xs
xsm
sm
md
lg

อัยการยื่นฟ้องผู้บริหารปรส. ประมูล 56ไฟแนนซ์มิชอบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัยการคดีพิเศษ ยื่นฟ้อง “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส.กับพวกทั้งบุคคลและนิติบุคคล เอื้อประโยชน์กองทุนรวม ประมูลขายสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์โดยมิชอบ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 20 ต.ค.นี้

วานนี้ (8 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.), นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เลขาธิการ ปรส., บริษัท เลห์แมน บราเดอร์ส โฮล์ดิ้ง อิ้งค์ โดย นายชาร์ล รูบิน ผู้มีอำนาจ, บริษัท เลห์แมน บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายชาร์ล รูบิน ผู้มีอำนาจ, กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด โดย นายสมจิตน์ ศรไพศาล และ นายสุริพล เข็มจินดา ผู้มีอำนาจ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด นายสมจิตน์ ศรไพศาล และ นายสุริพล เข็มจินดา ผู้มีอำนาจแทน เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและเป็นผู้สนับสนุนพนักงานในการกระทำความผิด

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค.2541 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 และ 2 กับพวกได้กระทำความผิดโดยวางแผนแบ่งหน้าที่กัน คือ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส.มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด จำเลยที่ 5 และ 6 เป็นนิติบุคคลที่เข้ามาร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนวิธีการประมูลทรัพย์สินของ ปรส.ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลที่เข้ารับการปรึกษาด้านวาณิชธนกิจ กับ ปรส.โดยมีจำเลยที่ 3 ถือหุ้นในจำเลยที่ 4 ด้วย

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2541 คณะกรรมการ ปรส.มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักครั้งที่ 2 เช่าซื้อที่อยู่อาศัย ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2541 ปรส.และจำเลยที่ 4 ได้ออกข้อกำหนดในการจำหน่ายสินทรัพย์โดนมีการกำหนดนโยบายและขั้นตอนการจำหน่ายพร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค.2541 และปิดการจำหน่ายในวันที่ 1 ก.ย.2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2541 คณะกรรมการ ปรส.มีมติให้เลื่อนการประมูลจากวันที่ 30 ก.ค.2541 ไปเป็นวันที่ 13 ส.ค.2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2541 ปรส.และจำเลยที่ 1 ได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการโดยให้ผู้ซื้อ สามารถเสนอราคาให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งภายในวันปิดการจำหน่าย

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2541 จำเลยที่ 3 ได้ยื่นแบบฟอร์มข้อเสนอราคาซื้อของตนเองร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 ราย โดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาท และวางหลักประกันเป็นเงินรวม 10 ล้านบาท ต่อมาจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะการประมูล โดยจำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายกับ ปรส.ภายใน 7 วัน ซึ่งหมายถึงต้องชำระเงินงวดแรกร้อยละ 20 ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท ภายในวันที่ 20 ส.ค.2541 ซึ่งทำให้จำเลยที่ 3 มีภาระต้องชำระภาษีในกิจการดังกล่าว ครั้นถึงวันที่ 20 ส.ค.2541 จำเลยที่ 3 กลับไม่ชำระเงินงวดแรกเพียงแต่วางเงินประกันการชำระงวดแรกอันเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การประมูลดังกล่าวจึงไม่เกิดสัญญาขึ้น

ต่อมาวันที่ 11 ก.ย.2541 รมว.คลัง ได้แจ้งข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใสมีการขัดแย้งทางผลประโยชน์เมื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 4 เป็นผู้ชนะการประมูล จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโดยในวันที่ 1 ต.ค.2541 ปรส.โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายทำสัญญาซื้อขายของ ปรส.กับจำเลยที่ 5 แสดงว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และ2 กับพวกเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวคือเมื่อวันที่ 20 ส.ค.41 จำเลยที่ 3 ผู้ชนะการประมูลไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ ปรส.จำเลยที่ 1 และ 2 ควรยกเลิกการประมูลหรือจัดให้มีการประมูลใหม่และริบเงินประกันจำนวน 10 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้ดำเนินการ เมื่อ รมว.คลังแจ้งข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส.ไม่โปร่งใสในการจำหน่ายสินทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ 2 ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกลุ่มเลห์แมน บราเดอร์ส ในวันที่ 1 ต.ค.2541 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูล และไม่ได้รับอนุมัติให้ได้รับการประมูลทั้งในนามตัวเองและผู้อื่น

การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนได้รับการยกเว้นภาษี โดยจำเลยที่ 3-6 กับพวกที่ยังหลบหนีเป็นผู้ร่วมกันช่วยเหลือสนับสนุนในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และ 2 การกระทำของจำเลยทั้งหมดเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และ ปรส.เหตุเกิดที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน และแขวงสีลม เขตบางรัก กทม.เกี่ยวพันกัน ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธ

ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3344/2551 และสอบคำให้การจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ จึงนัดพร้อมคู่ความเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ต.ค.นี้ เวลา 13.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น