เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา "ทีมงานผู้จัดการกองทุนรวม" มีโอกาสร่วมงานสัมนา "จัดพอร์ตให้ปลอดภัย...ยิ้มรับวัยเกษียณ" ที่จัดขึ้นโดยยสมาคมนักวางเเผนการเงินไทย เเละนิตยสารมันนี่เเอนด์เวลท์ ซึ่งภายในงานมีวิทยากรรับเชิญดังนี้ คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นายกสมาคมนักวางเเผนการเงินไทย คุณ สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการสายงาน Corporate Finance เเละผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต คุณวิน พรหมเเพทย์ ผู้จัดการกองทุน สำนักบริหารการลงทุน สำนักประกันสังคม เเละนายเเพทย์ บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ประธานกรรมการบริหารเครือบริษัท บัลวี-ศูนย์ธรรมชาติบำบัด มาดูกันว่าเนื้อในการสัมมนาครั้งนี้ วิทยกรได้ให้ให้คำเเนะนำอะไรบ้างที่ทำให้เราเกษีณอายุอย่างมีความสุข
วัยเกษียณคือการพักผ่อน
วิวรรณ อธิบายว่า คนไทยมักให้ความสำคัญการการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ก็ต่อเมื่อจะเกษียณตัวเองภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการเก็บออมไว้ใช้เมื่อยามเกษียณควรที่จะนึกถึงเมื่อครั้งแรกที่ได้รับเงินเดือนหรือ ครั้งแรกที่ได้เริ่มทำงาน เพราะอย่างแรกคือ ค่าของเงินในปัจจุบันจะมีค่ามากในอนาคตซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ
"ถ้าเราจะเกษียณตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้า 20 บาทของวันนี้ที่เราสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามได้ แต่ในอนาคต 20 บาท เราอาจซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้ เพราะราคาก๋วยเตี๋ยวอาจจะขึ้นไปถึง 50 บาทก็เป็นไปได้ ขณะเดียวกันช่วงเวลาแห่งการเกษียณเป็นช่วงเวลาแห่งการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินเพื่อสุขภาพกาย รวมถึงสุขภาพใจอีกด้วย"
สุวภา บอกว่า หลังจากที่ต้องเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาหลายสิบปี การเกษียณอายุจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนเป็นการให้รางวัลกับตัวเองหลังจากการทำงาน เเต่ทว่าการเกษียณกับไม่ได้ทำให้เราพักผ่อนอย่างจริงจัง อันเนื่องมากจากรายได้ในช่วงวัยเกษียณไม่พอกับรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายที่มากับสุขภาพ ลำพังเงินเกษียณจากบริษัทหรือประกันสังคมอาจไม่พอพียงกับการใช้จ่ายในอนาคต
โดยนายเเพทย์บรรจบ กล่าวเสริมว่า โรคภัยไข้เจ็บที่จะมากับผู้ที่กำลังเกษียณอายุหรือผู้ที่สูงอายุต้องพบนั้น สิ่งที่พบขั้นเเรกคือ โรคไขมันเลือดสูง โรคต่อมาคือ โรคอ้วน หลังจากนั้นจะพัฒนาไปสู่โรคหัวใจ เเละอัมพาต ขณะเดียวกันยังต้องเจอกับโรคเกี่ยวกับกระดูกเช่น กระดูกพรุน หรือข้อเสื่อม และโรคที่ยังตามมาอีกคือ โรคสมองเสื่อม และโรคที่ร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็ง ซึ่งโรคจำพวกนี้ต้องใช้เงินในการรักษาเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่ ตอนนี้คือ ป้องกันตัวเองเสียก่อน ถึงแม้ว่าเราจะเป็นโรคดังกล่าวแต่การป้องกันโรคไว้ก่อนจะช่วยให้เราเป็นโรคเหล่านี้ไม่รุนแรงนัก
ตาข่ายชั้นที่ 1
เครื่องมือที่ช่วยให้เราเกษียณอย่างมีความสุขอย่างแรกคือ ประกันสังคม หลายคนยังสงสัยว่า แต่ละเดือนที่ตนวัยทำงานต้องถูกหักเงินเดือนเพียงไม่กี่ร้อยบาท แต่ไม่กี่ร้อยบาทที่ว่านี้จะเพิ่มพูนเป็นเงินจำนวนมากเมื่อถูกหักเป็นเวลานาน แล้วเงินที่ถูกหักนี้ทางสำนักงานประกันสังคมจะเอาเงินที่หักไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับเรา
วิน ผู้จัดการกองทุน จากสำนักงานประกันสังคม อธิบายว่า เงินที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้หักไป ส่วนแรก 2% คือเบี้ยประกันความเจ็บป่วยให้กับผู้ประกันตน และอีก 3% ที่เหลือจะเป็นเงินที่นำไปลงทุนเพื่อให้เงินของผู้ประกันตนงอกเงยออกมา ขณะเดียวกันเงินที่ทางสำนักงานประกันสังคมหักมานั้น ถ้าถามว่าในอนาคตเพียงพอหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่เพียงพอ ในปี 2557 จะเป็นปีเเรกที่เราจะใช้ระบบบำนาญเป็นครั้งเเรก
โดยมีผู้ที่จะรับเงินบำนาญทั้งสิ้น 1,000 คน ซึ่งเงินที่ทางผู้ประกันตนได้รับสูงที่สุด 6,315 บาท (จากเงินที่หักสูงสุด 900 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นส่วนของนายจ้างที่สมทบมา 450 บาทเเละลูกจ้างที่จ่ายมา 450 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนมาเเล้ว 15 ปี) ด้วยจำนวนเงินเพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในอนาคตได้
ตาข่ายชั้นที่2
โดยวิวรรณ เเละ สุวภา ได้เเนะนำตาข่ายชั้นที่ 2 ว่า ตาข่ายชั้นนี้เกิดจากเก็บออม การลงทุนของเราเอง โดยไม่เกี่ยวกัน ประกันสังคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเน็จบำนาญราชการ โดยวิธีการที่เก็บเงินได้ดีที่สุดคือ ใช้วิธีการให้หักจากบัญชีเงินเดือนของเรา เช่น เราลงทุนในกองเพื่อการเลี้ยงชีพ เราอาจจะให้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)เป็นผู้หักเงินจากบัญชีเงินเดือน เป็นการช่วยให้เราออมได้ง่ายขึ้น
สำหรับกองทุนที่วิทยากรได้แนะนำให้ผู้ที่กำลังเกษียณอายุลงทุนหรือผู้ที่วางแผนเกษียณอายุลงทุน คือ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ผู้ลงทุนสามารถนำไปลดหย่นภาษี ได้ถึง 15% หรือไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งกองทุน RMF นั้น จะต้องมีปีในการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ถ้ามี) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ที่จะเกษียณ มีเงินมากพอที่จะดูแลตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นการลงทุนที่ช่วยเอาชนะเงินเฟ้อ ประกอบกับให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งช่วยให้ผู้ที่จะเกษียณอายุมีเงินเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน เราอาจะทำประกันชีวิตเสริมเพื่อเป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่งก็ได้
จัดพอร์ตให้เหมาะกับอายุ
สำหรับอายุช่วงต้นแห่งวัยทำงาน หรืออายุตั้งแต่ 21-30 ปี และยังเป็นวัยที่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ค่อนข้างมาก และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็มีเวลามากเพียงพอที่จะเรียนรู้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้ ดังนั้น อาจจัดการลงทุนได้ดังนี้ เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
ขณะที่วัย 31-40 ปีเป็นช่วงเวลาซึ่งหน้าที่การงานเริ่มมั่นคง มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมาเป็นทวีคูณ เพราะ อยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว แต่งงาน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เมื่อมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบมากและต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ลดน้อยลง การลงทุนของคนในวัยนี้จึงอาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นลงจาก 90% ให้เหลือเพียง 50% ของเงินออม แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นในจำนวนที่เท่าๆ กัน
ส่วนช่วงอายุ 41-55ปี เป็นวัยที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงไม่แพ้กัน การลงทุนของคนในวัยนี้ควรเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก เพื่อจะได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามชรา แต่อย่างไรก็ดี ไม่ควรละเลยการลงทุนในตราสารทุนไปซะเลยทีเดียว เพียงแต่ต้องลดสัดส่วนลงเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้งอกเงยนอกเหนือจากดอกเบี้ยและเงินปันผลนั่นเอง สัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนของคนในวัยนี้ คือ 70% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ อีก 30% ลงทุนในตราสารทุน โดยอาจแบ่งการลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีด้วยก็ดี เนื่องจากคนในวัยนี้ต้องแบกรับภาระภาษีค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากมีรายได้ที่สูงนั่นเอง
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปก็ยังสามารถลงทุนได้เช่นกัน โดยอาจเลือกลงทุนในพันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน ที่ให้ความเสี่ยงในการลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน
เเหล่งข้อมูล สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)