xs
xsm
sm
md
lg

บริหารเงินไปเพื่ออะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
www.aimc.or.th
www.thaimutualfund.com

เคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมคะ ว่าเราจะต้องทำงานไปจนถึงอายุเท่าไหร่จึงจะมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ลำบากในยามแก่เฒ่า และไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลานหรือผู้คนรอบข้าง

คำถามง่ายๆ ที่ว่านี้ หลายคนยังหาคำตอบไม่ได้ หลายคนอาจจะมีคำตอบแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำอะไร

ความจริงที่น่าเป็นห่วงและทำให้เราต้องหันมาให้ความสนใจกับคำถามข้างต้นก็คือ ทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านการแพทย์ซึ่งทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น และผลจากการวางแผนครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทำให้อัตราการเกิดลดลง จากข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2005 ประเทศในแถบเอเชียมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นและประเทศในแถบยุโรปซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 26 และ 21 ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 และ 28 ตามลำดับ ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในปี 2005 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในอีก 20 ปีข้างหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศไทยจะมีอัตราประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 - 59 ปี) ต่อผู้สูงอายุที่จะต้องดูแลคิดเป็น 6: 1 และจะเปลี่ยนเป็น 3 : 1 ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ฟังแล้วน่าตกใจใช่ไหมคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากในอนาคตอีก 20 - 30 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สูงอายุตามสถิติที่ว่านี้ด้วย

ดังนั้น การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นต้องมารับภาระที่จะต้องดูแลเมื่อเรากลายเป็นผู้สูงอายุ การรู้จักหารู้จักออมเงินในระหว่างที่ยังทำงานได้ ตลอดจนการบริหารเงินออมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

การลงทุน คือ ทางเลือกในการบริหารเงินออมที่มีอยู่ ให้งอกเงย ตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายที่เราเองได้ตั้งเอาไว้ ในขอบข่ายของความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้

วันนี้เราลองมาดูกันว่า หากจะเริ่มต้นเก็บเงินและบริหารเงินออมให้มีใช้อย่างเพียงพอในยามแก่เฒ่าแล้ว ในแต่ละช่วงอายุเราจะมีแนวทางในการจัดสรรและบริหารเงินออมอย่างไรบ้าง

อายุ 21-30 ปี เป็นวัยของหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ยังไม่ค่อยมีภาระให้ต้องรับผิดชอบ เป็นวัยเริ่มต้นของการเก็บออม ยังมีเวลาและมีกำลังในการหารายได้อีกนาน จึงสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงได้เกือบทั้งหมด เพราะอยู่ในวัยที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มาก และหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็มีเวลามากพอที่จะเรียนรู้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้น วัยนี้อาจเลือกลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือเก็บไว้ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้

อายุ 31-40 ปี เป็นวัยที่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รายได้เพิ่มสูงขึ้น และในขณะเดียวกันก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มตามมาเป็นทวีคูณ เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เมื่อมีภาระผูกพันที่ต้องรับผิดชอบต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ลดน้อยลง การลงทุนของคนในวัยนี้จึงอาจจะต้องลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นลงจาก 90% ให้เหลือเพียง 50% ของเงินออม แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ขึ้นเป็น 50%

อายุ 41-55 ปี เป็นวัยที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่สูงไม่แพ้กัน การลงทุนของคนในวัยนี้ควรเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่มเน้นความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก แต่ยังคงสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนไว้บ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้งอกเงยนอกเหนือจากดอกเบี้ยและเงินปันผลนั่นเอง สัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนของคนในวัยนี้ คือ ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ 70% และลงทุนในตราสารทุนอีก 30% โดยอาจแบ่งการลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (หรือ LTF) เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษี เนื่องจากคนในวัยนี้มีภาระภาษีค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากมีรายได้ที่สูงนั่นเอง

อายุ 55 ปีขึ้นไป ถ้าหากได้ทำการออมเงินและบริหารเงินออมมาแล้วก่อนหน้านี้ตามที่ควรจะเป็นในแต่ละช่วงอายุแล้วละก็เป็นอันเบาใจได้ว่าจะมีวัยเกษียณที่เป็นสุข เพราะวัยเกษียณเป็นวัยที่แทบจะไม่มีรายได้แล้วสำหรับบางคน แต่ยังคงจับจ่ายใช้สอยอยู่เช่นเดิม แม้ค่าใช้จ่ายบางอย่างในชีวิตประจำวันจะเริ่มลดน้อยลง แต่กลับต้องสำรองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามวัยและสุขภาพ ดังนั้น จึงไม่ควรลืมว่าเงินออมเกือบทั้งหมดในชีวิตบั้นปลายควรอยู่ในรูปของเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีความคล่องตัวสูง เช่น พันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์น้องใหม่ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน วันนี้ขอประเดิมด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่าเราจะ “บริหารเงินไปเพื่ออะไร” เมื่อได้คำตอบแล้ว ต่อไปทุกๆ 2 สัปดาห์เราจะมาพูดคุยกันถึงวิธีการ โอกาส ทางเลือก และเรื่องราวที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการเงินออมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ติดตามกันให้ได้นะคะ

ที่มา : สมาคมจัดการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น