xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหาความน่าลงทุน "เงินฝาก-B/E-กองทุนตราสารหนี้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตั้งเเต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ หลายเเห่งระดมเงินฝากโดยใช้ดอกเบี้ยที่จูงใจ เพื่อเรียกเม็ดเงินกลับเข้ามาในธนาคารอีกครั้ง ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ต้องปรับกลยุทธ์โดยให้ผลตอบเเทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ เพื่อเรียกลูกค้าเก่าที่เคยลงทุนในกองทุนกลับเข้ามาลงทุน รวมถึงเรียกลูกค้าใหม่เข้ามาลงทุนอีกเช่นกัน เเต่กระนั้น ทางธนาคารพาณิชย์ก็ปรับกลยุทธ์โดยการออก B/E (Bill of Exchange) เพื่อเป็นตัวช่วยเสริมในการระดมเงิน หลายคนอาจมองว่าเมื่อมีตัวเลือกมากขนาดนี้ เเล้วจะเลือกลงทุนเเบบไหนให้เหมาะสมภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

วันนี้ คอลัมน์ "Mutualfund Guideline" ขออาสานำคำตอบจากผู้บริหารบลจ.มาฝากกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่กำลังตัดสินใจลงทุนกัน

อาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ. อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ กล่าวถึงข้อเเตกต่างระหว่างการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ การฝากเงินในธนาคาร เเละการลงทุนในตั๋ว B/E (Bill of Exchange)ว่า การลงทุนในตัว B/E เเละเงินฝาก จะมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ให้ผลตอบเเทนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ เเต่เมื่อมาเทียบผลตอบเเทนทั้ง 3 อย่างจะเห็นว่า การลงทุนในตั๋ว B/E เเละการฝากเงินไว้กับธนาคารจะต้องเสียภาษีถึง 15% ด้วยกัน ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งนี้ เมื่อกับมาเทียบกันอีกครั้งจะพบว่า การลงทุนทั้ง 3 อย่างจะให้ผลตอบเเทนที่ใกล้เคียงกันนั้นเอง

ด้านความเสี่ยงของการลงทุนทั้ง 3 ชนิดนั้น จะเเตกต่างกันไป ซึ่งการฝากเงินไว้ในธนาคารพาณิชย์อาจจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า การลงทุนในตั๋ว B/E โดยทางธนาคารพาณิยช์จะคืนเงินให้กับเงินฝากก่อนเป็นอันดับเเรก ต่อมาจึงจะคืนเงินให้กับตั๋ว B/E เเต่ถ้านำความเสี่ยงของตั๋ว B/E มาเทียบกับความเสี่ยงของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้น จะมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น ถ้ากองทุนตราสารหนี้ A ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เเน่นอนว่าความเสี่ยงของกองทุนA จะมีความเสี่ยงต่ำมาก หรือถ้ากองทุนตราสารหนี้ B ลงทุนในเครดิตที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศ ความเสี่ยงของกองทุนย่อมมากกว่าการลงทุนในตั๋ว B/E ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์

"ผมมองว่า การลงทุนทั้ง 3 ชนิด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเเต่ละคน เช่น บางคนต้องการสภาพคล่องมาก ก็ควรจะฝากเงินไว้ หรือบางคนอยากออมเเละไม่ต้องการเสียภาษีพร้อมกับการลงทุนนั้นให้ผลตอบเเทนที่น่าพอใจก็เเบ่งเงินมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ก็ได้ สมมุติว่ามีเงินอยู่ 100,00 บาท เอาไปฝากธนาคาร โดยอาจจะการะจายความเสี่ยงโดยฝากเงินหลายๆธนาคาร เเต่ในขณะเดียวกันถ้าเราลงทุนในกองทุนตราสารนี้ 100,00 บาท เราสามารถกระจายการลงทุนได้โดยตัวกองทุนเอง เช่นหุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ หรือ หุ้นกู้ระยะสั้นของปตท. เป็นต้น" อาสา กล่าว

"อาสา" ยังบอกอีกว่า ตั๋ว B/E ไม่ใช่ตลาดการลงทุนของนักลงทุนรายย่อย โดยส่วนมากผู้ที่ลงทุนในตั๋วดังกล่าว ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนมาก โดยจำนวนเงินลงทุนจะซื้อครั้งละ 10-20 ล้านบาทขึ้นไปนั้นเอง

ศิระ คล่องวิชา ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า การลงทุนที่น่าสนใจในขณะนี้คือการลงทุนในกองทุนรวม เพราะการลงทุนในกองทุนรวมสามารถลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลได้ ถึงแม้ว่าการลงทุนจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงเท่ากับการลงทุนในตั๋ว B/E หรือดอกเบี้ยเงินฝาก

ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมเราจะต้องมองในเรื่องของนโยบายการลงทุนว่า กองทุนที่จะเข้าไปลงทุนนั้น นำเงินที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์อะไร ซึ่งส่วนใหญ่ แล้วกองทุนจะมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐบาล ตั๋วเงินกองคลัง หรือลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งถือว่ามีความมั่นคงสูง

ขณะเดียวกัน กองทุนอาจมีการลงทุนในตราสารเงิน หรือลงทุนในหุ้นกูภาคเอกชน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าการลงทุนในภาครัฐ แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็มีมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ การลงทุนในมันนี่ มาร์เกต ฟันด์ ซึ่งให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.3% ก็น่าสนใจ เพราะถือเป็นกองทุนที่มีสภาพคล่องสูง สามารถทำการซื้อขายได้ทุกวันและไม่กำหนดระยะเวลาการลงทุนอีกด้วย

สำหรับการลงทุนในตั๋วB/E ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงประมาณ 4% แต่การลงทุนในตั๋วB/E ไม่มีการค้ำประกันวงเงินที่นักลงทุนเข้าไปลงทุน อีกทั้งนักลงทุนจะต้องเสียภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ประมาณ 15% ด้วย นอกจากนี้ การลงทุนในตั๋วB/E นั้นมีการกำหนดระยะเวลาการลงทุนแล้วแต่ตั๋วที่ลงทุน

ส่วนการนำเงินฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเงินฝากนั้น เป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจอย่างมาก อาจจะเป็นในเรื่องของค่านิยมด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต่างมีการระดมเงินฝาก โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับนักลงทุนรายย่อยให้นำเงินเข้ามาฝาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดกันถึงเรื่องความเสี่ยงพบว่า ตั้งแต่ มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากที่เริ่มลดการคุ้มครองลงทุกปี โดยในปีแรกของการคุ้มครองสถาบันจะเข้าไปคุ้มครองเงินฝากเต็มอัตรา แต่เมื่อผ่านไปปีที่ 2-3 จะมีการลดวงเงินคุ้มครองลงเรื่อยๆ โดยเมื่อครบปีที่ 5 จะคุ้มครองเงินฝากเพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น หรือหมายถึงหากธนาคารที่นักลงทุนเข้าไปลงทุนเกิดล้มละลายเกิดขึ้นแล้ว วงเงินฝากของนักลงทุนจะได้รับการคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น