xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวง Money Tips : กองทุนพันธบัตรไทยและพันธบัตรต่างประเทศ ความเหมือนหรือความต่าง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้องเกียรติ จันทร์สุริยา บลจ.บัวหลวง

นักลงทุนหลายๆ ท่านคงเคยนึกอยากที่จะลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ในต่างประเทศดูบ้าง เพราะนั่นหมายถึงการช่วยกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุนและยังมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศ ในเวลานี้มักจะมีกองทุนรวมตัวใหม่ๆ ที่เรามักจะเรียกกันว่า กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล

กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศ หรือ สถาบันการเงินต่างประเทศ กำลังเป็นที่สนใจของผู้มีเงินเก็บที่ต้องการแสวงหาช่องทางการลงทุนอื่นที่จะได้รับดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยตรง โดยสามารถยอมรับความเสี่ยงหลักได้เช่นเดิม คือ เงินต้นหรือเงินลงทุนจะต้องไม่สูญหาย โดยที่ท่านนักลงทุนอาจเคยได้ยินมาว่ากองทุนรวมดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ และให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วย


ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ประเทศต่างๆ นั้น จะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น อังกฤษจะมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 4.0% ต่อปี ออสเตรเลียอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 7.5% ต่อปี และ เกาหลีใต้อัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 5.5% ต่อปี เป็นต้น ทว่าเนื่องจากกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศเป็นการระดมเงินในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนเพิ่ม ที่ทำให้นักลงทุนกังวลใจ เพราะความผันผวนของค่าเงินจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ลงทุนและมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรืออาจกล่าวง่ายๆว่าถ้าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทสูงขึ้น (เงินบาทอ่อนค่าลง) นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทสูงขึ้นนอกเหนือจากผลตอบแทนที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์เป็นสกุลเงินต่างประเทศ หรือถ้าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทลดลง (เงินบาทแข็งค่าขึ้น) นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินบาทลดลงจากผลตอบแทนที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จนอาจจะทำให้ขาดทุนจากการไปลงทุนในต่างประเทศก็เป็นได้ ยิ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูงขึ้น อาจจะด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Market) มากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบนี้ ดังจะเห็นว่าค่าเงินบาทไทยได้แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นเพื่อแก้ไขความเสี่ยงส่วนนี้ กองทุนรวมจึงมักจะจัดให้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ ได้แก่ การทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ซื้อ forward) โดยการใช้สัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า (Hedging with Forwards) เป็นวิธีที่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมกองหนึ่งมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์สกุล USD แต่ในขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยนั้นแข็งค่ามากและไม่แน่ใจกับความผันผวนของค่าเงินในอนาคต แทนที่ผู้จัดการกองทุนจะรอถึงสิ้นปีการลงทุนเพื่อแลกเปลี่ยนค่าเงินจากดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยน (Spot rate) ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ผู้จัดการกองทุนก็อาจจะขายสัญญา Forward ด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนหนึ่ง ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward rate) ที่ทราบในปัจจุบัน สมมติที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อถึงสิ้นปีการลงทุนก็จ่ายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯไปให้ผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อก็จะจ่ายเงินบาทกลับมาให้กองทุนด้วย Forward rate ที่ได้ตกลงกันไว้ สมมติว่าเมื่อสิ้นระยะเวลาหนึ่งปีของการลงทุน ค่าเงินบาทเท่ากับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนจะเห็นว่าการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (Currency Hedge Tools) นั้นสามารถช่วยลดและป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีทีเดียว เนื่องจากกองทุนได้ซื้อสัญญา Forward Contract ไว้แล้วที่ 33.00 บาท

การป้องกันความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไว้เพื่อให้อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับสุทธิคงที่ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในจำนวนที่ทำให้ผลตอบแทนสุทธินั้นจะแทบไม่มีความแตกต่างกันระหว่างในแต่ละประเทศเลย หากเปรียบเทียบในระดับความเสี่ยงของตราสารที่ใกล้เคียงกัน แต่ในทางปฏิบัตินั้นพบว่าอาจจะมีความแตกต่างกันได้บ้างบางขณะ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ที่ทำให้อัตราผลตอบแทนสุทธิแตกต่างจากในประเทศไทยระหว่าง 1.0%-2.0% ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน (เทียบกับอายุพันธบัตรรัฐบาล อายุ 1 ปี โดยที่พันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่3.9% ต่อปี)

ถึงแม้ว่าทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะมีวิธีช่วยในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วก็ตาม ท่านนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล หรือ สถาบันการเงินต่างประเทศ ก็ควรที่จะต้องศึกษาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ยังควรศึกษาให้เข้าใจสภาวะเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะนำไปลงทุน ตลอดจนศึกษานโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนว่าเป็นอย่างไรและจะลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดท่านนักลงทุนเองก็ควรสำรวจตัวท่านเองด้วยว่าท่านสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนพันธบัตรต่างประเทศ ได้มากหรือน้อยเพียงใด!!
กำลังโหลดความคิดเห็น