xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวง Money Tips : มารู้จักกับหนังสือชี้ชวนก่อนการลงทุน...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมพงษ์ สว่างวิศาล
บลจ.บัวหลวง จำกัด


การลงทุนในกองทุนรวม โดยนักลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับนโยบายในกองทุนว่ามีการนำเงินของท่านไปลงทุนในตราสารประเภทใด หรือมีแนวโน้มที่มีการเจริญเติบโตดีในช่วงนั้นๆ ที่กำหนดไว้ เพียงอย่างเดียว แต่ยังละเลยในเรื่องการศึกษาข้อมูลหนังสือชี้ชวน หลายคนที่ได้เคยลงทุนในกองทุนมาก่อนแล้วอาจเคยชินกับคำพูดที่ว่า” การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ซึ่งแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดเป็นทางการที่สุดก็คือข้อมูลในหนังสือชี้ชวน เราจึงควรมาทำความรู้จักกับหนังสือชี้ชวนว่าจะอ่านอย่างไร ส่วนใดที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนที่ควรทราบ

หนังสือชี้ชวน คือ เอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการจะต้องจัดทำขึ้น และต้องเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนทราบ หรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน จะแจ้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับกองทุนรวมที่นักลงทุนควรทราบ เป็นข้อผูกมัดที่มีต่อผู้ลงทุนในกองทุนที่ท่านเลือกลงทุน

ในแต่ละกองทุนก็จะมีหนังสือชี้ชวนในกองทุนที่ท่านลงทุน เนื่องจากนโยบายที่แตกต่างกันเงื่อนไขที่มีก็จะมีความแตกต่างกันเราจึงไม่ควรที่จะอ่านอยู่เพียงเล่มเดียว เช่น กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในตราสารหนี้ (RMF) ก็จะมีเงื่อนไขหรือที่ต่างจากกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพที่ลงทุนในตราสารทุน (RMF) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพเหมือนกัน แต่รายละเอียดโครงการจะแตกต่างกันไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งบริษัทจัดการจัดทำขึ้นให้มี 2 ส่วน คือ 1. ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ 2. ส่วนข้อมูลโครงการ

1. ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ควรทราบ จะเป็นเอกสารอย่างย่อ จะเลือกเอาเฉพาะเรื่องที่ผู้สนใจลงทุนจะต้องทราบ ประกอบไปด้วย ประเภทกองทุน อายุโครงการ วัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุน ค่าธรรมเนียมต่างๆที่เรียกเก็บ ตามหลักเกณฑ์การลงทุนของ ก.ล.ต. กำหนดไว้ เป็นต้น นักลงทุนโดยส่วนใหญ่ก็จะเลือกที่จะอ่านส่วนนี้ก่อนเพราะเป็นการสรุปย่อของรายละเอียดของกองทุนแบบจับใจความสำคัญเท่านั้น

2. ส่วนข้อมูลโครงการ นั้นจะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการจัดตั้งกองทุนทุกอย่าง ตั้งแต่ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขติดต่อของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเภทกองทุน วัตถุประสงค์ นโยบาย การจ่ายปันผล สิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย เงื่อนไขการขาย การรับซื้อคืน การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน รวมถึงเงือนไขอื่นๆ ที่มีความซับซ้อนอยู่ และอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควรเนื่องจากมีรายละเอียดทั้งหมด และนักลงทุนโดยส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมที่จะอ่านในข้อมูลส่วนนี้ทั้งหมด แต่จะเลือกอ่านในหัวข้อที่ต้องการทราบ

หนังสือชี้ชวนสามารถขอรับได้ที่ตัวแทนขายของ บลจ. ที่แต่งตั้งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกฏที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงลูกค้าน้อยรายนักที่จะถามหาหนังสือชี้ชวน เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องอ่านหนังสือชี้ชวน นักลงทุนควรต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือชี้ชวนเป็นสิ่งสำคัญมากต่อผู้ลงทุนเพราะถือเป็นข้อผูกมัดระหว่างกองทุนกับผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนซื้อไปแล้วมาเกิดปัญหาภายหลังจะไม่สามารถอ้างในภายหลังได้เนื่องจากในใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่ท่านเซ็นต์คำสั่งไปนั้นเป็นการลงลายมือชื่อ จะมีข้อความแสดงว่าท่านได้ศึกษาข้อมูลกองทุนในหนังสือชี้ชวน และยอมรับในการปฏิบัติตามเงื่อนไข และข้อความต่าง ๆ ที่กำหนดไว้นั้นแล้ว ท่านอาจจะต้องจำยอมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบกันบ่อยมากจากการละเลย

ดังนั้น การลงทุนในกองทุนโดยไม่ได้อ่านหนังสือชี้ชวนเลย จึงเป็นเหมือนการเข้าไปผูกมัดในสัญญาโดยไม่ได้อ่านเนื้อความที่มีในสัญญา เข้ามาดูรายละเอียดต่าง ๆ กันดีกว่าครับว่าข้อควาสำคัญในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ว่ามีอะไรบ้าง

การขาย และการรับซื้อคืนกองทุน ในกองทุนบางกองทุนจะมีค่าธรรมเนียมในการซื้อ และการรับซื้อคืนแล้วแต่เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน เพราะในบางกองทุนจะมีค่าธรรมเนียมการซื้อกองทุน เช่นกองทุนหุ้นระยะยาวก็จะมีเงื่อนไขตามที่ สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าจะมีการรับซื้อคืนได้ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงที่กำหนดเพราะหากเลยช่วงเวลาดังที่กำหนดไว้ก็จะไม่อยู่ในช่วงที่กองทุนรับซื้อคืนได้ต้องรอในช่วงเวลาที่กำหนด การสับเปลี่ยนกองทุนหน่วยลงทุน ว่ามีเงื่อนไขการสับเปลี่ยนอย่างไร สามารถสับเปลี่ยนได้หรือไม่

คำเตือน ก็จะเคยชินในคำเตือนในหนังสือชี้ชวนแต่อาจมองข้ามไปในคำพูดที่กล่าวว่า “การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน.. (ชื่อกองทุน).. เมื่อเห็นว่าการลงทุนในกองทุนเปิดนี้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้ลงทุน และผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้” ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า การลงทุนไม่เหมือนกับการฝากเงินในธนาคาร ซึ่งมีอัตราผลดอกเบี้ยที่แน่นอน เนื่องจากผลตอบแทน และความเสี่ยงของกองทุนนั้นจะเป็นไปตามนโยบาย และประเภทของตราสารที่แต่ละกองทุนนำไปลงทุน และคำเตื่อนในหนังสื่อชี้อชวนก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอาจแนบเพิ่มไปอีก

การลงทุนในกองทุนต่างๆ ก็จะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขในการจัดตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน ก็จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องเข้าใจในนโยบาย เงื่อนไขสัญญา ข้อผูกมัด ข้อปฏิบัติต่างที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเนื่องจากหนังสือชี้ชวนเสมือนเป็นสัญญาที่นักลงทุนควรทราบถึงรายละเอียดกองที่จะตัดสินใจในการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น