะต้องเจอกฏเหล็กที่ทำให้ดำเนินธุรกิจง่ายๆ แบบเดิมได้ลำบาก ก็คงไม่มีอนาคตที่รุ่งเรืองเหมือนอดีตแล้ว
แต่การออกแผนกอบกู้วิกฤติในครั้งนี้คงไม่เกี่ยวกับการที่ Henry Paulson เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Goldman Sachs หรอก
และก็อย่าลืมว่า สหราชอาณาจักร ก็เติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจนี้เช่นกัน !!
ปัญหาจะเกิดขึ้นกับอังกฤษจนต้องใช้วิธีเดียวกับสหรัฐหรือไม่ ?
ขณะนี้ กระทรวงการคลังอังกฤษ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่างแผนคล้ายๆ กันเอาไว้แล้ว เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งหากว่าเกิดวิกฤติเป็น Domino จากสหรัฐ
ตลาดที่อยู่อาศัยของอังกฤษก็มีปัญหาความอ่อนแอที่เหมือนกับสหรัฐมาก นอกจากนี้ยังมีผู้จัดการกองทุนทั่วโลกที่มีเงินสดมหาศาล พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ เขาอาจมองว่า สหรัฐคือ แบร์ สเติร์น และในมุมมองเช่นนี้ อังกฤษ ก็น่าจะเป็น เลห์แมน ได้ !
อะไรจะเกิดขึ้นกับอังกฤษ ถ้าพวกผู้จัดการกองทุนทั่วโลกที่มีเงินสดมหาศาล ต่างระดมถอนเงินออกจากตลาดในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินหรือตลาดทุนก็ตาม โดยเฉพาะหากถอนเงินและการลงทุนออกมามากกว่าช่วงไตรมาสสามปีกลาย ตามที่เกิดขึ้นกับ Northern Rock
ก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น
(อ่านต่อฉบับวันพรุ่งนี้)